จากซิดนีย์ถึงปารีส .. ทั่วโลกรวมใจเป็นหนึ่งเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมให้ “จอร์จ ฟลอยด์”

Thousands of people take part in a demonstration in The Hague, Netherlands, Tuesday, June 2, 2020, to protest against the recent killing of George Floyd, police violence and institutionalized racism. Floyd, a black man, died in police custody in…

ผู้ประท้วงจากทั่วทุกมุมโลก ออกมาเดินขบวนเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับการใช้ความรุนแรงของตำรวจอเมริกัน กับนายจอร์จ ฟลอยด์ ผู้ล่วงลับ ตามรายงานของ Associated Press

ผู้ชุมนุมหลายพันชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวหลากหลายเชื้อชาติในกรุงปารีส ตะโกนกู่ร้อง พร้อมถือป้าย “คนผิวสีก็มีค่า” เดินขบวนทั่วกรุงสวนมาตรการห้ามชุมนุมของทางการฝรั่งเศสในวันอังคาร เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับจอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวสีชาวอเมริกันที่เสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวโดยตำรวจผิวขาวในมินนีอาโปลิส รัฐมินนิโซตาเมื่อ 25 พฤษภาคม โดยผู้ประท้วงในฝรั่งเศสเดินขบวนไปตามที่ทำการศาลสูงในกรุงปารีส และการชุมนุมเป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย

ส่วนที่ออสเตรเลีย ผู้ประท้วงที่นครซิดนีย์ราว 3,000 คน พร้อมใจตะโกนคำว่า I can't breathe หรือ ฉันหายใจไม่ออก เช่นเดียวกับการประท้วงของผู้คนในเมืองศาลโลก ที่กรุงเฮก ของเนเธอร์แลนด์ และมีการชุมนุมของชาวอิสราเอลนับร้อยคนในเทล อาวีฟ ด้วยเป้าประสงค์เดียวกัน ส่วนชาวสวีเดนและอีกหลายพื้นที่ทั่วโลกออกมาเคลื่อนไหวผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ ภายใต้แฮชแทค #BlackOutTuesday

การเสียชีวิตของชายผิวสีอเมริกันที่สะเทือนโลกในครั้งนี้ จากประโยคในวาระสุดท้าย I can't breathe ได้สะท้อนถึงปัญหาความอยุติธรรมต่อคนผิวสีทั่วโลก เพราะเหตุการณ์นี้คล้ายกับกรณีที่ชายผิวสี อาดามา ทราโอเร ชาวฝรั่งเศสเชื้อสายเสียชีวิตระหว่างถูกจับกุมโดยตำรวจฝรั่งเศสเมื่อปี 2016 และ I can't breathe คือประโยคสุดท้ายที่เขากล่าวก่อนสิ้นใจ ได้สร้างแรงกระเพื่อมถึงการใช้ความรุนแรงของตำรวจในแดนน้ำหอม และในออสเตรเลียนายเดวิด ดันเก้ ชายเชื้อสายอะบอริจิน ที่เสียชีวิตในเรือนจำที่นครซิดนีย์ เมื่อปี 2015 ระหว่างถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว ก็สิ้นใจด้วยประโยคฉันหายใจไม่ออกนี้ด้วยเช่นกัน

ด้านหัวหน้าฝ่ายนโยบายของสหภาพยุโรป โจเซป บอร์เรล ออกแถลงการณ์ในกรุงบรัสเซลส์ ว่าการตายของนายจอร์จ ฟลอยด์ เป็นผลลัพธ์ของการใช้อำนาจโดยมิชอบ และสนับสนุนการชุมนุมโดยสันติในสหภาพยุโรป รวมทั้งประณามการใช้ความรุนแรงและการเหยียดชาติพันธุ์ในทุกรูปแบบ ส่วนรัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี ยืนยันว่าการประท้วงโดยสันติในสหรัฐฯ จากการเสียชีวิตของนายจอร์จ ฟลอยด์ เป็นสิ่งที่เข้าใจได้และเหมาะสม

ฝรั่งผู้นำในกลุ่มประเทศในแอฟริกา ออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นนี้ด้วยเช่นกัน โดยประธานาธิบดีกานา นานา อาคูโฟ-แอดโด ออกแถลงการณ์ว่า นี่เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่งที่อเมริกาในศตวรรษที่ 21 ยังคงประสบปัญหาการเหยียดเชื้อชาติอยู่เช่นนี้ ส่วนอดีตนายกรัฐมนตรีเคนยา ไรลา โอดินกา ขอส่งกำลังใจให้ชาวอเมริกัน และว่าจะมีความยุติธรรมและเสรีภาพให้กับผู้คนทุกเชื้อชาติในอเมริกา และว่าปัญหานี้ยังดำเนินอยู่ในแอฟริกาด้วยเช่นกัน