ลิ้งค์เชื่อมต่อ

เศรษฐกิจอัฟกานิสถานจ่อดิ่งหนัก หลังตาลิบันเข้าปกครองประเทศ


Afghans wait for hours to try to withdraw money, in front a bank, in Kabul, Aug. 15, 2021.
Afghans wait for hours to try to withdraw money, in front a bank, in Kabul, Aug. 15, 2021.
Afghan Economic Crisis Looming
please wait

No media source currently available

0:00 0:04:39 0:00


การที่กองกำลังตาลิบันสามารถเข้ายึดอำนาจการปกครองอัฟกานิสถานได้อีกครั้งหลังต้องถอยร่นออกไปเมื่อ 20 ปีก่อน ทำให้ประเทศเอเชียกลางแห่งนี้ซึ่งประชาชนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่หนักอยู่แล้ว ต้องตกอยู่ในความเสี่ยงทั้งด้านวิกฤตมนุษยธรรมและวิกฤตเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อเล็กซ์ เซอร์เดน ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถานช่วงระหว่างปี ค.ศ. 2018 และ 2019 กล่าวว่า ในเวลานี้ คงยังไม่มีใครสามารถกล้าประเมินอนาคตของเศรษฐกิจอัฟกันแบบชัดเจน เพราะไม่มีใครรู้ว่าประเทศนี้มีปัญหาอะไรสะสมอยู่บ้าง ทำให้สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นจากนี้ เป็นเรื่องที่สุดคาดเดาได้

แม้ก่อนกลุ่มตาลิบันจะเข้ายึดอำนาจเมื่อสัปดาห์ก่อน สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของอัฟกานิสถานอยู่ในภาวะแย่มากๆ อยู่แล้ว โดยธนาคารโลกระบุว่า เป็นเศรษฐกิจที่ “ประกอบไปด้วยความเปราะบางและต้องพึ่งพาความช่วยเหลือ(จากภายนอก)” ขณะที่ 75 เปอร์เซ็นต์ของงบค่าใช้จ่ายสาธารณะนั้นไม่ได้มาจากกระเป๋าของรัฐบาลอัฟกัน แต่เป็นเงินช่วยเหลือจากสถาบันระหว่างประเทศและรัฐบาลประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐฯ เป็นต้น

ผู้บริจาคประกาศระงับการนำส่งเงินช่วยเหลือ

หลังกลุ่มตาลิบันเข้ายึดกรุงคาบูล เมืองหลวงของประเทศได้สำเร็จเมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา ประเทศผู้บริจาคเงินช่วยเหลือให้อัฟกานิสถานต่างออกมาประกาศหยุดการนำส่งเงินทันที เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ประกาศระงับการนำส่งเงินช่วยเหลืองวดถัดไปของงบมูลค่า 450 ล้านดอลลาร์ที่เดิมมีกำหนดส่งให้รัฐบาลอัฟกันในสัปดาห์หน้า และรัฐบาลเยอรมนีที่ประกาศว่าจะไม่นำส่งเงินช่วยเหลือจำนวน 300 ล้านดอลลาร์ที่เตรียมไว้เช่นกัน ขณะที่ สหรัฐฯ ประกาศอายัดเงินทุนสำรองฉุกเฉินมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ ที่ธนาคารกลางอัฟกานิสถานฝากไว้ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ในนครนิวยอร์กด้วย

FILE - The Federal Reserve Bank of New York building is seen in the Manhattan borough of New York, Dec. 16, 2017.
FILE - The Federal Reserve Bank of New York building is seen in the Manhattan borough of New York, Dec. 16, 2017.

อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดี โจ ไบเดน สัญญาว่า สหรัฐฯ จะยังคงนำส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้อัฟกานิสถาน แม้ตาลิบันจะเป็นผู้ปกครองประเทศอยู่ โดยระบุว่า “เรา (สหรัฐฯ) จะเดินหน้าสนับสนุนชาวอัฟกัน และเรา (สหรัฐฯ) จะเดินหน้าแผนงานด้วยวิถีทางการทูต และอิทธิพลในประชาคมโลก และความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อไป”

แต่การที่สหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรทำการถอนกำลังทหารของตนออกจากอัฟกานิสถานจนหมดสิ้น กลายมาเป็นปัจจัยที่ทำให้หลายคนสงสัยว่า บรรดาองค์กรสากลที่ให้ความช่วยเหลือต่างๆ ซึ่งเป็นคนกลางประสานความช่วยเหลือจากนานาประเทศมาโดยตลอด จะทำงานต่อไปในอัฟกานิสถานได้อย่างไร

