ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สำรวจ 7 ทางเลือกของปูติน หลังรัสเซียถอยทัพในยูเครน


FILE - Russian President Vladimir Putin chairs a meeting of the State Council Presidium on tourism development, in Vladivostok, Russia, Sept. 6, 2022. (Valeriy Sharifulin/TASS Host Photo Agency/Handout via Reuters)
FILE - Russian President Vladimir Putin chairs a meeting of the State Council Presidium on tourism development, in Vladivostok, Russia, Sept. 6, 2022. (Valeriy Sharifulin/TASS Host Photo Agency/Handout via Reuters)

ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ยูเครนกำลังสร้างความเสียหายอย่างหนักต่อรัสเซีย ด้วยการโจมตีตอบโต้กลับที่ได้ผลอย่างน่าประหลาดใจทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งแรงสะเทือนรุนแรงไปทั่วกองทัพรัสเซีย

ผู้บัญชาการกองทัพยูเครนระบุว่า ทหารยูเครนสามารถยึดหมู่บ้านทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของยูเครนคืนมาจากทหารรัสเซียได้แล้วจำนวนมาก พร้อมกับสามารถขับไล่กองทัพรัสเซียให้ถอยร่นจนประชิดพรมแดน ซึ่งถือเป็นสถานการณ์ที่สร้างความประหลาดใจให้กับบรรดาผู้ติดตามสงครามยูเครนอย่างใกล้ชิด

เคร็ก อัลเบิร์ต ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยออกัสตา (Augusta University) กล่าวว่า "ดูเหมือนจะเป็นความล้มเหลวของกองทัพรัสเซียทั้งด้านการส่งกำลังบำรุง ด้านยุทธศาสตร์และ ยุทธวิธี ทุกอย่างต่างล้มครืนลง แนวหน้าพังทลาย ทหารต่างหนีเอาชีวิตรอดและทิ้งอาวุธ กระสุน และยานพาหนะต่าง ๆ เอาไว้ ซึ่งดูคล้ายกับเป็นการถอยทัพอย่างยุ่งเหยิงไร้การจัดกำลัง"

ลุค คอฟฟีย์ ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันฮัดสัน (Hudson Institute) กล่าวว่า ความสำเร็จของยูเครนบนสนามรบเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สำคัญอย่างยิ่งของสงครามที่ดำเนินมานาน 7 เดือน

"ถือเป็นความก้าวหน้าครั้งใหญ่ของยูเครน ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ชาติตะวันตกกำลังถกเถียงกันเรื่องการจัดส่งความช่วยเหลือทางทหารและด้านมนุษยธรรมเพิ่มเติมให้แก่ยูเครน" ลุค คอฟฟีย์ กล่าว

นักวิเคราะห์จากสถาบันฮัดสันผู้นี้ กล่าวด้วยว่า เมื่อทหารรัสเซียเริ่มโจมตีเป้าหมายที่เป็นของพลเรือน หรือสาธารณูปโภคต่าง ๆ นั่นแสดงให้เห็นถึงความสิ้นหวังของกองทัพรัสเซียที่เริ่มรู้ตัวว่ากำลังพ่ายแพ้ในสมรภูมิ

แม้ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ยังมิได้ออกมาประกาศถึงสถานการณ์การถอยทัพของรัสเซียในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของยูเครนอย่างเป็นทางการ แต่หากข่าวกรองของชาติตะวันตกเป็นความจริง ก็ถือว่าปูตินกำลังเผชิญแรงกดดันอย่างมากจากบรรดาชาวรัสเซียที่มีแนวคิดชาตินิยม

สำนักข่าวรอยเตอร์รวบรวมทางเลือกต่าง ๆ ที่ปธน.ปูติน มีอยู่หากรัสเซียกำลังพลาดท่าในสมรภูมิภาคตะวันออกของยูเครนจริง ซึ่งทุกทางเลือกล้วนมากับความเสี่ยงด้านภูมิศาสตร์การเมือง

