ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ประเทศในอินโด-แปซิฟิก คงสมดุลสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ บนความตึงเครียดสองมหาอำนาจ


ประเทศในอินโด-แปซิฟิก คงสมดุลสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ บนความตึงเครียดสองมหาอำนาจ

ในช่วงสองสัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคม ทหารกว่า 5,000 นาย จาก 14 ประเทศ รวมถึงสหรัฐฯ และอินโดนีเซีย ได้เข้าร่วมการซ้อมรบ ‘Super Garuda Shield’ ที่จัดขึ้นในอินโดนีเซีย ซึ่งสหรัฐฯ ระบุว่า การซ้อมรบประจำปีครั้งนี้ เป็นหนึ่งในการซ้อมรบร่วมระหว่างประเทศครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

หลังการซ้อมรบดังกล่าวเกิดขึ้น สื่อทางการจีน ได้วิจารณ์การขยายการซ้อมรบครั้งนี้ และกล่าวหาสหรัฐฯ ว่าพยายามสร้างพันธมิตรคล้ายกับนาโต ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

การซ้อมรบระหว่างประเทศหลายต่อหลายครั้งในภูมิภาคนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีน สืบเนื่องจากกรณีที่ ส.ส.แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เดินทางเยือนไต้หวันเมื่อต้นเดือนสิงหาคม

ไบรอัน ฮาร์ดิง จากสถาบัน United States Institute of Peace ในกรุงวอชิงตัน ให้ทัศนะกับวีโอเอว่า “การซ้อมรบต่าง ๆ โดยเฉพาะการซ้อมรบระหว่างประเทศที่มีความซับซ้อนอย่าง Garuda Shield ที่เป็นการซ้อมรบร่วมระหว่างสองประเทศหรือมากกว่านั้น ใช้เวลายาวนานในการวางแผน ดังนั้นจึงถือได้ว่าเป็นเหตุบังเอิญที่การซ้อมรบเหล่านี้เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตช่องแคบไต้หวัน”

การซ้อมรบในภูมิภาคนี้ท่ามกลางวิกฤตช่องแคบไต้หวัน เกิดขึ้นในสามพิกัด รวมถึง Riau Islands ซึ่งอยู่ใกล้กับเส้นแบ่งเขตแดนตามแผนที่โบราณของจีน ที่เรียกว่า ‘Nine-Dash-Line’ ที่รัฐบาลจีนขีดเส้นโดยอ้างอิงเอกสารประวัติศาสตร์ เพื่อทำให้จีนอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่หลายพิกัดในภูมิภาคนี้ได้ แต่เส้นแบ่งดังกล่าวไม่ได้รับการรับรองภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศแต่อย่างใด

นักวิเคราะห์มองว่า อินโดนีเซียและอีกหลายประเทศในภูมิภาคนี้ ต่างตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเอาใจจีน คู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของกลุ่มประเทศเหล่านี้ ในขณะที่ต้องยกระดับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ที่เรียกร้องความเป็นเสรีและเปิดกว้างของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

กรณีของอินโดนีเซียยังสามารถรักษาสัมพันธ์ระหว่างสองมหาอำนาจนี้ไว้ได้ยาวนาน จากที่อินโดนีเซียดำเนินนโยบายต่างประเทศ ‘Free and Active’ มาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น ที่มีจุดยืนเป็นกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด

อากุส วิดโจโจ อดีตผู้อำนวยการสถาบัน National Resilience Institute ของอินโดนีเซีย เปิดเผยกับวีโอเอว่า “การตีความนโยบายการต่างประเทศนี้คือ อินโดนีเซียสามารถตัดสินใจในการแสวงหาผลประโยชน์ของชาติขณะที่มีความรับผิดชอบต่อการสร้างสันติภาพของโลก”

แม้ว่าอินโดนีเซียจะพยายามหลีกเลี่ยงการเข้าร่วมพันธมิตรด้านการทหารอย่างเป็นทางการกับสหรัฐฯ แต่ก็ถูกล้อมรอบด้วยการรวมกลุ่มด้านความมั่นคงระหว่างประเทศมากมายที่สหรัฐฯ มีบทบาท อาทิ จตุภาคี Quad ที่เป็นความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย และกลุ่มความร่วมมือ AUKUS ซึ่งประกอบด้วยสหรัฐฯ อังกฤษ และออสเตรเลีย

ยิ่งไปกว่านั้น สหรัฐฯ เองได้จัดการซ้อมรบร่วมกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค อาทิ Balikatan กับฟิลิปปินส์ Cobra Gold กับประเทศไทย และ Talisman Sabre กับออสเตรเลีย รวมทั้งการซ้อมรบทางทะเลครั้งใหญ่ที่สุดในแถบเอเชียแปซิฟิก RIMPAC ที่สหรัฐฯ ไม่เชิญจีนเข้าร่วมการซ้อมรบนี้เมื่อปี 2018 โดยให้เหตุผลว่าพฤติกรรมของจีนที่สั่นคลอนความมั่นคงในทะเลจีนใต้

โจ เฟลเตอร์ จาก The Gordian Knot Center for National Security Innovation เปิดเผยกับวีโอเอว่า “การรวมกลุ่มด้านความมั่นคงเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นทางการหรือไม่ทางการก็ตาม เป็นการรับรองว่าประเทศในภูมิภาคนี้มีผลประโยชน์ ค่านิยม และวิสัยทัศน์ร่วมกัน สำหรับอนาคตของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง”

ที่ผ่านมา คณะทำงานของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ทุ่มเทอย่างมากกับความมั่นคงในภูมิภาคนี้ โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีก่อน ทำเนียบขาวได้อนุมัติการขายอาวุธมูลค่าเกือบ 14,000 ล้านดอลลาร์ให้กับอินโดนีเซีย รวมทั้ง เครื่องบินรบ F-15 จำนวน 36 ลำ เพื่อแสดงการสนับสนุนนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ และเป้าหมายด้านความมั่นคงในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

  • ที่มา: วีโอเอ
XS
SM
MD
LG