ลิ้งค์เชื่อมต่อ

อนาคต Brexit ยังคงเต็มไปด้วยอุปสรรค แม้นายกฯ อังกฤษรอดการลงมติไม่ไว้วางใจ


FILE - British Prime Minister Theresa May speaks with the media.
FILE - British Prime Minister Theresa May speaks with the media.
please wait

No media source currently available

0:00 0:04:03 0:00

แม้ว่านายกรัฐมนตรี เธเรซา เมย์จะสามารถรอดพ้นการลงมติไม่ไว้วางใจภายในพรรคอนุรักษ์นิยมของเธอ เมื่อวานนี้ แต่อนาคตทางการเมืองของเธอต่อจากนี้ยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่มาก

และที่สำคัญ แผนการนำอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป หรือ Brexit ก็น่าจะต้องผ่านอุปสรรคต่างๆ ด้วยเช่นกัน

หลังรอดพ้นอุปสรรคทางการเมืองครั้งนี้ เธเรซา เมย์ ยืนยันว่าเธอจะเดินหน้างานด้าน Brexit ต่อไป

ในวันพฤหัสบดี เธเรซา เมย์เดินทางไปกรุงบรัสเซลส์ เพื่อเจรจาเงื่อนไขการออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป

ขณะเดียวกัน ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับนายกฯ เมย์ทั้งฝั่งที่ต่อต้านการเป็นสมาชิกอียูและฝั่งนิยมอียู แสดงจุดยืนที่คล้ายกัน ว่าการที่เธอรอดพ้นการลงมติไม่ไว้วางใจภายในพรรคไม่ได้ช่วยให้แผน Brexit ของเธอมีอนาคตที่สดใสขึ้นแต่อย่างใด

ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะผู้ที่ต่อต้านการเป็นสมาชิกอียูต้องการเห็นงื่อนไขที่ช่วยอังกฤษตัดขาดจากสหภาพยุโรปอย่างชัดเจน

ส่วนผู้ที่อยากให้อังกฤษยังคงเป็นสมาชิกอียู มีความไม่พอใจ Brexit อยู่แล้วตั้งแต่เเรก

หากพิจารณา ผลโหวตไว้วางใจเธอ 200 เสียงต่อ 117 เสียงที่ต้องการถอนเธอออกจากการเป็นผู้นำพรรค เธเรซา เมย์ มีผู้ต่อต้านในพรรคเธอเอง กว่าหนึ่งในสาม

และพรรค Democratic Unionist Party ของไอร์แลนด์เหนือ ที่ร่วมรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีเมย์ ได้ส่งสัญญาณเตือน ที่คล้ายกับคนในพรรคอนุรักษ์นิยมของเธอที่คัดค้านแผน Brexit

พรรค DUP ต่อต้านแผน Brexit ใดๆที่ จะทำให้ ไอร์แลนด์เหนือถูกปฏิบัติแตกต่างไปจากเขตอธิปไตยอื่นๆของอังกฤษ เพราะเกรงว่าจะทำให้สายใยระหว่างเขตไอร์เเลนด์เหนือและรัฐบาลกรุงลอนดอนอ่อนเเอลง

นายกรัฐมนตรีเมย์ ได้พยายามที่จะจูงใจให้ ผู้นำพรรค DUP อาร์ลีน ฟอสเตอร์ เลิกการต่อต้านแผน Brexit

อย่างไรก็ตาม อาร์ลีน ฟอสเตอร์ กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงในเรื่องย่อยๆ ในแผน Brexit คงไม่เพียงพอ เพราะเธอต้องการเห็นการแก้ไขที่รากฐานของแนวทางการออกจากอียู

ทั้งนี้แผน Brexit ปัจจุบันพยายามประสานความต้องการของผู้ที่ต้องการให้อังกฤษอยู่ต่อกับสหภาพยุโรปและผู้อยากเห็นการตัดขาดอย่างสิ้นเชิงจากอียู แต่ผลก็คือ อังกฤษจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขศุลกากรร่วมกับสหภาพยุโรปไปก่อน จนกว่าการเจรจา Brexit จะนำไปสู่การออกจากอียูอย่างถาวร

ประเด็นสำคัญคือภายใต้ร่าง Brexit ปัจจุบันยังไม่เกิดความชัดเจนเรื่องการค้าเสรีระหว่างอังกฤษและสหภาพยุโรป และภายใต้สภาพดังกล่าว อังกฤษจะไม่สามารถมีบทบาทต่อการออกกฎหมายของอียู และกำหนดมาตรฐานสินค้า ซึ่งมีผลผูกพันกับอังกฤษ นอกจากนั้นจะไม่สามารถมีความตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศนอกสหภาพยุโรปด้วย

ในวันจันทร์ นายกรัฐมนตรีเมย์ เลื่อนการลงมติของสภาผู้แทนราษฎร หรือ House of Commons เพราะเธอทราบดีว่า ส.ส. อังกฤษจะลงมติไม่รับร่างแผน Brexit ปัจจุบัน หากแนวทาง Brexit ไม่ผ่านการลงมติ นั่นอาจหมายถึงการหลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และอาจนำไปสู่การหมดอำนาจของพรรคอนุรักษ์นิยมในการบริหารประเทศ รวมถึงการยุบสภา

(รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียงจากรายงานของ Jamie Dettmer)

XS
SM
MD
LG