การปกครองอัฟกานิสถาน “ไม่ใช่เรื่องง่าย”

อัจมาล อาห์มาดี อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางอัฟกานิสถานที่ดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 2019 จนกระทั่งลอบหนีออกจากประเทศสำเร็จเมื่อสุดสัปดาห์ก่อน พยายามสื่อสารเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจอันย่ำแย่ของอัฟกานิสถานผ่านทางบัญชีทวิตเตอร์มาโดยตลอด และอธิบายไว้ว่า ธนาคารกลางอัฟกันไม่สามารถเข้าถึงเงินทุนสำรองของประเทศได้ และการขนส่งเงินสกุลดอลลาร์ ซึ่งเป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงระบบธนาคารของประเทศในการให้บริการลูกค้าที่ต้องการสกุลเงินที่มีเสถียรภาพมากกว่าสกุลอัฟกานี ที่รัฐบาลเป็นผู้ออก ได้ถูกระงับไปเรียบร้อยแล้ว

Afghani Banknote
Afghani Banknote

การที่ไม่มีเงินสกุลดอลลาร์เข้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของอัฟกานิสถานหมายถึง ค่าเงินอัฟกานีที่จะดิ่งลงหนัก และราคาสินค้าและบริการที่จะพุ่งสูง พร้อมๆ กับสภาวะขาดแคลนที่จะตามมา เนื่องจากความช่วยเหลือจากนานาชาติและการค้าระหว่างประเทศที่สะดุดลง

อาห์มาดี ทวีตข้อความหนึ่งที่ระบุว่า “ตาลินบานเอาชนะทางทหารได้ – แต่ตอนนี้ต้องมาทำหน้าที่ปกครอง ... ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย”

เศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป

เศรษฐกิจของอัฟกานิสถานในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาหลังกองกำลังนานาชาติซึ่งนำโดยสหรัฐฯ ขับไล่กลุ่มตาลิบันออกไปสำเร็จ ได้เปลี่ยนโฉมไปอย่างมาก เพราะแม้ว่าจะต้องเผชิญปัญหามากมาย เศรษฐกิจของประเทศนี้กลับมาขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าและมีการยกระดับให้เป็นลักษณะเมืองมากขึ้นกว่าเมื่อ 2 ทศวรรษก่อนเรียบร้อยแล้ว

เมื่อปี ค.ศ. 2002 ซึ่งเป็นปีแรกที่อัฟกานิสถานหลุดจากการปกครองของตาลิบันมาครบ 1 ปี ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ จีดีพี นั้นมีมูลค่าราว 4 พันล้านดอลลาร์ แต่ในปี ค.ศ. 2020 ธนาคารโลกประเมินว่า จีดีพี ของอัฟกานิสถานนั้นขยายตัวมาอยู่ที่ 19,800 ล้านดอลลาร์แล้ว ขณะที่ พื้นที่เมืองหลักๆ ของประเทศได้รับการพัฒนาและมีการริเริ่มโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ ที่เอื้อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีทันสมัยต่างๆ เช่น โทรศัพท์สมาร์ทโฟน ได้อย่างง่ายดายแล้ว

อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของเศรษฐกิจอัฟกันในช่วงที่ผ่านมานั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นอานิสงก์ของเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ และการขาดดุลการค้าอย่างหนัก อันเป็นผลมาจากการที่แรงงานราว 44 เปอร์เซ็นต์ของประเทศยังคงทำมาหากินในภาคการเกษตรที่ทำรายได้ต่ำ และประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ของครัวเรือนอัฟกันยังคงพึ่งพาการเกษตรในการเลี้ยงชีพอยู่

แรงต่อรองกับกลุ่มตาลิบัน

ในเวลานี้ สหรัฐฯ ยังถือว่า กลุ่มตาลิบัน คือ องค์กรก่อการร้าย และมีรายชื่ออยู่ในกลุ่มที่ถูกดำเนินมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจที่ดูแลโดยสำนักควบคุมสินทรัพย์ต่างชาติ (Office of Foreign Assets Control) อยู่ ซึ่งหมายความว่า สถาบันการเงินใดๆ ที่ถูกตาลิบันควบคุมอยู่จะไม่สามารถทำธุรกรรมใดๆ ในตลาดการเงินโลกได้อย่างมีนัยสำคัญได้เลย

