ลิ้งค์เชื่อมต่อ

‘ซีเวิลด์’ เปิดสวนสนุกไร้วาฬเพชณฆาตในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์


Emirates SeaWorld
Emirates SeaWorld

ผู้บริหารสวนสนุกซีเวิลด์ (SeaWorld) ของสหรัฐฯ ที่ประสบปัญหาการดำเนินกิจการท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์และการต่อต้านเพราะกรณีการดูแลวาฬเพชณฆาตและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมทางทะเล (marine mammals) อื่น ๆ ตัดสินใจขยายกิจการออกนอกประเทศ และเปิดสวนสัตว์น้ำขนาดยักษ์แห่งใหม่ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตามรายงานของสำนักข่าวเอพี

สวนสัตว์น้ำแห่งใหม่ซึ่งเป็นแห่งแรกที่ SeaWorld เปิดนอกสหรัฐฯ เป็นธุรกิจร่วมลงทุนกับบริษัท มิรัล (Miral) ของรัฐบาลเอมิเรตส์ และมีมูลค่าถึง 1,200 ล้านดอลลาร์ โดยนำเสนอพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกและจอ LED รูปทรงกระบอกขนาดยักษ์ด้วย

UAE-TOURISM-ENTERTAINMENT
UAE-TOURISM-ENTERTAINMENT

อย่างไรก็ดี สวนน้ำแห่งนี้ไม่มีวาฬเพชณฆาตแม้แต่ตัวเดียว แต่ยังนำเสนอสัตว์น้ำหน้าตาคุ้นเคยอื่น ๆ เช่น โลมาและแมวน้ำ ซึ่งก็ยังเป็นเป้าการถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยกลุ่มผู้ปกป้องสิทธิสัตว์และนักเคลื่อนไหวต่าง ๆ เกี่ยวกับการจับสัตว์เหล่านี้มาขังและฝึกฝนเพื่อหากำไร

สวนสัตว์น้ำแห่งนี้เปิดประตูต้อนรับประชาชนมาตั้งแต่เมื่อเดือนที่แล้ว และถูกมองว่า เป็นก้าวใหญ่ก้าวแรกของบริษัทอเมริกันที่มีสำนักงานใหญ่ในเมืองออร์แลนโด รัฐฟลอริดา ในการขยายธุรกิจท่องเที่ยวไปต่างประเทศ และเป็นโอกาสให้บริษัททำการรีแบรนด์ (rebranding) หรือปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์องค์กรที่เสียหายมาหลายปี จากกรณีคำวิจารณ์และคำกล่าวหาว่า ทำการทรมานสัตว์

เอพีได้ติดต่อไปยังทั้ง SeaWorld และ Miral เพื่อขอสัมภาษณ์ แต่ไม่ได้รับการตอบกลับและไม่ได้อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวเข้าไปยังพื้นที่สวนสัตว์น้ำแห่งใหม่นี้ด้วย

สำหรับปัญหาของ SeaWorld ที่มีมาก่อนหน้านี้ สถานการณ์รุนแรงถึงขีดสุดเมื่อมีการเปิดตัวสารคดีที่ชื่อ Blackfish ในปี ค.ศ. 2013 ซึ่งนำเสนอชีวิตของวาฬเพชฌฆาตน้ำหนัก 12,000 ปอนด์ที่ชื่อ ทิลิคุม (Tilikum) ซึ่งฆ่าครูฝึกที่ชื่อ ดอว์น แบรนโช (Dawn Brancheau) ด้วยการลากตัวครูฝึกรายนี้ลงไปในสระนำที่สวนสนุก SeaWorld Orlando ในปี ค.ศ. 2010 โดยสารคดีเรื่องนี้สื่อเป็นนัยว่า วาฬเพชฌฆาตนั้นพัฒนานิสัยดุร้ายมากขึ้นเมื่อถูกเลี้ยงไว้ในตู้หรือกรง

หลังการออกฉายของสารคดีดังกล่าว จำนวนผู้มาเที่ยวสวนสนุก SeaWorld ก็ตกฮวบทุกสาขาในสหรัฐฯ และต่อมาบริษัท SeaWorld Entertainment Inc. ก็ยอมตกลงจ่ายค่าชดเชยคดีฟ้องร้องเป็นเงิน 65 ล้านดอลลาร์ หลังถูกกล่าวหาว่า ทำให้นักลงทุนของบริษัทเข้าใจผิดเกี่ยวกับผลกระทบของตัวสารคดีนี้ต่อฐานลูกค้าและธุรกิจ

และเพราะเรื่องนี้ที่นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย SeaWorld ตัดสินใจระงับโครงการเพาะพันธุ์วาฬเพชฌฆาตและการแสดงของวาฬต่อหน้าผู้ชมในปี ค.ศ. 2016 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่บริษัทประกาศแผนงานสร้างสวนสัตว์น้ำไร้วาฬเพชฌฆาตที่นครอาบูดาบี ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

นอกจากนั้น บริษัทยังพยายามกระจายข่าวและข้อมูลที่ให้คำมั่นว่า จะเดินหน้าช่วยชีวิตและฟื้นฟูชีวิตความเป็นอยู่ของสัตว์ต่าง ๆ และมีการจ้างสัตวแพทย์ที่จะทำงานประจำและเต็มเวลาเพื่อให้มั่นใจว่า สัตว์ทุกตัวจะได้รับการดูแลอย่างดี

สวนสัตว์น้ำแห่งใหม่นี้ได้รับการรับรองจากกลุ่ม American Humane ซึ่งเป็นองค์กรที่มักมีการอ้างถึงในเครดิตท้ายภาพยนตร์ต่าง ๆ เพื่อรับประกันว่า ไม่มีสัตว์ตัวใดได้รับอันตรายระหว่างการถ่ายทำภาพยนตร์นั้น ๆ แต่สวนแห่งนี้ยังไม่ได้ยื่นเรื่องขอคำรับรองจาก Association of Zoos and Aquariums ซึ่งเป็นหน่วยงานมาตรฐานระดับสูงในการรับรองว่า มีการดูแลสัตว์อย่างดี ด้วยความเมตตาและมีมนุษยธรรม

UAE-TOURISM-ENTERTAINMENT
UAE-TOURISM-ENTERTAINMENT

อย่างไรก็ดี ผู้ที่เคยวิพากษ์วิจารณ์ SeaWorld เพราะสารคดี Blackfish ก็ไม่ได้เงียบหายไปเพราะวิวัฒนาการทางธุรกิจทั้งหมดนี้ของบริษัท อย่างเช่น เจสัน เบเกอร์ รองประธานอาวุโสของ People for the Ethical Treatment of Animals (PETA) ที่กล่าวว่า “SeaWorld คือ ส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมที่สร้างขึ้นมาจากความทุกข์ยากลำบากของสิ่งมีชีวิตที่รู้จักการใช้ชีวิตในสังคมและมีความชาญฉลาด ที่ถูกปฏิเสธ[โอกาสของ] ทุกอย่างที่เป็นธรรมชาติและสำคัญต่อพวกมัน”

  • ที่มา: เอพี
XS
SM
MD
LG