ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ทำความรู้จัก "เลเเคเนเเม็บ" ยาขั้นทดลองสำหรับโรคอัลไซเมอร์


Alzheimer brain
Alzheimer brain

เมื่อปลายเดือนที่เเล้ว บริษัทผู้ผลิตยาของญี่ปุ่น เอไซ (Eisai) และ ไบโอเจน (Biogen) ของสหรัฐฯ เปิดเผยผลการทดสอบยาบำบัดโรคอัลไซเมอร์ ที่ชื่อ "เลเเคเนเเม็บ"(lecanemab) ที่เป็นยาฉีดเข้าเส้นเลือดและอยู่ในขั้นทดลอง

การศึกษาชี้ให้เห็นถึงความสามารถในการชะลอการเสื่อมของสมอง

แม้ผลการวิจัยจะให้ความหวังต่อวงการเเพทย์ หลังจากยาชนิดก่อน ๆ มักไม่ประสบความสำเร็จในการต่อสู่กับโรคนี้ แต่ผู้เชี่ยวชาญยอมรับว่า ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า "เลเเคเนเเม็บ" จะสามารถเปลี่ยนแปลงต่อชีวิตของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ได้มากน้อยเท่าใด

การเปิดเผยเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ที่เป็นผลการทดลองใช้ยากับผู้ป่วยอัลไซเมอร์ระยะเริ่มต้นจำนวน 1,800 ราย ชี้ให้เห็นว่า "เลเเคเนเเม็บ" สามารถชะลอการเสื่อมลงของสมองได้ราว 5 เดือนจากช่วงระยะเวลาการทดลอง 18 เดือน จากข้อมูลของนายแพทย์ไมเคิล ไอริซาร์รี แห่งบริษัทเอไซ ที่บอกกับสำนักข่าวเอพี

นอกจากนี้ ผู้ป่วยระยะเริ่มแรกเหล่านี้ยังมีความเสี่ยงลดลง 31% ที่จะป่วยเข้าสู่ระดับอัลไซเมอร์ขั้นถัดไป ซึ่งนายแพทย์ไอริซาร์รีกล่าวว่า นั่นหมายถึงระยะเวลานานขึ้นสำหรับการอยู่ในระดับเริ่มต้น

การศึกษานี้ถูกตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ The New England Journal of Medicine

Medicare Alzheimer Brain Scans
Medicare Alzheimer Brain Scans

ข้อสรุปของการศึกษาคือ ผู้ที่ได้รับยา "เลเเคเนเเม็บ" มีความเสื่อมของสมองช้าลง โดยระดับการชะลอ อยู่ที่ไม่ถึงครึ่งขั้นของหน่วยวัดทางการแพทย์ที่มีทั้งหมด 18 ระดับ

ยา "เลเเคเนเเม็บ" จะเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้ป่วยอัลไซเมอร์ได้มากน้อยอย่างไร

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญยังคงไม่สามารถสรุปว่ายาชนิดนี้จะช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ได้มากน้อยอย่างไร นอกจากนั้นยังพบว่ามีความเสี่ยงจากอาการสมองบวม

นายแพทย์แมดฮาฟ ธามบิเซตตี แห่งหน่วยงาน National Institute of Aging กล่าวว่า “เป็นไปได้ยากที่ความแตกต่างเพียงเล็กน้อย (ต่อการชะลอความเสื่อมลงของสมอง) ที่อยู่ในรายงานงานทดลอง จะให้ผลที่เห็นอย่างประจักษ์ ต่อผู้ป่วยแต่ละคน” เขาบอกว่า ความเห็นของตนนี้ ไม่ได้เป็นการพูดในฐานะตัวแทนองค์กรของรัฐ

นายแพทย์ธามบิเซตตี บอกด้วยว่า ผลของยาที่ช่วยผู้ป่วยอัลไซเมอร์ได้ควรแสดงค่าการชะลอของโรคที่ อย่างน้อยหนึ่งขั้นของหน่วยวัด 18 ระดับ

แต่นายแพทย์รอน พีเตอร์สัน ผู้เชี่ยวชาญด้านอัลไซเมอร์แห่งสถาบันเมโย คลินิก ของสหรัฐฯ กล่าวว่า แม้ประสิทธิผลของ "เลเเคเนเเม็บ" มีไม่มาก แต่ก็มีความหมายในการบำบัดผู้ป่วย เพราะการเสื่อมช้าลงของสมองเพียงไม่กี่เดือนหมายความว่า ผู้ป่วยสามารถดำรงชีวิตได้ด้วยตนเอง

และสำหรับครอบครัวผู้ป่วยการมีชีวิตที่ยังสามารถมีความสุขร่วมกันได้จากกิจกรรมต่าง ๆ ย่อมมีความหมายทางจิตใจด้วย ตามทัศนะของมาเรีย คาร์ริลโล หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิทยาศาสตร์ของสมาคม Alzheimer’s Association

