ลิ้งค์เชื่อมต่อ

‘ซู จี’ ถูกตัดสินจำคุกรอบสุดท้ายเพิ่มอีกเจ็ดปี


FILE - Then Myanmar's leader Aung San Suu Kyi waits to address judges of the International Court of Justice in The Hague, Netherlands, Dec. 11, 2019.
FILE - Then Myanmar's leader Aung San Suu Kyi waits to address judges of the International Court of Justice in The Hague, Netherlands, Dec. 11, 2019.

เมื่อวันศุกร์ ออง ซาน ซู จี อดีตผู้นำเมียนมาที่ถูกโค่นอำนาจ ถูกตัดสินจำคุกเพิ่มอีกเจ็ดปีจากความผิดฐานทุจริตอีกห้าข้อหา ตามข้อมูลของแหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยนามกล่าวกับรอยเตอร์

การตัดสินดังกล่าวเป็นจุดสิ้นสุดของการไต่สวนคดีอันยาวนานต่อนางซู จี ซึ่งเป็นการไต่สวนที่ถูกนานาชาติประณามว่าเป็น ”การไต่สวนลวงโลก”

แหล่งข่าวรายนี้ระบุว่า การไต่สวนครั้งนี้เป็นการไต่สวนแบบปิดโดยรัฐบาลทหารเมียนมาต่อ ซู จี วัย 77 ปี ที่ถูกจับกุมในช่วงรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว เธอถูกตัดสินว่ามีความผิดเกี่ยวกับสัญญาเช่าและการใช้เฮลิคอปเตอร์ในช่วงที่เธอยังเป็นผู้นำรัฐบาลพลเรือน

การตัดสินครั้งนี้ทำให้ ซู จี เผชิญโทษจำคุกเพิ่มอีก 26 ปี โดยก่อนหน้านี้เธอเผชิญข้อหาปลุกปั่น ละเมิดกฎควบคุมการระบาดของโควิด ครอบครองอุปกรณ์วิทยุสื่อสารอย่างผิดกฎหมาย ละเมิดกฎหมายความลับของรัฐ การทุจริต ไปจนถึงการใช้อิทธิพลกับเจ้าหน้าที่เลือกตั้ง ขณะที่ซู จี ตอบโต้ว่า ข้อกล่าวหาดังกล่าว “เป็นเรื่องตลก”

แหล่งข่าวผู้นี้กล่าวต่อว่า เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพรายนี้ “มีสุขภาพดี” ทั้งนี้ เธอใช้เวลาบนเส้นทางการเมืองในเมียนมาส่วนใหญ่ไปกับการถูกจองจำโดยรัฐบาลทหารชุดต่าง ๆ

ซู จี ขึ้นเป็นผู้นำเมียนมาเมื่อปี 2015 เป็นเวลานานห้าปี ในช่วงที่เมียนมาเพิ่งเป็นประชาธิปไตยใหม่หลังรัฐบาลทหารเมียนมายุติการปกครองนาน 49 ปี แต่เมื่อปีที่แล้ว กองทัพเมียนมาทำรัฐประหารโค่นอำนาจรัฐบาลของซู จี ไม่ให้ปกครองประเทศต่อเป็นสมัยที่สอง โดยกล่าวหาว่ารัฐบาลของเธอเพิกเฉยต่อความผิดปกติในการเลือกตั้งที่เธอชนะ

ชาติตะวันตกและพันธมิตรของ ออง ซาน ซู จี กล่าวว่า การไต่สวนนี้มีขึ้นเพื่อให้รัฐบาลทหารเมียนมาสามารถควบคุมตัวเธอ ที่เป็นภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดท่ามกลางกระแสต่อต้านอย่างหนักจากภายในประเทศ

A protester wears a T-shirt depicting detained Myanmar civilian leader Aung San Suu Kyi during a demonstration outside the Embassy of Myanmar in Bangkok on Dec. 19, 2022
A protester wears a T-shirt depicting detained Myanmar civilian leader Aung San Suu Kyi during a demonstration outside the Embassy of Myanmar in Bangkok on Dec. 19, 2022

ทางด้านโฆษกกองทัพเมียนมายังไม่มีความเห็นต่อการตัดสินคดีต่อ ซู จี ในครั้งนี้ โดยกองทัพเมียนมายืนยันมาโดยตลอดว่า การไต่สวนเป็นไปตามกฎหมาย และเธอได้เข้าสู่กระบวนการอันชอบธรรมทางกฎหมายโดยศาลที่เป็นอิสระ

อย่างไรก็ตาม กลุ่มสิทธิมนุษยชนประณามผลการตัดสินต่อออง ซาน ซู จี ในวันศุกร์ และกล่าวว่า การตัดสินนี้ทำให้นานาชาติต้องเพิ่มมาตรการลงโทษต่อกองทัพเมียนมา หลังจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติออกมติเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวเธอ

เม็ก เดอ รอนเด ผู้อำนวยการภูมิภาคของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า คดีต่อ ซู จี มีแรงจูงใจทางการเมือง ไม่ยุติธรรม และขาดความโปร่งใสโดยสิ้นเชิง เช่นเดียวกับข้อกล่าวหาที่นักโทษหลายพันคนเผชิญในเมียนมา

ทางด้านฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการด้านเอเชียขององค์กรฮิวแมน ไรท์ วอทช์ เห็นว่า กองทัพเมียนมาตัดสินคดีดังกล่าวในช่วงปีใหม่เพื่อเลี่ยงความสนใจจากนานาประเทศในช่วงปีใหม่ การตัดสินครั้งนี้ยังเหมือนเป็นการตัดสินจำคุกตลอดชีวิตต่อ ซู จี ที่มีอายุมากแล้ว

แมทธิว สมิธ ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอขององค์กรฟอร์ติฟาย ไรท์ กล่าวว่า การตัดสินครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อกันซู จี ออกจากเวทีการเมือง และเพื่อให้กองทัพเมียนมาจัดการเลือกตั้งตามแบบของตัวเองได้

ทั้งนี้ ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า ออง ซาน ซู จี จะถูกจำคุกที่ใดหลังการไต่สวนสิ้นสุดลงแล้ว

จอ ซอ โฆษกของรัฐบาลเงาเมียนมา ที่เป็นพันธมิตรกับกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา กล่าวว่า “ศาลเตี้ย” นี้ตัดสินโดยไม่มีหลักฐานและอิงอยู่กับ “คำโกหก”

  • ที่มา: รอยเตอร์
XS
SM
MD
LG