ลิ้งค์เชื่อมต่อ

การเรียนรู้ภาษาและกิจกรรมท้าทายสมองอาจช่วยชะลออัลไซเมอร์ได้หลายปี


Alzheimer Patient
Alzheimer Patient
Bilingual Alzheimer
please wait

No media source currently available

0:00 0:04:13 0:00

Martha Shade ของ CNN รายงานผลการศึกษาเรื่องโรคอัลไซเมอร์ที่แสดงว่าคนที่พูดสองภาษาหรือเรียนรู้ภาษาอื่นเพิ่มเติมนอกจากภาษาแม่จะมีปัญหาเกี่ยวกับโรคความจำเสื่อมช้ากว่าคนทั่วไปราวห้าปี อย่างไรก็ตามการพูดหลายภาษาเป็นเพียงวิธีหนึ่งของการสร้างสุขภาพสมอง เพราะการสร้างความท้าทายให้กับสมองด้วยวิธีอื่นก็มีความสำคัญไม่น้อยกว่ากัน

ข้อมูลการวิจัยเกี่ยวกับการเรียนรู้ภาษาใหม่หรือการพูดสองภาษากับโรคอัลไซเมอร์นี้มาจากการศึกษาของอาจารย์ Ellen Bialystok จากมหาวิทยาลัย York ในแคนาดาซึ่งระบุว่าคนที่ใช้สองภาษาจะมีอาการของโรคอัลไซเมอร์ช้ากว่าคนที่พูดภาษาเดียวราว 4-5 ปี และว่าเรื่องนี้ไม่น่าแปลกใจเพราะยิ่งเราใช้ภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาแม่มากเท่าไหร่ก็จะช่วยเรื่องการเชื่อมต่อและการสร้างเซลล์ประสาทขึ้นใหม่ตามไปด้วย

และเรื่องนี้ก็จะมีประโยชน์สำหรับผู้ที่ได้รับการศึกษาในระดับต่ำเป็นพิเศษ เพราะการเรียนภาษานั้นดูจะเป็นแหล่งที่มาที่สำคัญเพียงอย่างเดียวสำหรับการกระตุ้นสมองและการใช้ความคิดของคนกลุ่มนี้ โดยอาจารย์ Ellen Bialystok อธิบายว่าผลสำคัญจากการเรียนหรือพูดภาษาที่สองคือทำให้สมองของเรามีสมาธิ มีจุดสนใจและช่วยจัดระบบความคิดและการทำงานของเซลล์สมองนั่นเอง

นักวิจัยของมหาวิทยาลัย York ผู้นี้ยังชี้ด้วยว่ายิ่งเราเริ่มมีประสบการณ์จากการใช้ภาษาที่สองเร็วเท่าใด ได้ใช้นานเท่าไหร่ และใช้มากหรืออย่างเข้มข้นแค่ไหน ผลต่อความเปลี่ยนแปลงของสมองเพื่อช่วยชะลอโรคอัลไซเมอร์ก็จะมากขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องสำคัญที่ควรเข้าใจว่าในกรณีของผู้มีโอกาสจะเป็นโรคอัลไซเมอร์นั้นการพูดหรือเรียนภาษาใหม่ไม่ได้ช่วยป้องกันโรคนี้โดยสิ้นเชิง เพราะดังที่อาจารย์ Tamar Gollan จากศูนย์วิจัยโรคอัลไซเมอร์ของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย นครซานดิเอโกชี้ว่า สมองที่ได้เรียนรู้ภาษาที่สองหรือภาษาที่สามนั้นจะมีความยืดหยุ่นมากกว่าและจะช่วยให้สามารถทำกิจวัตรต่างๆ ต่อไปได้แม้จะมีความเสียหายจากโรคอัลไซเมอร์เกิดขึ้นแล้วก็ตาม

ในขณะที่นักวิจัยกำลังพยามหาคำตอบเพิ่มเติมเรื่องผลดีจากการพูดภาษาที่สองกับสมองนั้น คำถามหนึ่งก็คือเราจะแก่เกินไปที่จะเริ่มเรียนรู้ภาษาใหม่หรือไม่ ซึ่งคำตอบจากอาจารย์ Ellen Bialystok ก็คือแม้ผลที่เห็นได้อาจจะจำกัดกว่าแต่ก็ยังเป็นประโยชน์อย่างสำคัญจากข้อเท็จจริงที่ว่าสมองนั้นก็เหมือนกล้ามเนื้อส่วนอื่น คือหากไม่ได้ใช้อย่างสม่ำเสมอกล้ามเนื้อส่วนนั้นก็อาจจะหดลีบหรือฝ่อไป

แต่การฝึกหรือเรียนรู้ภาษาใหม่ๆ ก็ไม่ใช่วิธีเดียวสำหรับการบริหารสมอง เนื่องจากการหาสิ่งเร้าที่คอยกระตุ้นหรือสร้างความท้าทายให้กับสมอง ไม่ว่าจะเป็นการดูภาพยนตร์ การฟังคอนเสิร์ต การเล่นดนตรี การเข้าสังคม หรือการหากิจกรรมยากๆที่ท้าทายสมองนอกเหนือจากการเล่นเกมอักษรไขว้หรือเกมจิ๊กซอวก็จะมีผลช่วยได้อย่างมากเช่นกัน และแน่นอนที่การออกกำลังกายแบบแอโรบิกซึ่งช่วยให้หัวใจเต้นเร็วเพื่อการสูบฉีดโลหิต การนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ และการทานอาหารที่ดีย่อมมีส่วนช่วยได้อย่างมากด้วย

โดยสรุปก็คือนักวิจัยเกี่ยวกับสมองแนะนำว่าอย่าปล่อยให้สมองของเราอยู่เฉยๆ อย่างเฉื่อยชาและควรหาสิ่งใหม่ๆ ที่ท้าทายป้อนให้กับสมองเป็นประจำ

XS
SM
MD
LG