ลิ้งค์เชื่อมต่อ

อังกฤษส่งรถถังให้ยูเครน เพิ่มแรงกดดันเยอรมนี-สหรัฐฯ ทำตาม


FILE - German Chancellor Olaf Scholz delivers a speech in front of a Leopard 2 tank during a visit to a military base of the German army Bundeswehr in Bergen, Oct. 17, 2022.
FILE - German Chancellor Olaf Scholz delivers a speech in front of a Leopard 2 tank during a visit to a military base of the German army Bundeswehr in Bergen, Oct. 17, 2022.

ยูเครนกล่าวว่า พันธมิตรชาติตะวันตกจำเป็นต้องเร่งส่งมอบยุทโธปกรณ์ให้แก่ยูเครน ในขณะที่กองทัพยูเครนกำลังเผชิญแรงกดดันอย่างหนักจากการโจมตีของรัสเซีย ส่งผลให้มีประชาชนเสียชีวิตหลายสิบคนในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา

เมื่อวันอังคาร รัฐบาลอังกฤษประกาศว่าจะจัดส่งรถถังให้แก่ยูเครนเพิ่ม โดยก่อนหน้านี้ได้ส่งรถถังประจัญบาน เดอะ แชลเลนเจอร์ 2 (Challenger 2) ไปแล้ว 14 คัน รวมทั้งอาวุธหนักอื่น ๆ เช่น ปืนใหญ่ ยานเกราะ ขีปนาวุธและโดรน

เบน วอลเลซ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอังกฤษ กล่าวว่า ยุทโธปกรณ์ชุดใหม่ที่ส่งให้แก่ยูเครนจะช่วยเร่งให้เกิดบทสรุปของการรุกรานและความโหดร้ายของประธานาธิบดีปูติน รวมทั้งรับรองว่า ในปีนี้และปีต่อ ๆ ไป ยูเครนจะสามารถรักษาโมเมนตัมนี้ไว้ได้

โมเมนตัมดังกล่าวขึ้นอยู่กับชาติพันธมิตรต่าง ๆ ว่าจะเพิ่มความช่วยเหลือให้ยูเครนหรือไม่ อย่างไร โดยขณะนี้ เยอรมนีกำลังเผชิญแรงกดดันให้ส่งรถถัง เลพเพิร์ด 2 ให้แก่ยูเครน และยังต้องอนุญาตให้ชาติพันธมิตรอื่น ๆ ในยุโรปสามารถส่งรถถังรุ่นเดียวกันนี้ที่ผลิตในเยอรมนีให้แก่ยูเครนได้ด้วย

ที่ผ่านมา เยอรมนีค่อนข้างระมัดระวังเรื่องการส่งอาวุธให้แก่ยูเครน เนื่องจากไม่ต้องการยกระดับความขัดแย้งในสงคราม แต่ชาติพันธมิตรอื่น ๆ แย้งว่า ความกังวลของเยอรมนีนั้นไม่ควรเกิดขึ้น เพราะรัสเซียไม่เคยส่งสัญญาณว่า จะลดระดับการโจมตียูเครนแต่อย่างใด

ลีอานา ฟิกซ์ แห่ง Council on Foreign Relations กล่าวว่า ยูเครนต้องการทั้งรถถังแบบเบาและรถถังประจัญบาน เพื่อเพิ่มความสำเร็จในการต่อสู้ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ดังนั้น ข้อเสนอของอังกฤษจึงถือเป็นการส่งสัญญาณทางการเมืองว่า ข้อจำกัดเรื่องการจัดส่งรถถังให้แก่ยูเครนได้หายไปแล้ว

ทั้งนี้ โปแลนด์และฟินแลนด์ต่างต้องการส่งรถถังเลพเพิร์ดให้แก่ยูเครนเช่นกัน โดยนายกรัฐมนตรีฟินแลนด์ มาเตอัสซ์ โมราเวียคกี กล่าวเตือนไว้ว่า "หากยูเครนพ่ายแพ้จะหมายถึงการโหมโรงสู่สงครามโลกครั้งที่สาม ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลที่จะสกัดกั้นแรงสนับสนุนต่อกรุงเคียฟ หรือทำให้ล่าช้าออกไป"

ผู้นำโปแลนด์ยังได้เร่งเร้าให้รัฐบาลเยอรมันตัดสินใจส่งอาวุธทุกชนิดให้แก่ยูเครนด้วย ซึ่งรวมถึงระบบป้องกันทางอากาศ แพทริออต (Patriot) ปืนใหญ่แบบฮาววิตเซอร์ (howitzer) ปืนต่อต้านอากาศยาน และระบบต่อต้านขีปนาวุธจากพื้นดิน

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความเห็นที่แตกต่างในฝั่งพรรคร่วมรัฐบาลของเยอรมนีเอง ในขณะที่ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี โอลาฟ โชลซ์ ได้แต่งตั้งรัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่แทนคนเก่าที่ลาออกไปเมื่อต้นสัปดาห์นี้ แต่ยังไม่มีการยืนยันว่า นโยบายเรื่องยูเครนจะเปลี่ยนไปหรือไม่ อย่างไร

ในวันศุกร์นี้ รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ลอยด์ ออสติน มีกำหนดประชุมร่วมกับกลุ่มพันธมิตรของยูเครน หรือ Ukraine Defense Contact Group ซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูงทางการทหาร 50 คน ที่ฐานทัพอากาศแรมสทีน ในเยอรมนี โดยคาดว่า จะมีการประกาศความร่วมมือทางทหารเพิ่มเติมสำหรับยูเครนด้วย

  • ที่มา: วีโอเอ

XS
SM
MD
LG