1. รีบรวบรวมกำลังและจัดกำลังทัพใหม่เพื่อโหมโจมตีอีกครั้ง

นักวิเคราะห์ด้านการทหารของรัสเซียเชื่อว่า รัสเซียจำเป็นต้องตรึงกำลังทหารที่แนวหน้าโดยเร็ว และอย่าเพิ่งรุกคืบเข้าไปในยูเครน แต่ให้จัดกำลังทัพใหม่รวมทั้งโจมตีตอบโต้ใส่ทางยูเครนทันที

อย่างไรก็ตาม ชาติตะวันตกยังคงสงสัยว่ารัสเซียมีสรรพกำลัง ทั้งจำนวนทหารและอาวุธ เพียงพอที่จะทำเช่นนั้นหรือไม่ เมื่อพิจารณาจากความเสียหายที่เกิดกับกำลังพลและยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ของรัสเซียตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา

นักวิเคราะห์เชื่อว่า ปธน.ปูติน จะต้องตัดสินใจว่าจะปรับเปลี่ยนบรรดานายพลระดับสูงของกองทัพ รวมทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เซอร์เก ชอยกู ที่เป็นบุคคลใกล้ชิด ตามความต้องการของบรรดาผู้ที่มีแนวคิดชาตินิยมหรือไม่ แม้ที่ผ่านมา ปธน.ปูติน มักไม่ค่อยปลดผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างเร่งรีบเมื่อเผชิญแรงกดดันก็ตาม

2. เคลื่อนกำลังสมทบ

ปัจจุบัน รัสเซียมีกำลังพลสำรองราว 2 ล้านคนตลอด 5 ปีที่ผ่านมา และปูตินอาจใช้กำลังพลส่วนนี้เข้าไปสมทบในยูเครน ซึ่งเป็นวิธีที่สามารถทำได้แต่ต้องใช้เวลาในการฝึกฝนและประจำการ

นักวิเคราะห์เชื่อว่าวิธีนี้จะได้รับความนิยมในหมู่สมาชิกกลุ่มชาตินิยม แต่อาจไม่ถูกใจผู้ชายชาวรัสเซียที่อยู่ในเมืองใหญ่ซึ่งไม่ค่อยสนับสนุนการทำสงคราม นอกจากนี้วิธีดังกล่าวยังอาจไม่ตรงกับสิ่งที่ปูตินเรียกว่า "ปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครน" ซึ่งหมายถึงการจำกัดเป้าหมายการโจมตีในสงครามครั้งนี้ แต่จะเป็นการเข้าสู่ "สงครามแบบเต็มรูปแบบ"

ทางด้านรัฐบาลรัสเซียกล่าวในวันอังคารว่า ยังไม่มีการพูดถึง "การเคลื่อนกำลังพลสำรอง" ในตอนนี้

3. อดทนรอ "วิกฤตพลังงาน" ในฤดูหนาว

แหล่งข่าวใกล้ชิดกับรัฐบาลรัสเซีย กล่าวกับรอยเตอร์ว่า ปธน.ปูติน คาดหวังว่าราคาพลังงานที่จะสูงขึ้นในช่วงฤดูหนาว ประกอบกับการขาดแคลนพลังงานในยุโรป จะสร้างความลำบากให้แก่ชาติในยุโรปในการสนับสนุนด้านอาวุธแก่ยูเครน และอาจทำให้ชาติตะวันตกเหล่านั้นพยายามโน้มน้าวให้ยูเครนยอมวางอาวุธในที่สุด

อย่างไรก็ตาม นักการทูตยุโรปบางคนเชื่อว่า ความสำเร็จบนสมรภูมิของยูเครนในช่วงที่ผ่านมาอาจทำให้เป็นเรื่องนากที่สหภาพยุโรปจะโน้มน้าวให้ยูเครนยอมแพ้ได้ในตอนนี้

4. ขยายเป้าหมายการโจมตีด้วยขีปนาวุธ

หลังจากเกิดการล่าถอยในภาคตะวันออกเฉียบเหนือของยูเครน กองทัพรัสเซียได้หันไปใช้วิธีโจมตีด้วยขีปนาวุธใส่เครือข่ายสาธารณูปโภคของยูเครนมากขึ้น ก่อให้เกิดไฟฟ้าดับในหลายพื้นที่ สัญญาณโทรศัพท์และน้ำประปาถูกตัดขาด