ทั้งนี้ ในการศึกษาการใช้ยา "เลเเคเนเเม็บ" มีผู้ป่วยสองรายเสียชีวิต และทั้งสองใช้ยาที่ทำให้เลือดจางลงเพื่อรักษาปัญหาทางสุขภาพด้านอื่น บริษัทเอไซกล่าวว่า ยาชนิดนี้ไม่ใด้เป็นเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต

The coronavirus disease (COVID-19) survivor Santiaga Cerrato, 85, who suffers from Alzheimer?s disease, bids farewell to fellow resident Antonia Sanchez at the nursing home Centro Casaverde in Navalcarnero, outside Madrid, Spain, December 23, 2020. Under…
The coronavirus disease (COVID-19) survivor Santiaga Cerrato, 85, who suffers from Alzheimer?s disease, bids farewell to fellow resident Antonia Sanchez at the nursing home Centro Casaverde in Navalcarnero, outside Madrid, Spain, December 23, 2020. Under…

การทำงานของยา "เลเเคเนเเม็บ"

ข้อมูลในในรายงานของเอพี ชี้ว่ายาชนิดนี้มุ่งเป้าโจมตีสารโปรตีนที่เรียกว่า อะมิลอยด์ (amyloid) ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของอัลไซเมอร์ และรอยเตอร์รายงานว่า ยายังสามารถลดระดับสารเทา (tau) สารโปรตีนอีกชนิดหนึ่งที่สร้างเส้นใยที่เป็นพิษต่อเซลล์สมองด้วย

มาเรีย คาร์ริลโลแห่งสมาคม Alzheimer’s Association บอกว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรก ๆ ที่นักวิทยาศาสตร์มีโอกาสทำความเข้าใจกระบวนการชะลอโรคอัลไซเมอร์

โดยทั่วไป ยาที่มีฤทธิ์โจมตีสารอะมิลอยด์ อาจทำให้สมองบวมและมีเลือดออกได้ ซึ่งก็เป็นผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจาก"เลเเคเนเเม็บ" เช่นกัน ลักษณะของอาการสมองบวมชนิดหนึ่งพบใน 13% ของผู้ใช้ยานี้ ขณะที่บริษัทเอไซกล่าวว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่ในการทดลองมีอาการแทรกซ้อนลักษณะนี้แค่อ่อนๆ เท่านั้นหรือไม่แสดงอาการเลย

FILE - Patients with Alzheimer's and dementia dance inside the Alzheimer Foundation in Mexico City, April 19, 2012.
FILE - Patients with Alzheimer's and dementia dance inside the Alzheimer Foundation in Mexico City, April 19, 2012.

โอกาสของการใช้จริงอย่างแพร่หลาย

องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ หรือ FDA มีกำหนดพิจารณาภายในวันที่ 6 มกราคมปีหน้า ว่าจะอนุมัติให้การตรวจสอบยา "เลเเคเนเเม็บ" สามารถดำเนินการ “อย่างเร่งด่วน” ได้หรือไม่ ในขั้นตอนดังกล่าวผู้ผลิตต้องแสดงผลจากการตรวจร่างกายผู้ใช้ ที่เกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ เช่น การลดลงของ อะมิลอยด์เบตาในสมอง ตามรายงานของรอยเตอร์

ในการสัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ ประธานบริษัทเอไซ สำนักงานที่สหรัฐฯ ไอวาน ชุง กล่าวว่า ไม่ว่า FDA จะตัดสินเช่นใดเรื่องการขอเร่งรัด บริษัทของเขาก็จะยื่นเรื่องให้ยาชนิดนี้ได้รับการตรวจสอบ ผ่านกระบวนการปกติอยู่แล้ว และจะเดินเรื่องให้ได้รับการพิจารณาโดยเจ้าหน้าที่ในยุโรปและญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน

นายแพทย์ พีเตอร์สันแห่งสถาบันเมโย คลินิก กล่าวว่า หากยาได้รับอนุญาตให้ใช้ได้ในสหรัฐฯ ในระยะเริ่มแรกเขาจะยังไม่สั่ง "เลเเคเนเเม็บ" ให้กับผู้ป่วยอัลไซเมอร์ที่ต้องใช้ยานี้คู่ขนานกับยาที่ทำให้เลือดจางลง ตามรายงานของเอพี

หากว่าผ่านการตรวจสอบของ FDA "เลเเคเนเเม็บ" จะเป็นยาต้านอะมิลอยด์ ชนิดที่สองที่มีการจำหน่าย

ยาชนิดแรกที่ได้รับการอนุมัติจากทางการสหรัฐฯ คือ “อะดูเฮล์ม” ของบริษัทไบโอเจน เมื่อปีที่แล้ว

แต่ “อะดูเฮล์ม” ถูกวิจารณ์ว่า ผ่านการตรวจสอบของ FDA แม้มีหลักฐานสนับสนุนไม่เพียงพอ ตามรายงานของเอพี และที่ผ่านมามีการใช้น้อยเพราะราคาแพงและ ในตอนนั้นวงการแพทย์รอคอยผลของการศึกษา "เลเเคเนเเม็บ"อยู่

  • ที่มา: เอพี รอยเตอร์
XS
SM
MD
LG