ลิ้งค์เชื่อมต่อ

งานวิจัยเผย ผู้ป่วยมะเร็งบางคนเลี่ยงฉายรังสีหรือเคมีบำบัดได้


การศึกษาสองฉบับที่ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับวิธีการรักษาโรคมะเร็งระบุว่า หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยมะเร็งโรคบางรายสามารถเลี่ยงการฉายรังสีหรือเคมีบำบัดได้อย่างปลอดภัย

ทั้งนี้ นักวิจัยกำลังมองหาวิธีที่จะระบุชี้ได้อย่างแม่นยำว่า ผู้ป่วยโรคมะเร็งคนไหนสามารถหลีกเลี่ยงการรักษาที่ไม่จำเป็น เพื่อลดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายและค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น

การศึกษาใหม่ฉบับหนึ่งใช้วิธีการตรวจเลือดเพื่อระบุว่าผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่คนไหนสามารถเลี่ยงการรักษาด้วยวิธีเคมีบำบัดได้หลังการผ่าตัด ส่วนการศึกษาอีกฉบับหนึ่งชี้ว่า ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีความเสี่ยงต่ำบางรายสามารถงดเว้นการฉายรังสีหลังการตัดก้อนเนื้อทิ้งได้

งานวิจัยดังกล่าวนี้ได้ถูกนำไปหารือในการประชุมประจำปีของสมาคม American Society of Clinical Oncology ที่นครชิคาโก และการศึกษาเรื่องโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลและกลุ่มองค์กรไม่แสวงหากำไรของออสเตรเลียและสหรัฐฯ ถูกตีพิมพ์อยู่ในวารสาร New England Journal of Medicine ฉบับเมื่อเร็ว ๆ นี้

แพทย์หญิงสเตซี่ โคเฮน (Stacey Cohen) จากศูนย์มะเร็ง Fred Hutchinson Cancer Center ในนครซีแอตเทิล ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบผลการศึกษาเรื่องโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ กล่าวว่า การค้นพบนี้อาจช่วยให้แพทย์มุ่งให้ความสำคัญกับผู้ป่วยที่คิดว่าจะได้รับประโยชน์อย่างแท้จริงจากการทำเคมีบำบัด และหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงสำหรับผู้ป่วยที่อาจไม่จำเป็นต้องรับการรักษาด้วยวิธีนี้

มะเร็งลำไส้ใหญ่

มีผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่จำนวนมากที่เข้ารับการรักษาด้วยวิธีเคมีบำบัดหลังการผ่าตัด แม้ว่าคนเหล่านั้นอาจจะหายขาดแล้ว แต่ยาเหล่านั้นอาจมีผลข้างเคียงต่าง ๆ มากมาย เช่น อาการคลื่นไส้ โรคโลหิตจาง และปัญหาเรื่องความจำ เป็นต้น

แต่การที่จะระบุว่าผู้ป่วยคนไหนที่อาจไม่จำเป็นต้องรับการรักษาเพิ่มเติมนั้นเป็นเรื่องยาก โดยนักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาเพื่อดูว่าการตรวจเลือดจะช่วยชี้บอกในเรื่องนี้ได้หรือไม่

นักวิจัยได้ทำการศึกษาผู้ป่วย 455 รายที่ได้รับการผ่าตัดเนื่องจากเชื้อมะเร็งได้แพร่กระจายเข้าไปในผนังลำไส้ ภายหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งได้รับการตรวจเลือด เพื่อตรวจหา DNA ของมะเร็งที่ยังหลงเหลืออยู่

วิธีการรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้จะขึ้นอยู่กับผลของการตรวจเลือด กล่าวคือ หากไม่มีสัญญาณของเชื้อมะเร็งที่ยังเหลืออยู่ ผู้ป่วยจะไม่ต้องเข้ารับเคมีบำบัด ในขณะเดียวกัน แพทย์ตัดสินใจทำเคมีบำบัดตามปกติให้กับผู้ป่วยที่ยังมีเชื้อมะเร็งอยู่ ตามผลจากการวิเคราะห์เนื้องอกและเนื้อเยื่อในบริเวณใกล้เคียง

แพทย์หญิงจีนน์ ไท จากศูนย์มะเร็ง Peter MacCallum ที่เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นหัวหน้าการศึกษาวิจัยนี้ กล่าวว่า สำหรับในผู้ป่วยที่ตรวจไม่พบ DNA ของมะเร็งหลังการผ่าตัด โอกาสที่เชื้อมะเร็งจะกลับมาอีกมีน้อยมาก ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการทำเคมีบำบัดไม่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยเหล่านี้มากนัก

ทางด้านนายแพทย์เอเวอเร็ตต์ โวคส์ (Everette Vokes) ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็งที่ศีรษะ คอและปอด แห่งมหาวิทยาลัย University of Chicago Medicine กล่าวว่า การงดเว้นการทำคีโมทำให้เกิดความแตกต่างอย่างมากในคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย หากสามารถทำได้โดยที่ไม่ต้องเสี่ยงกับการกลับมาเป็นซ้ำอีก

มะเร็งเต้านม

การศึกษาอีกฉบับหนึ่งที่ติดตามหญิงสูงวัยมากกว่า 500 คนที่เป็นมะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้นและมีโปรตีน Ki67 ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ถึงเชื้อมะเร็งที่เติบโตอย่างรวดเร็วในระดับต่ำ

หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยหญิงเหล่านี้ใช้ยาปิดกั้นฮอร์โมน ซึ่งเป็นวิธีการรักษาแบบมาตรฐานสำหรับโรคมะเร็งชนิดนี้ แต่ไม่ได้รับการรักษาด้วยการฉายรังสี

หลังจากที่ผ่านไป 5 ปี ผู้ป่วยหญิง 10 คนพบว่าเชื้อมะเร็งกลับมาที่เต้านมข้างเดิม และมีผู้ป่วยที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งชนิดนี้ 1 ราย

นายแพทย์ทิโมธี วีแลน (Timothy Whelan) แห่งมหาวิทยาลัย McMaster University ในเมืองแฮมิลตัน รัฐออนแทรีโอ หัวหน้าการศึกษานี้ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิมะเร็งเต้านมแห่งแคนาดาและสมาคมมะเร็งแคนาดา กล่าวว่า เมื่อประเมินดูแล้วประโยชน์ของรังสีจะน้อยมากในผู้ป่วยกลุ่มนี้เมื่อเทียบกับผลข้างเคียง โดยการฉายรังสีนั้นอาจทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับผิวหนัง เหนื่อยล้า และมีปัญหาเรื่องหัวใจในระยะยาว และอาจกลับมาเป็นมะเร็งอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี การศึกษานี้เป็นเรื่องดีสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งที่มีความเสี่ยงต่ำ และจะช่วยให้แพทย์เข้าใจว่าผู้ป่วยคนไหนที่จะสามารถงดเว้นการฉายรังสีได้อย่างสบายใจ

  • ที่มา: เอพี
XS
SM
MD
LG