วิธีนี้ได้รับการชมเชยจากชาวรัสเซียแนวคิดชาตินิยมที่ต้องการให้กองทัพใช้การโจมตีด้วยขีปนาวุธมากขึ้นต่อเป้าหมายพลเรือนในยูเครน แม้เป็นการกระทำที่ถูกประณามจากประชาคมโลกก็ตาม นอกจากนี้ยังมีเสียงเรียกร้องจากภายในรัสเซียให้ใช้การโจมตีแบบระบุตำแหน่งในกรุงเคียฟและเมืองใหญ่อื่น ๆ ของยูเครนด้วย

5. ยกเลิกหรือลดขนาดข้อตกลงขนส่งธัญพืชจากยูเครน

ที่ผ่านมา ปธน.ปูติน ตำหนิข้อตกลงขนส่งธัญพืชออกจากยูเครนผ่านทางทะเลดำ ว่าไม่เป็นธรรมต่อรัสเซียและประเทศยากจนต่าง ๆ โดยปูตินมีกำหนดหารือกับผู้นำตุรกีในสัปดาห์นี้เพื่อปรับเปลี่ยนข้อตกลงฉบับนี้ที่จะหมดอายุลงในเดือนพฤศจิกายน

นักวิเคราะห์ชี้ว่า ปูตินอาจตัดสินใจยกเลิกหรือไม่ต่ออายุข้อตกลงดังกล่าวเพื่อตัดช่องทางหารายได้ของยูเครน ซึ่งนั่นอาจจะทำให้เกิดเสียงประณามจากทั่วโลกว่าผู้นำรัสเซียเป็นตัวการทำให้วิกฤติอาหารโลกรุนแรงขึ้น

6. จัดทำข้อตกลงสันติภาพ

รัฐบาลรัสเซียเคยระบุว่า เมื่อเวลาเหมาะสม รัสเซียจะเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ให้ยูเครนทำตามเพื่อให้เกิดข้อตกลงสันติภาพขึ้น ในขณะที่ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ยืนยันว่าตนจะใช้กำลังเพื่อปลดปล่อยประเทศจากการยึดครองรัสเซีย ซึ่งรวมถึงแคว้นไครเมียด้วย ซึ่งเป็นจุดยืนที่อาจทำให้ข้อตกลงสันติภาพเกิดขึ้นได้ยาก

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์เชื่อว่า หากรัสเซียยินยอมปลดปล่อยเขตปกครองดอแนตสก์และลูฮันสก์ ในแคว้นดอนบาสทางภาคตะวันออกของยูเครน ซึ่งรัสเซียยอมรับอย่างเป้นทางการว่าเป็น "รัฐปกครองตนเอง" ก็อาจมีความเป็นไปได้ทางการเมืองที่จะนำไปสู่การจัดทำข้อตกลงสันติภาพระหว่างสองประเทศได้

7. นิวเคลียร์

โทนี เบรนตัน อดีตทูตอังกฤษประจำรัสเซีย เตือนว่า ปธน.ปูติน อาจใช้อาวุธนิวเคลียร์จริง ๆ หากรู้สึกว่าตนเองกำลังจนตรอกหรือกำลังพ่ายแพ้อย่างน่าขบขัน

แต่ เบน ฮอดจ์ส อดีตนายพลแห่งกองทัพอากาศสหรัฐฯ เห็นด้วยว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามนิวเคลียร์ขึ้นจริง แต่โอกาสเกิดขึ้นน้อยอย่างยิ่ง เพราะจะไม่มีฝ่ายใดได้เปรียบจากเรื่องนี้ ซึ่งปูตินและคนใกล้ชิดของเขาก็คงไม่อยาก "ฆ่าตัวตาย" หากทำเช่นนั้น

ที่ผ่านมา รัสเซียปฏิเสธข้อกล่าวหาจากชาติตะวันตกว่าอาจนำอาวุธนิวเคลียร์ไปใช้ในยูเครน ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงจะทำให้มีผู้เสียชีวิตในวงกว้าง และจะทำให้สหรัฐฯ และชาติตะวันตกต้องกระโจนเข้าสู่สงครามกับรัสเซียโดยตรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

  • ที่มา: รอยเตอร์

XS
SM
MD
LG