ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ทำไมการระบาดของโควิด-19 ทั่วเอเชียในปีนี้ถึงรุนแรงกว่าปีที่แล้ว


Coronavirus disease (COVID-19) vaccination as cases surge in Sidoarjo
Coronavirus disease (COVID-19) vaccination as cases surge in Sidoarjo
Why Covid-19 Is Rising Around Asia
please wait

No media source currently available

0:00 0:05:20 0:00


สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทั่วเอเชียในเวลานี้มีความรุนแรงกว่าสถิติที่รายงานออกมาในปีที่แล้วอย่างมาก ขณะที่รัฐบาลหลายแห่งยังคงประสบปัญหาไม่สามารถควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อโคโรนาไวรัสได้

ในเวลานี้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในหลายประเทศทั่วเอเชียยังคงพุ่งสูงทำสถิติใหม่รายวันอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ การเดินหน้าแจกจ่ายวัคซีนให้กับประชาชนยังคงล่าช้ากว่าที่หวังไว้มาก และรัฐบาลหลายแห่งเริ่มหมดหวังว่า การดำเนินมาตรการปิดพรมแดนทั้งหลายจะช่วยป้องกันไม่ให้ไวรัสนั้นผ่านเข้ามาในประเทศของตนได้สำเร็จ

สถานการณ์การระบาดทั่วไปในเอเชียนั้นมีความน่ากังวลมากขึ้นกว่าปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตาที่ถูกพบเป็นครั้งแรกในประเทศอินเดีย และถูกนำพาข้ามพรมแดนไปยังประเทศต่างๆ โดยบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่บนเที่ยวบินต่างๆ และผู้ที่เดินทางไปมาในหลายประเทศ ในช่วงที่รัฐบาลบางแห่งเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมเชื้อไวรัสเนื่องจากอัตราการระบาดที่เริ่มลดลงไปก่อนหน้านี้ ประกอบกับการเดินทางภายในประเทศที่เริ่มกลับมาคึกคักขึ้นแล้ว

และเมื่อเปรียบเทียบกับนโยบายโควิด-19 ของประเทศในซีกโลกตะวันตกเมื่อปีที่แล้ว จะพบว่า รัฐบาลบางแห่งในเอเชีย เช่น ไทยและไต้หวัน เลือกที่จะไม่ให้ความสำคัญกับการจัดหาวัคซีนเท่าใด ซึ่งพิสูจน์ได้จากสถิติล่าสุดที่ชี้ให้เห็นว่า อังกฤษทำการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชากรของตนเป็นสัดส่วนถึง 87 เปอร์เซ็นต์แล้ว ขณะที่ประชากรวัยผู้ใหญ่ในสหรัฐฯ เกือบทุกคนสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนได้อย่างง่ายดายจากร้านขายยาทั่วประเทศ

ในปีที่แล้ว ประเทศในเอเชียหลายแห่งเลือกดำเนินการป้องกันการแพร่กระจายของโคโรนาไวรัสด้วยการไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศ และสั่งปิดสถานที่ที่มีการชุมนุมของผู้คน โดยบางประเทศที่พึ่งพาอุตสาหกรรมการผลิตสามารถรักษาการขยายตัวของเศรษฐกิจได้เพราะไม่ประสบปัญหาที่ต้องให้คนงานหยุดงานเป็นเวลานาน

Thitinan Pongsudhirak, political science professor, Chulalongkorn University, Thailand
Thitinan Pongsudhirak, political science professor, Chulalongkorn University, Thailand

ศาสตราจารย์ ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกกับ วีโอเอ ว่า อาการเย็นใจดังกล่าวเป็นเหมือน “คำสาป” และว่า การที่ประเทศไทยรอดพ้นช่วงแรกของการระบาดใหญ่ของไวรัสมาได้เมื่อปีที่แล้ว ทำให้เกิดการชะล่าใจและไม่ได้สนใจที่จะเร่งจัดหาวัคซีนเหมือนประเทศอื่นๆ

ข้อมูลจากเว็บไซต์งานวิจัย Our World in Data ชี้ว่า ปัจจุบัน ประชากรไทยที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้วนั้นมีเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ และตัวเลขของเวียดนามนั้นอยู่ที่เพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนที่ไต้หวันนั้น ข้อมูล ณ กลางเดือนที่ผ่านมาระบุว่า การฉีดวัคซีนครบโดสให้ประชากรอยู่ที่ 0.5 เปอร์เซ็นต์ และมีประชากรราว 20 เปอร์เซ็นต์ที่ได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 เข็ม

