ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นิทรรศการ 'ภาพกราฟฟิก' ช่วยสร้างความตื่นตัวเกี่ยวกับการลักลอบค้ามนุษย์


นิทรรศการภาพกราฟฟิกช่วยสร้างความตื่นตัวเกี่ยวกับการลักลอบค้ามนุษย์

กระทรวงการต่างประเทศเเห่งสหรัฐฯ ประมาณว่ามีคนระหว่าง 600,000 กับ 800,000 คน ถูกลักลอบค้าขายข้ามชายเเดนทุกปี

รูปภาพเเนวกราฟฟิกจำนวนยี่สิบกว่าภาพ พร้อมกับคำบรรยาย ดึงดูดความสนใจของผู้คนที่เดินผ่านไปมาที่ Dupont Circle ในกรุงวอชิงตัน

รูปภาพเเต่ละภาพเเละคำพูดประกอบจากผู้ชาย ผู้หญิงเเละเด็กๆ ที่เป็นเหยื่อของการลักลอบค้ามนุษย์ทางเพศ เเละเป็นเเรงงานทาส ท้าทายให้คนดูลองจินตนาการถึงความเลวร้ายในแต่ละวัน เเละความท้าทายที่เหยื่อเหล่านี้ต้องประสบ

Janine Tkach ผู้ชมนิทรรศการคนหนึ่ง กล่าวว่า รู้สึกเศร้าใจเเละพยายามข่มน้ำตา รูปภาพที่นำมาเเสดงสร้างความสะเทือนใจ เเละตนเองรู้สึกขยะเเขยงกับความเลวร้ายของการลับลอบค้ามนุษย์เเละการใช้เเรงงานทาส

เธอบอกว่า งานนิทรรศการนี้ช่วยให้เธอตื่นตัวกับปัญหานี้เ เละจะมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ด้วยการใส่ใจกับเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์ที่ตนเองบริโภค เพื่อให้เเน่ใจว่าไม่มีการใช้เเรงงานทาสในการผลิต

ด้าน David นักท่องเที่ยวจากกรุงลอนดอน กล่าวว่า ตนเองรู้เกี่ยวกับปัญหาการลักลอบค้ามนุษย์และเเรงงานทาส เเต่งานนิทรรศการนี้ช่วยให้เข้าใจปัญหานี้มากขึ้นกว่าเดิม เขากล่าวว่าเหยื่อของการลักลอบค้ามนุษย์นี้ถูกเอารัดเอาเปรียบเพื่อผลิตสินค้าที่มีราคาถูก

Kay Chernush ช่างภาพระดับเจ้าของรางวัล เป็นผู้สร้างผลงานนิทรรศการภาพกราฟฟิกที่ประกอบขึ้นจากภาพของเหยื่อของการลักลอบค้ามนุษย์ที่เธอได้ถ่ายเอาไว้

Kay Chernush กล่าวว่า ตนเองได้สัมผัสกับปัญหาการลักลอบค้ามนุษย์ครั้ง
เเรกผ่านการทำงานให้กับกระทรวงการต่างประเทศ ย้อนไปเมื่อปี 2005 เธอได้รับมอบหมายงานให้ไปทำงานที่ฮ่องกง มาเก๊า ประเทศไทย อินเดีย เเละอิตาลี เพื่อถ่ายภาพการลักลอบค้ามนุษย์และการใช้เเรงงานทาสในหลายๆ รูปแบบ

ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ ทำให้ Chernush หันไปทำงานร่วมกับหน่วยงานพัฒนาเอกชนที่ต่อต้านการลักลอบค้ามนุษย์หลายหน่วยงานในประเทศต่างๆ

งานนิทรรศการนอกสถานที่งานเเรกที่ชื่อว่า “Bought and Sold” ออกเเสดงในกรุงเฮกในปี 2009 และย้ายไปจัดเเสดงในเมืองต่างๆ ทั่วประเทศเนเธอแลนด์

Kay Chernush เจ้าของงานนิทรรศการ กล่าวว่า นี่เป็นจุดเริ่มต้นโครงการรณรงค์ต่อต้านการลับลอบค้ามนุษย์และการใช้เเรงงานทาส “ArtWorks for Freedom” เธอกล่าวว่า เมื่อภาพถ่ายมีพลังในการสร้างความเข้าใจเเละความตื่นตัวเเก่ผู้ชม เเละยังช่วยเหยื่อเยียวยาทางจิตใจ จึงควรมีการนำศิลปะด้านอื่นๆ มาร่วมมีบทบาทในการต่อต้านปัญหานี้ด้วย

ศิลปินคนอื่นๆ ที่เข้าร่วมในโครงการรณรงค์ต่อต้านการลักลอบค้ามนุษย์ผ่านงานศิลป์นี้ ต่างใช้สื่อศิลปะต่างๆ ตามสาขาที่ตนเองเชี่ยวชาญ รวมทั้งการเต้นเพื่อเเสดงเรื่องราวของเหยื่อที่ต้องฟันฝ่าความเจ็บปวดทรมานไปสู่การเยียวยาและฟื้นตัว

Erica Rebollar ผู้อำนวยการเเห่ง Rebollar Dance กล่าวว่า ตนมองว่าศิลปะการเต้นช่วยกระตุ้นให้ผู้ชมเกิดความเข้าอกเข้าใจเหยื่อมากขึ้น ช่วยสร้างความรู้สึกเข้าอกเข้าใจต่อเรื่องราวของเหยื่อแต่ละราย ซึ่งเธอเชื่อว่านี่จะได้ผลทางจิตใจของผู้ชม มากกว่าการได้อ่านข้อมูลเเห้งๆ เพียงอย่างเดียว

งานนิทรรศการเหล่านี้ได้จัดเเสดงในเมืองใหญ่ๆ หลายเมืองมาแล้วในหลายส่วนของโลก เเละงานนิทรรศการในกรุงวอชิงตัน ยังได้นำเสนอผลงานศิลปะฝีมือของเด็กๆ ที่เป็นลูกของคนงานต่างด้าว รวมทั้งผลงานผ้าห่มฝีมือประดิษฐ์ของเหยื่อที่รอดจากการลักลอบค้ามนุษย์อีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีจัดเเสดงประตูสีทอง 12 บาน ที่ถูกแปรสภาพมาจากประตูไม้เก่า ที่เป็นเครื่องหมายเเสดงถึงการตั้งต้นชีวิตใหม่ของเหยื่อ

Kay Chernush ศิลปินช่างภาพ กล่าวว่า เป้าหมายของโครงการ ArtWorks for Freedom คือสร้างความตื่นตัวเกี่ยวกับการลักลอบค้ามนุษย์ เธอบอกว่าเราจะสามารถช่วยกันกำจัดปัญหานี้ให้หมดไปได้ภายในรุ่นอายุของคนเรา เเละคนทุกคนล้วนมีบทบาทในการต่อต้านปัญหานี้ด้วยกันทั้งนั้น

(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)

XS
SM
MD
LG