ด้วยเหตุผลนี้ รัฐบาลของปธน.ไบเดน จึงเชื่อว่า สหรัฐฯ มีแรงต่อรองเหนือกลุ่มตาลิบัน โดยผู้นำสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ ABC News เมื่อไม่กี่วันก่อนว่า แม้ตนไม่คิดว่า กลุ่มตาลิบันจะสนใจว่า ประชาคมโลกจะยอมรับตนว่าเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องของอัฟกานิสถานหรือไม่ แต่กลุ่มก่อการร้ายนี้น่าจะต้องสนใจว่า จะหาอาหารมาให้คนในประเทศได้อย่างไร จะหารายได้มาจากไหน และจะบริหารเศรษฐกิจได้อย่างไรอยู่ดี

FILE - Taliban fighters display their flag on patrol in Kabul, Afghanistan, Aug. 19, 2021.
FILE - Taliban fighters display their flag on patrol in Kabul, Afghanistan, Aug. 19, 2021.

หนทางเผด็จศึก ที่ยังไม่ชัดเจน

แต่แม้กลุ่มตาลิบันจะยังมีความท้าทายทางการเงินที่ต้องฝ่าฟันไปให้ได้ อเล็กซ์ เซอร์เดน อดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถาน ยังมองไม่ออกว่า สหรัฐฯ จะมีแรงต่อรองเหนือกลุ่มก่อการร้ายนี้มากเพียงใด เพราะมีความเป็นไปได้ที่ รัฐบาลกลุ่มประเทศตะวันตกจะประเมินระดับความต้องการเงินของตาลิบันสูงเกินไป เพราะกลุ่มนี้ไม่มีปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นเหมือนรัฐบาลที่เพิ่งหมดอำนาจไป ซึ่งหมายความว่า เงินทุนในการปกครองประเทศนั้นอาจจะไม่สูงเหมือนในกรณีที่ผ่านมา และภาษีที่จัดเก็บได้ก็จะเข้าคลังไปมากกว่าถูกปันไปเข้ากระเป๋าเจ้าหน้าที่รัฐบาลอย่างเกิดขึ้นในอดีต

นอกจากนั้น เซอร์เดน ยังชี้ว่า กลุ่มตาลิบันเองได้ทำตัวเป็นรัฐบาลเงาของอัฟกานิสถานมาตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา และทำการหารายได้จากการเก็บภาษีการค้าฝิ่น การทำเหมืองที่ผิดกฎหมาย และการลักลอบขนส่งสินค้าต่างๆ ก่อนจะนำรายได้ทั้งหลายมาบริหารคนในองค์กรและสนับสนุนปฏิบัติการทางทหารของตน

และในเวลานี้ ที่ตาลิบันมีอำนาจควบคุมด่านข้ามแดนทั้งหมด การที่กลุ่มก่อการร้ายนี้จะเริ่มขยายการทำงานมาเก็บรายได้ศุลกากรสำหรับการนำเข้า-ส่งออกยิ่งไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

เศรษฐกิจ และ อุดมการณ์

กราห์ม สมิธ นักวิจัยด้านการให้คำปรึกษา จากสถาบัน Overseas Development Institute ซึ่งศึกษาสถานการณ์ในอัฟกานิสถานมานานหลายปี กล่าวเสริมว่า ช่องทางการค้าต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น คือเส้นเลือดสำคัญสำหรับอนาคตของตาลิบัน ตราบใดที่ มหาอำนาจในภูมิภาคเอเชีย เช่น ปากีสถาน จีน และอิหร่าน ยังคงทำการค้าขายกับอัฟกานิสถานต่อไป

สมิธ ยังไม่มั่นใจด้วยว่า ตาลิบัน จะทำตามสัญญาว่าจะนำพาประเทศในลักษณะที่เปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนในสังคมมีส่วนร่วม โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจยุคใหม่ ซึ่งหมายถึงการละทิ้งอุดมการณ์หลักของกลุ่มที่อยู่คนละขั้วกับคำสัญญานั้น พร้อมกล่าวสรุปว่า แม้ว่าแรงต่อรองนั้นเป็นสิ่งสำคัญในการทำงานร่วมกับอัฟกานิสถานจากนี้ไป ความคาดหวังในด้านนี้ดูจะผิดเพี้ยนไปมาก เพราะ “เราคิดว่า เรามีอำนาจมากกว่าที่เรามีอยู่จริง”

เกี่ยวข้อง

XS
SM
MD
LG