ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิจัยพัฒนาการทดลองตรวจเลือดหา ‘อัลไซเมอร์’ ไปได้อีกขั้น


Alzheimer Patient
Alzheimer Patient

ในอนาคตแพทย์อาจวินิจฉัยหาโรคอัลไซเมอร์ได้ง่ายขึ้น โดยสำนักข่าวเอพีรายงานว่า ผลการศึกษาชิ้นใหม่หลายฉบับที่นำเสนอในที่ประชุมสมาคมอัลไซเมอร์นานาชาติเมื่อวันอังคารระบุว่า การตรวจเลือดอาจช่วยแยกผู้ป่วยอัลไซเมอร์ออกจากผู้ที่ไม่ได้ป่วยได้

แม้บริษัทต่างๆ จะพัฒนาการตรวจเลือดเพื่อหาโปรตีนที่ทำลายสมองของผู้ป่วยอัลไซเมอร์มาอย่างต่อเนื่อง แต่ที่ผ่านมาก็ยังมีข้อกังขาถึงความถูกต้องของวิธีดังกล่าว อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นใหม่ระบุว่า ขณะนี้การตรวจเลือดสามารถระบุผลได้แม่นยำถึง 89-98 เปอร์เซนต์แล้ว

ผลการศึกษาดังกล่าวมีทั้งการศึกษาโดย ดร. ออสการ์ แฮนสัน จากมหาวิทยาลัยลุนด์ในสวีเดน ในกลุ่มทดลองกว่า 1,400 คนในประเทศสวีเดน รัฐแอริโซนาในสหรัฐฯ และประเทศโคลอมเบีย โดยมีทั้งผู้ที่ไม่ได้ป่วย ผู้ที่มีอาการไม่มาก ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์และผู้ป่วยโรคประสาทอื่นๆ

ผลการตรวจเลือดพบว่า ผู้ป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ทั้งที่มีอาการชัดเจนและไม่รุนแรง มีโปรตีนชื่อ p-tau217 ซึ่งเป็นโปรตีนที่ทำลายสมองของผู้ป่วยในเลือดมากกว่าผู้ที่ไม่ได้ป่วย ซึ่งการตรวจหาโปรตีน p-tau217 นี่เองที่ทำให้ผลการตรวจแม่นยำขึ้นกว่าการทดลองตรวจเลือดก่อนหน้านี้ ที่ตรวจหาโปรตีนอีกตัวชื่อ amyloid ที่ผิดปกติ

การวิจัยของดร. แฮนสันในรัฐแอริโซนา ยังศึกษาตัวอย่าง 81 คนที่บริจาคสมองให้หลังพวกเขาเสียชีวิต โดยผลการตรวจเลือดของพวกเขาในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่มีผลออกมาใกล้เคียงกับผลการตรวจสมอง นอกจากนี้ การวิจัยในโคลอมเบียยังพบว่า ผู้ที่มีแนวโน้มเป็นอัลไซเมอร์ได้ตั้งแต่อายุยังน้อย จะเริ่มมีระดับ p-tau217 ในเลือดสูงขึ้นถึง 20 ปีก่อนที่จะแสดงอาการ

นอกจากนี้ นักวิจัยอีกกลุ่มจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก ยังพบด้วยว่า p-tau217 ช่วยแยกผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ออกจากผู้ป่วยโรคสมองส่วนหน้าเสื่อมได้ โดยผลการตรวจเลือดมีความแม่นยำถึง 96 เปอร์เซนต์ในกลุ่มทดลอง 617 คน เช่นเดียวกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตันในเมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี ที่พบว่าโปรตีน p-tau217 สามารถบ่งชี้ได้ว่าผู้ป่วยมีคราบโปรตีนในสมอง ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกโรคอัลไซเมอร์

อย่างไรก็ตาม ดร. อีไลเซอร์ มาสเลียห์ หัวหน้าแผนกประสาทวิทยาของ National Institute on Aging ของสหรัฐฯ เห็นว่า แม้ผลการตรวจเลือดจะดูแม่นยำขึ้น แต่ก็ยังคงต้องมีการตรวจความถูกต้องเพิ่มเติม เช่น จะต้องตรวจในกลุ่มทดลองที่ใหญ่และหลากหลายมากขึ้น

การตรวจหาโรคอัลไซเมอร์ในปัจจุบันมีทั้งการทดสอบทักษะการคิดและความจำ ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่แม่นยำนัก และการตรวจน้ำไขสันหลังและการสแกนสมองซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้น หากแพทย์ประจำบ้านสามารถตรวจหาโรคอัลไซเมอร์จากการตรวจเลือดได้ จะทำให้การตรวจหาโรคดังกล่าวง่ายขึ้นมาก โดยนักวิจัยหวังว่าหากผลการทดลองนี้ได้รับการยืนยันคงจะสามารถพัฒนาการตรวจเลือดให้ใช้ได้จริงภายในสองปี

XS
SM
MD
LG