ลิ้งค์เชื่อมต่อ

‘ไบเดน’ เปิดประชุมสุดยอด Climate Summit ปรับเป้าลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก 50% ในปี 2030


Biden Climate Virtual Diplomacy
Biden Climate Virtual Diplomacy
Climate Summit
please wait

No media source currently available

0:00 0:05:15 0:00


เวทีประชุมสุดยอดด้านการแก้ปัญหาภาวะอากาศเปลี่ยนเเปลงผิดธรรมชาติ หรือ Climate Summit ในวันพฤหัสบดี ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวในวาระเปิดประชุมกับผู้นำโลก จาก 40 ประเทศผ่านระบบออนไลน์ว่า สหรัฐฯจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ถึง 50-52% ภายในปี ค.ศ. 2030 หรืออีก 9 ปีข้างหน้า

ประธานาธิบดีไบเดน กล่าวว่า นี่คือทศวรรษสำคัญที่เราทุกประเทศต้องตัดสินใจเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบเลวร้ายจากวิกฤตภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงผิดธรรมชาตินี้ พร้อมเรียกร้องให้นานาประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่มีมาตรการที่เข้มข้นขึ้นในการแก้ปัญหานี้

เป้าหมายของสหรัฐฯ สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลไบเดน ที่เน้นการผลักดันการใช้พลังงานไฟฟ้า สนับสนุนการใช้ยานยนต์ที่ประหยัดพลังงาน และสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมที่ลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลแบบดั้งเดิม

ผู้นำโลกส่งสัญญาณสับสนเรื่องการแก้ปัญหาโลกร้อน

นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด แห่งแคนาดา ปรับเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงราว 40-45% ในปีค.ศ. 2030 ส่วนนายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซูกะ แห่งญี่ปุ่น กล่าวบนเวทีนี้ด้วยว่า นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายในการแก้ปัญหา แต่ญี่ปุ่นได้ปรับเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ราว 46%

ขณะที่บรรดานักสิ่งแวดล้อมและผู้จัดเวทีประชุมสุดยอด Climate Summit แสดงความผิดหวังกับประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกสองอันดับแรก อย่างจีนและอินเดีย ที่ไม่มีการประกาศนโยบายใหม่ในการแก้ปัญหาโลกร้อนออกมาในเวทีประชุมสุดยอดครั้งนี้

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน กล่าวในเวที Climate Summit ในวันพฤหัสบดีว่า จีนมีการควบคุมการใช้พลังงานถ่านหินที่เข้มงวด ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า และเตรียม “ลดระดับ” การใช้พลังงานฟอสซิล ในช่วงปี ค.ศ. 2026-2030

ด้านนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดิ แห่งอินเดีย ได้ประกาศความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการผลักดันพลังงานสะอาด ช่วงปี ค.ศ. 2030 ซึ่งเป็นนโยบายที่จะช่วยกระตุ้นภาคการลงทุน การพัฒนาเทคโนโลยี และความร่วมมือด้านพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม

ฝั่งนายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวย้ำในเวทีประชุมนี้ด้วยว่า ผู้นำทั่วโลกต้องร่วมมือและลงมือแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจัง และทำให้แน่ใจว่ามาตรการต่างๆที่มีขึ้นนั้นไปในทิศทางที่ถูกต้อง

กลุ่มประเทศในยุโรป มีแผนปรับลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ตามอาคารสิ่งก่อสร้างและภาคการขนส่งคมนาคม โดยนางเออร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป ย้ำในเวทีประชุมสุดยอดด้วยว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนควรมีต้นทุน เพราะธรรมชาติไม่อาจเป็นฝ่ายรับผลกระทบที่เกิดขึ้นนี้ได้อีกแล้ว

เวทีประชุมสุดยอดด้านการแก้ปัญหาภาวะอากาศเปลี่ยนเเปลงผิดธรรมชาติ ในระยะเวลา 2 วัน ที่เริ่มต้นในวันพฤหัสบดีนี้ เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของประธานาธิบดีไบเดน ในการฟื้นฟูบทบาทของสหรัฐฯ ในประเด็นการแก้ปัญหาโลกร้อน และเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าสหรัฐฯ ได้เปลี่ยนจุดยืนจากนโยบายเดิมของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่นำอเมริกาออกจากข้อตกลงปารีสไปเมื่อปี ค.ศ. 2017

นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน แห่งอังกฤษ ใช้เวที Climate Summit ในวันพฤหัสบดี ยกย่องเจตนารมณ์ของปธน.ไบเดนว่าเป็น “จุดเปลี่ยนเกม” และว่านี่จะเป็นผลกระทบที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศผิดธรรมชาติ

ด้านนายกรัฐมนตรีแองเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนี แสดงความยินดีที่สหรัฐฯ กลับมาให้ความร่วมมือด้านนโยบายการแก้ปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงผิดธรรมชาติกับนานาประเทศอีกครั้ง

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย กล่าวบนเวทีประชุมสุดยอด Climate Summit ว่า รัสเซียเตรียมเสนอมาตรการและเงื่อนไขที่เอื้อต่อบริษัทต่างชาติ ที่สนใจเข้าลงทุนในโครงการด้านพลังงานสะอาดในรัสเซีย

ส่วนประธานาธิบดีจาอีร์ โบลโซนาโร แห่งบราซิล ได้เรียกร้องให้สหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจกับบราซิลมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์ เพื่อแลกกับการลดการตัดไม้ทำลายผืนป่าอเมซอนลง 40% และกล่าวบนเวทีประชุมสุดยอดนี้ด้วยว่าบราซิลจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ (climate neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050

ประเทศเล็กๆ กับเสียงที่ยิ่งใหญ่

ในบรรดา 40 ประเทศที่ได้รับเชิญจากสหรัฐฯ ไม่มีประเทศไทย แต่มีตัวเเทนจากเอเชียหลายประเทศอย่างเช่น จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เวียดนาม อินโดนีเซีย ภูฏาน และสิงคโปร์ ขณะที่ประเทศจากทวีปอื่น ประกอบด้วย เเคนาดา เดนมาร์ก รัสเซีย ฝรั่งเศส บราซิล เคนยา กาบอง และซาอุดิอาระเบีย เป็นต้น

นายกรัฐมนตรีของภูฏาน ชูประเด็นน่าสนใจบทเวทีนี้ ด้วยการเตรียมปรับเป้าหมายแก้ปัญหาโลกร้อนเชิงรุกมากขึ้น จากที่ภูฏานไม่ได้เป็นเพียงประเทศที่ประสบความสำเร็จในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์เท่านั้น แต่ยังเป็นประเทศที่มีระดับการปล่อยคาร์บอนเป็นลบ (carbon negative) จากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำของประเทศ

ขณะที่ กลุ่มประเทศขนาดเล็ก ได้มีบทบาทในการประชุมสุดยอดวันแรกเพียงหยิบมือ และเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงต่อผลกระทบจากภาวะโลกร้อน อย่างเช่น แอนติกาและบาร์บูดา (Antigua and Barbuda) ในแถบแคริบเบียน และกาบอง ในแอฟริกา

การต่อสู้ที่เพิ่งเริ่มต้น

ภายใต้สนธิสัญญากรุงปารีสว่าด้วยการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก เมื่อปี ค.ศ. 2015 ผู้นำโลกที่ 195 ประเทศ เห็นพ้องต้องกันในการควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้ไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส

ขณะที่ปัจจุบัน อุณหภูมิโลกปรับเพิ่มขึ้นมากกว่า 1.1 องศาเซลเซียส นับตั้งแต่ช่วงคริสตทศวรรษที่ 1980 ซึ่งบรรดานักวิทยาศาสตร์มองว่า ภาวะอากาศโลกที่ร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีความเชื่อมโยงกับสภาพอากาศที่แปรปรวนทั่วโลก ทั้งคลื่นความร้อน ภัยแล้ง ไฟป่า พายุรุนแรง และผลกระทบอื่นๆที่ตามมา

XS
SM
MD
LG