ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร! เมื่อประเทศมหาอำนาจต่างแข่งขันขยายอิทธิพลในอาเซียน


China Russia US
China Russia US

เมื่อหลายประเทศต่างแข่งขันกันเพื่อสร้างอิทธิพลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สิ่งที่เลี่ยงไม่ได้คือความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคนี้

please wait

No media source currently available

0:00 0:04:28 0:00

ขณะที่ประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า กำลังเยือนเอเชียครั้งสุดท้ายในฐานะผู้นำสหรัฐฯ ได้มีการพูดถึงผลกระทบด้านต่างๆ ของนโยบายปรับสมดุลใหม่โดยมีเอเชียเป็นศูนย์กลาง ซึ่งเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล ปธน.โอบาม่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

แต่สหรัฐฯ ไม่ใช่ประเทศเดียวที่หันมาสนใจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น เพราะหลายปีมานี้ จีน รัสเซีย และญี่ปุ่น ก็เพิ่มความสำคัญกับภูมิภาคนี้เช่นกัน จนบางครั้งประเทศมหาอำนาจเหล่านี้ต้องอยู่ในสถานะมิตรและศัตรูของกันและกัน

หลายปีมานี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าจีนคือประเทศคู่ค้ารายใหญ่ของประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ดูเหมือนประเทศอื่นๆ ก็กำลังวิ่งไล่ตามจีนมาติดๆ หนึ่งในนั้นคือ ญี่ปุ่น

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่าลงทุนในจีนและฮ่องกง โดยมีอิทธิพลของจีนและนโยบายของสหรัฐฯ ที่มุ่งเน้นมาทางเอเชียมากขึ้น เป็นแรงผลักดัน

คุณ Titil Basu นักวิเคราะห์ของสถาบัน Defense Studies and Analyses ในกรุงนิวเดลลี กล่าวว่าการแผ่ขยายอิทธิพลของจีนในอาเซียน ทำให้ญี่ปุ่นไม่อาจอยู่นิ่ง และจำเป็นต้องเดินหน้าเพื่อเพิ่มบทบาทของตนในภูมิภาคนี้

ยุทธศาสตร์ของญี่ปุ่นไม่จำกัดเฉพาะการลงทุนและธุรกิจเท่านั้น แต่ยังพยายามสานสัมพันธ์ในทางการทูตและการทหารด้วย เช่น การจัดหาเรือตรวจการณ์ชายฝั่งให้กับเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย

และในขณะที่หลายประเทศต่างแข่งขันกันเพื่อสร้างอิทธิพลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สิ่งที่เลี่ยงไม่ได้คือความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคนี้

คุณ Richard Bitzinger นักวิเคราะห์อาวุโสแห่ง S.Rajaratnam School of International Studies ในสิงคโปร์ ชี้ว่า เวลานี้ดูเหมือนทุกประเทศสามารถเป็นได้ทั้งมิตรและศัตรู คู่มหาอำนาจอย่างจีนกับสหรัฐฯ หรือจีนกับรัสเซีย ต่างมีทั้งโอกาสและผลประโยชน์ที่ต้องร่วมมือกัน ในขณะเดียวกันก็มีช่วงที่ต้องกระทบกระทั่งและแข่งขันกันด้วย โดยเฉพาะในประเด็นทะเลจีนใต้

ในกรณีของรัสเซีย แม้จะก้าวเข้ามามีบทบาทในอาเซียนหลัง จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ แต่ก็ถือว่าเป็นผู้เล่นที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในตลาดพลังงานและการค้าอาวุธ โดยนอกจากจะร่วมมือกับเวียดนามในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานปรมาณูแล้ว ยังเป็นผู้จัดหาเรือดำน้ำหลายลำให้กับรัฐบาลกรุงฮานอย เพื่อใช้ในการปกป้องพื้นที่ที่เวียดนามกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ในแถบทะเลจีนใต้ แม้ทางรัฐบาลรัสเซียเองได้ออกมาแสดงจุดยืนสนับสนุนการอ้างกรรมสิทธิ์ของจีนในบริเวณนั้น

อาจารย์ Lo Chih-Cheng แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย Soochow ในไต้หวัน กล่าวว่า ดูเหมือนขณะนี้รัสเซียกำลังย้ายยุทธศาสตร์จากทางยุโรปมาเป็นเอเชีย หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น นโยบายมุ่งเน้นมาทางเอเชียในแบบฉบับของรัสเซีย เหมือนที่สหรัฐฯ กำลังทำอยู่ เป้าหมายเพื่อคานอิทธิพลของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ผ่านการร่วมมือกับปักกิ่ง

และในขณะที่ประเทศมหาอำนาจเหล่านี้ต่างไม่ต้องการให้สถานการณ์ในทะเลจีนใต้ตึงเครียดไปมากกว่านี้ แต่ดูเหมือนว่าโอกาสเกิดความขัดแย้งระหว่างกันและกันกลับเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะต่างไม่ต้องการสูญเสียผลประโยชน์ในส่วนของตน

คุณ Richard Bitzinger แห่ง S.Rajaratnam School of International Studies ชี้ว่ากำลังเกิดความกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงความขัดแย้งรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น เมื่อพิจารณาถึงท่าทีต่างๆที่เกิดขึ้น และการที่อาวุธจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามาในอาเซียน

นักวิเคราะห์ผู้นี้ระบุว่า อาวุธอานุภาพสูงหลายแบบที่ถูกขนย้ายเข้ามา ประกอบกับการไม่ยอมอ่อนข้อและการดำเนินนโยบายที่เสี่ยงต่อสงคราม นั่นหมายความว่าการกระทบกระทั่งเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างประเทศที่มีข้อพิพาท ก็มีโอกาสจะลุกลามใหญ่โตจนยากจะควบคุมได้มากขึ้นเช่นกัน

(ผู้สื่อข่าว Bill Ide รายงานจากกรุงปักกิ่ง / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)

XS
SM
MD
LG