ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิจัยระบุ 'โพรงในอัญมณีสีแดงจากไทย' อาจเกิดจากจุลินทรีย์


This image shows a garnet crystal with distinct tubular structures. (Photo courtesy of Ivarsson et al, 2018)
This image shows a garnet crystal with distinct tubular structures. (Photo courtesy of Ivarsson et al, 2018)

ผลการศึกษาชิ้นล่าสุดค้นพบว่า จุลินทรีย์อาศัยอยู่ในโพรงเล็กๆ ภายในอัญมณีสีเเดงจากประเทศไทย โดยชี้ว่า คราบของกรดไขมันที่พบในโพรงเหล่านี้เกิดจากจุลินทรีย์เเละเป็นตัวทำให้เกิดโพรงในอัญมณี

อาจารย์เเม็คนาส อิวาร์สสัน (Magnus Ivarsson) หัวหน้าทีมนักวิจัยที่ศึกษาเรื่องนี้ แห่งมหาวิทยาลัยเซาธ์เทิร์น เดนมาร์ก (University of Southern Denmark) กล่าวว่า การวิจัยนี้เริ่มต้นขึ้นหลังจากมีนักศึกษาเเลกเปลี่ยนชาวไทยคนหนึ่งที่กำลังศึกษาคุณภาพของโกเมน เเละนักศึกษาหญิงชาวไทยคนนี้ค้นพบว่า โพรงต่างๆ ในอัญมณีสีเเดงที่ผิดไปจากปกติ เพราะขยายออกไปเเละเปลี่ยนทิศทาง ต่างจากโพรงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อม

นักศึกษาคนดังกล่าวได้ขอรับคำปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้จากอาจารย์อิวาร์สสัน ซึ่งระบุว่า ตอนเเรกที่ได้เห็นโครงสร้างของโพรงเหล่านี้ในอัญมณีสีเเดง ตนเองรู้สึกสงสัยในความซับซ้อนของโพรงเหล่านี้

อิวาร์สสันกล่าวว่า ตนเองเคยศึกษาจุลินทรีย์ที่อาศัยในแร่และในวัสดุอื่นๆ มาก่อนหน้านี้ เเต่ไม่เคยเห็นโพรงในอัญมณีที่มีความซับซ้อนในระดับนี้เลย

อัญมณีสีแดงถือเป็นอัญมณีที่มีเนื้อเเข็งที่สุดในขณะนี้ที่เป็นที่อยู่ของจุลินทรีย์ แต่เขาบอกว่าใครจะรู้ว่าจะค้นพบอะไรต่อไป เเม้เเต่เพชรอาจจะเป็นที่อยู่ของจุลินทรีย์ก็ได้

ทีมนักวิจัยต้องใช้เทคโนโลยีหลายอย่างในการศึกษาก่อนจะสรุปผลการศึกษาดังกล่าว อันดับเเรก ทีมงานได้ใช้กล้องจุลทรรศน์เพื่อจัดทำแผนที่สามมิติของโพรงต่างๆ ในอัญมณีที่มีขนาดเล็กในระดับไมครอน

ทีมนักวิทยาศาสตร์เน้นศึกษาว่า โพรงในอัญมณีสีแดงแตกเเขนงออกไปอย่างไร เปลี่ยนทิศทางอย่างไรเมื่อโพรงต่างๆ มาประจบกัน แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงทางสภาพสิ่งเเวดล้อมจะทำให้เกิดรอยแตกในอัญมณีเนื้อเเข็ง และขั้นตอนที่สอง ทีมนักวิจัยใช้การวิเคราะห์ภายในโพรงเพื่อพิสูจน์ว่าเป็นไปได้มากที่สุดที่จุลินทรีย์เป็นตัวสร้างโพรงในอัญมณี

อิวาร์สสันกล่าวว่า วัสดุอินทรีย์ที่พบชี้ว่าเคยมีสิ่งมีชีวิตอาศัยในโพรงอัญมณี โดยเฉพาะเมื่อทีมงานค้นพบคราบกรดไขมันซึ่งเป็นส่วนประกอบทางอินทรีย์ที่พบทั่วไปในเชื้อเเบคทีเรียเเละเชื้อรา

อิวาร์สสันเเละทีมงานเปรียบเทียบร่องรอยทางชีววิทยานี้ กับ ฮีมาไทต์หรือเเร่เหล็กเเดงกับหินควอตซ์ที่พบในจุดเดียวกับที่พบอัญมณีสีแดง คือในตะกอนเเม่น้ำในลำน้ำสายหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ เเร่ทั้งสองชนิดที่นำมาเปรียบเทียบไม่มีคราบของกรดไขมันอยู่เเต่อย่างใด ทำให้เชื่อว่าหลักฐานทางชีววิทยานี้พบเฉพาะในโพรงของอัญมณีสีเเดงเท่านั้น

เชน แม็คคลิวร์ (Shane McClure) ผู้อำนวยการระดับโลกด้านอัญมณีแห่งสถาบันอัญมณีวิทยาแห่งอเมริกา (Gemological Institute of America) กล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่า หากอัญมณีมีโพรงหนึ่งหรือสองโพรงและเป็นโพรงขนาดเล็ก ก็จะไม่มีผลต่อมูลค่าของอัญมณี แต่หากมีจำนวนโพรงมากกว่านั้นและมองเห็นได้ชัดเจน มูลค่าของอัญมณีชิ้นนั้นก็จะลดลงอย่างมาก

แม้ว่าอัญมณีสีแดงที่มีโพรงอยู่ภายในจำนวนมากอาจไม่สามารถนำไปผลิตเป็นเครื่องประดับราคาแพงได้ แต่ก็เป็นสิ่งที่ช่วยบ่งชี้ได้ว่าจุลินทรีย์สามารถอยู่อาศัยได้ในจุดที่เราคาดไม่ถึง

(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)

XS
SM
MD
LG