นอกจากนั้น สถานการณ์ในฟิลิปปินส์ตลอดระยะเวลากว่าปีที่ผ่านมายังไม่กระเตื้องขึ้น และรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ที่ประมาณ 5,000 รายต่อวัน หลังเกิดการระบาดระลอกใหม่เมื่อไม่นานมานี้ ขณะที่ มาเลเซียเพิ่งรายงานสถิติตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันสูงสุดที่ 13,125 รายเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา แม้ว่าทั้งสองประเทศนี้จะดำเนินมาตรการกักตัวเฝ้าระวังอาการภายในชุมชนอย่างเข้มงวดมาโดยตลอดก็ตาม

Virus Outbreak
Virus Outbreak

และการที่ประเทศต่างๆ ในเอเชียยังมีปัญหาไม่สามารถจัดหาวัคซีนได้รวดเร็วพอนั้น เป็นเพราะบริษัทเวชภัณฑ์จากซีกโลกตะวันตกทั้งหลายยังคงวุ่นอยู่กับการผลิตให้ทันคำสั่งซื้อจากรัฐบาลอื่นๆ ทั่วโลก ประกอบกับการทำงานของรัฐบาลในเอเชียที่ออกใบอนุญาตให้บริษัทยาในประเทศเพื่อดำเนินการเรื่องวัคซีนอย่างล่าช้า และประชาชนในหลายประเทศมีความกังวลเกี่ยวกับผลข้างเคียงของวัคซีน

เมื่อไม่นานมานี้ หลายประเทศเริ่มหันไปขอรับบริจาควัคซีนจากมหาอำนาจต่างๆ ทั้งจีน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ แล้ว เช่น เวียดนามที่กำลังรอรับวัคซีนจำนวน 1.8 ล้านโดสพร้อมตู้แช่เย็นจากญี่ปุ่น ในระหว่างที่เดินหน้าเร่งให้มีการผลิตวัคซีนภายในประเทศโดยด่วนอยู่ ตามรายงานของเว็บไซต์ Vietnam Insider เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

ส่วนที่อินโดนีเซีย แม้รัฐบาลกรุงจาการ์ตาจะได้รับมอบวัคซีนมาจากจีนและประเทศอื่นๆ บ้างแล้ว อัตราการฉีดวัคซีนครบโดสของประชากรในประเทศยังอยู่ที่ระดับ 6 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่รายวันพุ่งทำสถิติใหม่ที่ 56,757 ราย ตามข้อมูล ณ วันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา

พารามิตา สุพามิโจโต อาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัย บินา นุซานตารา ในกรุงจาการ์ตา กล่าวว่า ประชาชนยังคงมีความวิตกกังวลอยู่ในหลายเรื่อง อาทิ ความเชื่อที่ว่าวัคซีนโควิด-19 นั้นไม่ได้มาตรฐานฮาลาล ซึ่งขัดต่อบัญญัติของศาสนาอิสลาม รวมทั้ง ความเชื่อว่า โควิด-19 นั้นเป็นเพียงเรื่องหลอก และการที่ผู้อาจป่วยเพราะติดเชื้อโคโรนาไวรัสจำนวนหนึ่งหลีกเลี่ยงไม่ยอมเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลเพราะมีผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันอยู่เต็มแล้ว

Virus Outbreak
Virus Outbreak

นอกจากนั้น คนส่วนใหญ่ของประชากรจำนวน 660 ล้านคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเผชิญกับสภาพชะงักงันทางเศรษฐกิจรอบใหม่จากการที่รัฐบาลสั่งให้ภาคธุรกิจปิดการให้บริการและให้ประชาชนอยู่แต่ในที่พักอาศัยเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของไวรัส

เมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) เพิ่งปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปีนี้ ลงมาที่ 4.0 เปอร์เซ็นต์ จากระดับ 4.4 เปอร์เซ็นต์ที่ประเมินไว้ก่อนหน้า “เนื่องจากบางประเทศกลับมาดำเนินมาตรการจำกัดและควบคุมการระบาดใหญ่อีกครั้ง”

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลในเอเชียหลายแห่งประกาศว่า ปริมาณวัคซีนในประเทศน่าจะเพิ่มมากขึ้นในช่วงหลังของปีนี้แล้ว เช่นกรณีของเจ้าหน้าที่ทางการไทย ที่กล่าวไว้เมื่อเดือนมิถุนายนว่า จะเร่งทำการสั่งวัคซีนให้เสร็จภายในสิ้นเดือนนี้ และประธานาธิบดี ไช่ อิง-เหวิน ของไต้หวัน ตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ได้ถึง 25 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดภายในวันที่ 31 กรกฎาคมนี้

เว็บไซต์ Vietnam Insider รายงานด้วยว่า รัฐบาลเวียดนามคาดการณ์ไว้ว่าจะจัดหาฉีดวัคซีนให้ได้ 110 ล้านโดสภายในเดือนธันวาคม ซึ่งยังต่ำกว่าเป้าหมาย 150 ล้านโดส เพื่อให้เพียงพอต่อประชากรสัดส่วน 75 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ

XS
SM
MD
LG