องค์กรปกป้องผู้สื่อข่าวเผยปีนี้มีนักข่าวถูกสังหารน้อยลง... แต่ภัยคุกคามเสรีภาพสื่อยังเพิ่มขึ้น!

Your browser doesn’t support HTML5

Journalist Deaths

หน่วยงานไม่แสวงหาผลกำไร Committee to Protect Journalists ระบุว่าปี ค.ศ. 2016 แม้เป็นปีที่มีผู้สื่อข่าวถูกสังหารเสียชีวิตน้อยกว่าปีที่แล้ว แต่ดูเหมือนภัยคุกคามต่อผู้สื่อข่าวทั่วโลกยังไม่ลดลง โดยหนึ่งในผู้สื่อข่าวที่เสียชีวิตในช่วงปีที่ผ่านมา มีผู้สื่อข่าวของ Voice of America รวมอยู่ด้วย

เมื่อช่วงต้นปี ค.ศ. 2016 นี้ VOA หรือ Voice of America ได้สูญเสียผู้สื่อข่าวไปหนึ่งคน หลังจากนักข่าวอิสระ Almigdad Mojalli ถูกสังหารจากการโจมตีทางอากาศของกองทัพซาอุดิอาระเบีย ขณะกำลังรายงานข่าวให้กับ VOA เรื่องผลกระทบของสงครามในเยเมนต่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

Mojalli คือหนึ่งในผู้สื่อข่าว 48 คนจากทั่วโลกที่ถูกสังหารเสียชีวิตในปีนี้ ไม่ว่าจะจากการฆาตกรรม การโจมตี หรือการตกอยู่ท่ามกลางการต่อสู้ระหว่างสองฝ่าย ตลอดจนความพยายามรายงานข่าวแบบเสี่ยงอันตราย

Almigdad Mojalli conducts an interview, Jan., 2015.

คุณ Courtney Radsch ผู้อำนวยการของหน่วยงานไม่แสวงหาผลกำไร Committee to Protect Journalists (CPJ) กล่าวว่า ตัวเลขผู้สื่อข่าวที่ถูกสังหารเสียชีวิตทั่วโลก ได้ลดลงจากปีที่แล้ว แต่คำถามที่ยังต้องหาคำตอบคืออะไรคือสาเหตุของเรื่องนี้

ผู้อำนวยการของ CPJ บอกว่าประเด็นหนึ่งที่อาจต้องนำไปพิจารณาคือ มีผู้สื่อข่าวเข้าไปในพื้นที่ที่เกิดสงครามหรือความขัดแย้งน้อยลง เนื่องจากมีอันตรายมากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบตะวันออกกลาง

CPJ ระบุว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้สื่อข่าวที่เสียชีวิตเมื่อปีที่แล้ว ปฏิบัติงานอยู่ในซีเรีย เยเมน และอิรัก โดยเฉพาะแค่ซีเรียนั้นมีผู้สื่อข่าวเสียชีวิตจากการทำงานถึง 14 คน ซึ่งมากที่สุดเป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน

นอกจากการเสียชีวิตของผู้สื่อข่าวในพื้นที่ที่เกิดความขัดแย้งแล้ว ยังมีผู้สื่อข่าวจำนวนมากที่ข่มขู่คุกคาม จับกุมคุมขัง หรือถูกควบคุมการรายงานข่าวอย่างเข้มงวด

คุณ Courtney Radsch จาก CPJ กล่าวว่า ประเทศตุรกีคือประเทศที่มีการคุกคามและคุมขังผู้สื่อข่าวมากที่สุด กล่าวคือมีการจับกุมคุมขังนักข่าวเกือบ 1 ใน 3 ของนักข่าวที่ถูกคุมขังทั่วโลก

FILE - Demonstrators shout slogans during a protest against the arrest of three prominent activists for press freedom, in central Istanbul, Turkey, June 21, 2016.

ขณะที่ศาสตราจารย์ด้านสื่อสารมวลชน Steve Reymer ชี้ว่ารัฐบาลหลายประเทศ เช่น รัสเซีย ได้ใช้แนวทางอื่นๆ รวมทั้งการใช้กฎหมาย ในการควบคุมนักข่าวเพื่อไม่ให้รายงานสิ่งที่รัฐบาลไม่ต้องการ โดยไม่ต้องมีการสังหารเพื่อปิดปากนักข่าวอีกต่อไป

ศาสตราจารย์ Reymer ระบุว่าไม่มีการสังหารนักข่าวในรัสเซียมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2013 หลังจากที่รัฐบาลกรุงมอสโคเปลี่ยนไปใช้กฎหมายในการควบคุมและปิดปากสื่อมวลชนแทน

Committee to Protect Journalists หรือ CPJ ยังพบด้วยว่า 9 ใน 10 ของผู้สื่อข่าวที่ถูกสังหารนั้นเป็นผู้สื่อข่าวในประเทศนั้นๆ ไม่ใช่ผู้สื่อข่าวต่างชาติ ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นมาตลอดตั้งแต่อดีต

และองค์กรทางการเมือง รวมทั้งกลุ่มรัฐอิสลาม คือผู้ที่รับผิดชอบต่อการสังหารผู้สื่อข่าวมากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวน 48 คนที่เสียชีวิตเมื่อหนึ่งปีที่ผ่านมา

(ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียงรายงานจากผู้สื่อข่าว Ramon Taylor )