ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ทางการบังคลาเทศต้องการปรับกฏหมายเพื่ออนุญาตให้เด็กหญิงแต่งงานได้เมื่ออายุ 16 ปี


Child Marriage
Child Marriage

ผู้คัดค้านประนามข้อเสนอของบังคลาเทศที่อนุญาตให้เด็กหญิงแต่งงานเมื่ออายุ 16 ปี

Human Rights Watch ระบุว่าข้อเสนอของทางการบังคลาเทศในการลดระดับอายุที่สามารถแต่งงานได้ของเด็กหญิงจาก 18 ปีเป็น 16 ปี จะส่งผลเสียรุนแรงต่อความก้าวหน้าของประเทศด้านสุขภาพและการศึกษา

ตามกฏหมาย เด็กหญิงจะแต่งงานได้ก็ต่อเมื่ออายุครบ 18 ปี แต่ภายใต้ข้อเสนอของรัฐบาลที่ระบุว่าเด็กหญิงสามารถแต่งงานได้เมื่ออายุ 16 ปีหากมีเหตุผลบางประการ อาทิ พ่อแม่อนุญาตหรือตั้งครรภ์โดยไม่ได้วางแผน

บรรดานักเรียกร้องสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมด้านสิทธิ์แขนงอื่นๆ แสดงความประหลาดใจต่อข้อเสนอของรัฐบาลบังคลาเทศนี้ ซึ่งประกาศออกมา ทั้งๆ ที่ นายกรัฐมนตรีบังคลาเทศ Sheikh Hasina ได้ให้คำสัญญาเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้วในงานประชุม Girl Summit ในกรุงลอนดอนว่าจะต่อต้านการแต่งงานเด็กในบังคลาเทศก็ตาม

ข้อเสนอของรัฐบาลบังคลาเทศนี้ ยังเสนอลดระดับอายุของผู้ชายบังคลาเทศให้แต่งงานได้ตามกฏหมาย เมื่ออายุครบ 18 ปี จาก 21 ปีอีกด้วย

คุณ Heather Barr เจ้าหน้าที่วิจัยอาวุโสแห่ง Human Rights Watch กล่าวถึงเรื่องนี้ว่าน่าตกใจมากที่บังคลาเทศต้องการถอยหลังเข้าคลองและต้องการปฏิบัติตัวในทางตรงกันข้ามกับมาตรฐาน และกฏหมายระดับสากล ข้อเสนอทางกฏหมายนี้จะมีผลเสียร้ายแรงและโดยตรงต่อเด็กผู้หญิงเพราะเป็นการส่งสารที่ผิดๆ แก่พ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กหญิงทุกคนในประเทศว่าการแต่งงานเด็กเป็นเรื่องถูกต้อง

ทางด้านองค์การ UNICEF ชี้ว่าราว 29 เปอร์เซ็นต์ของเด็กหญิงในบังคลาเทศ แต่งงานก่อนอายุ 15 ปี ชาติเอเชียใต้แห่งนี้มีอัตราการแต่งงานเด็กสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ของโลก โดยแต่งงานก่อนอายุ 18 ปี ตามหลังสามประเทส อย่างไนเจอร์ สาธารณรัฐแอฟริกากลางและประเทศช้าด

คุณ Barr เจ้าหน้าที่วิจัยอาวุโสแห่ง Human Rights Watchกล่าวว่าข้อเสนอลดระดับอายุแต่งงานของทางการบังคลาเทศส่งผลเสียมากกว่าภาพลักษณ์ของประเทศ เธอกล่าวว่า การแต่งงานเด็กส่งผลเสียต่อความก้าวหน้าของประเทศในระยะยาวทั้งทางด้านการรู้หนังสือ การเสียชีวิตของแม่และเด็ก เด็กหญิงต้องลาออกจากโรงเรียน

บรรดาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ชี้ว่าเด็กหญิงอายุระหว่าง 10 ถึง 14 ปี เสี่ยงต่อการเสียชีวิตถึง 5 เท่าตัวจากการคลอดบุตรกว่าหญิงที่อายุระหว่าง 20-24 ปี

อย่างไรก็ตาม รายงานที่ตีพิมพ์เมื่อปีนี้ในวารสาร Asian Population Studies พบว่า ในบรรดาหญิง 1,766 คนในเขตที่เรียกว่า Matlab ทางตอนกลางค่อนไปทางใต้ของบังคลาเทศ ราว 56 เปอร์เซ็นต์ แจ้งอายุตนเองต่ำกว่าที่เป็นจริงตอนแต่งงาน ราว 2 ปี

การศึกษานี้ชี้ว่าในบรรดากลุ่มผู้หญิงที่แต่งงานเมื่ออายุ 20-24 ปี ได้อ้างว่าตนเองอายุเฉลี่ย 16 ปี 8 เดือน อย่างไรก็ตามเมื่อมีการตรวจเช็ควันเดือนปีเกิดจริงๆ กลับพบว่าผุ้หญิงเหล่านี้แต่งงานเมื่ออายุราว 18 ปี 6 เดือนโดยเฉลี่ย

รายงานชิ้นนี้ชี้ว่าเงินสินสอดน่าจะเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้มีการรายงานอายุตอนแต่งงานไม่ตรงตามที่เป็นความจริง เนื่องจากครอบครัวฝ่ายหญิงต้องเสียค่าสินสอดมากกว่าหากลูกสาวแต่งงานเมื่ออายุมากขึ้น

Dr. Peter Kim Streatfield หัวหน้าการศึกษานี้และนักวิทยาศาสตร์แห่งสถาบันวิจัยนานาชาติหรือ icddr บังคลาเทศ กล่าวว่า แม้ว่าจะรายงานอายุแต่งงานที่ต่ำกว่าที่เป็นจริง ผู้หญิงเหล่านี้ยังแต่งงานตั้งแต่อายุน้อยเกินไปอยู่ดี เหตุผลหนึ่งมาจากเด็กหญิงมีความเสี่ยงหลายอย่าง จึงจำเป็นมากที่ทางการบังคลาเทศควรส่งเสริมให้เด็กหญิงอยู่ในระบบการศึกษาให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อเพิ่มโอกาสสร้างความมั่นคงในชีวิตในอนาคต

เกี่ยวข้อง

XS
SM
MD
LG