เลือดสดๆ เคล้ารสแห่งมิตรภาพ: ส่องชีวิตสังคม 'ค้างคาวแวมไพร์'

FILE - A vampire bat is caught in a net in Aracy, in the northeast Amazon state of Para, Brazil, Dec. 1, 2005.

เมื่อเรานึกถึงค้างคาวแวมไพร์ หรือ ค้างคาวดูดเลือด หลายคนคงขยาดจากการที่พวกมันกินเลือดเป็นอาหาร และอาจจินตนาการไม่ออกว่าสัตว์ชนิดนี้จะมีพฤติกรรมด้านสังคมอย่างไร แต่ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบการก่อตัวของมิตรภาพของค้างคาวชนิดนี้ว่าเข้มข้นพอๆกับเลือดที่พวกมันกินเสียอีก

Your browser doesn’t support HTML5

Vampire Bat


แบทแมน หรือ มนุษย์ค้างคาว ยังมีโรบินเป็นเพื่อนคู่ใจ แล้วทำไมค้างคาวแวมไพร์ (vampire bat) หรือ ค้างคาวดูดเลือด จะมีเพื่อนแท้จริงๆ ไม่ได้?

การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร PLoS Biology เมื่อเดือนกันยายน พบว่า ค้างคาวแวมไพร์ ก่อร่างสร้างความสัมพันธ์กับค้างคาวตัวอื่นๆ และออกหากินกับเพื่อนฝูงของพวกมันด้วย

ทีมนักวิทยาศาสตร์ ติดอุปกรณ์ขนาดเล็กที่ค้างคาวแวมไพร์ 50 ตัว เพื่อติดตามเส้นทางการการบินหาอาหารของค้างคาวในยามค่ำคืนที่ปานามา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่กินเลือดเป็นอาหารเพื่อยังชีพชนิดนี้จะออกหากิน

ในการศึกษานี้ยังมีค้างคาวเพศเมีย ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่ามีระดับความผูกพันทางสังคมที่แข็งแกร่งมากกว่าค้างคาวเพศผู้ อีกทั้งยังมีค้างคาว 23 ตัว จากทั้งหมด 50 ตัวที่เกิดตามธรรมชาติ แต่ถูกกักตัวไว้ประมาณ 2 ปีในช่วงการศึกษาพฤติกรรมทางสังคมของสัตว์ชนิดนี้

ทีมวิจัยพบว่า เมื่อปล่อยค้างคาวทั้งหมดออกไปสู่ธรรมชาติ พวกมันมักจะกลับมาหา “เพื่อน” ในระหว่างที่ออกหาอาหาร และมีความเป็นไปได้ที่พวกมันจะร่วมกันออกล่าหาอาหาร คือเลือดจากเหยื่อด้วย

ความผูกพันทางสังคมระหว่างค้างคาวแวมไพร์นั้น ก่อตัวขึ้นระหว่างการไปนอนค้างอ้างแรมของค้างคาวตามต้นไม้ ซึ่งจะเห็นได้จากการที่พวกมันคอยดูแลกันและกัน รวมทั้งแบ่งปันอาหารด้วยการสำรอกเลือดที่หามาได้ให้กับเพื่อนฝูง

โดยการศึกษาแสดงให้เห็นว่า ความผูกพันทางสังคมที่ก่อตัวจากการห้อยหัวค้างแรมตามต้นไม้ ได้พัฒนามาเป็นการร่วมออกล่าด้วยกัน

เจอรัลด์ คาร์เตอร์ (Gerald Carter) นักนิเวศวิทยาเชิงพฤติกรรม จากมหาวิทยาลัย Ohio State University และสถาบัน Smithsonian Tropical Research Institute หัวหน้าการวิจัยมิตรภาพของค้างคาวดูดเลือด อธิบายว่า การศึกษานี้ได้เปิดหน้าต่างด้านชีวิตสังคมของค้างคาวแวมไพร์อันน่าตื่นตาตื่นใจอย่างมาก อีกทั้งค้างคาวแต่ละตัวจะยังรักษา “เครือข่ายทางสังคม” ที่มีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างกัน

ทีมวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า ค้างคาวแวมไพร์ ซึ่งไม่ได้เริ่มออกบินหาอาหารพร้อมกับเพื่อนฝูง แต่เชื่อมสัมพันธ์กันระหว่างการออกล่า อาจจะจำเสียงของเพื่อนค้างคาวด้วยกันได้ เพราะมีผลประโยชน์ร่วมกัน ทีมนักวิทยาศาสตร์ในการศึกษานี้ ตั้งสมมติฐานว่า ค้างคาวแวมไพร์อาจแลกเปลี่ยนข้อมูลพิกัดของเหยื่อ หรือชี้เป้าบาดแผลของเหยื่อเพื่อให้เพื่อนตามไปดูดเลือด

ค้างคาวแวมไพร์ มีพื้นเพอาศัยในพื้นที่เขตอบอุ่นในแถบละตินอเมริกา และมีปีกกว้างราว 18 เซนติเมตร เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมเพียงชนิดเดียวที่บริโภคเลือดเป็นอาหารประทังชีวิต ค้างคาวชนิดนี้อาศัยอยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมากๆ ตั้งแต่หลักสิบไปจนถึงหลักพันตัว

ไซมอน ริปเปอร์เกอร์ (Simon Ripperger) นักวิจัยจากสถาบัน Smithsonian Tropical Research Institute ผู้ร่วมเขียนงานวิจัยนี้ บอกว่า ปฏิกิริยาแรกๆของคนเราต่อค้างคาวแวมไพร์ มักรู้สึกว่านี่เป็นสัตว์ที่น่ากลัว แต่เมื่อได้อธิบายถึงความสัมพันธ์ทางสังคมอันซับซ้อนของค้างคาวชนิดนี้ ผู้คนต่างประหลาดใจและเห็นว่าเป็นพฤติกรรมที่คล้ายคลึงกับมนุษย์เรา และคาดว่าค้างคาวชนิดอื่นๆอาจมีรูปแบบความสัมพันธ์ทางสังคมเช่นนี้เหมือนกัน

ริปเปอร์เกอร์ เรียกค้างคาวแวมไพร์ว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่น่าอัศจรรย์ ในหลายเหตุผลด้วยกัน นอกเหนือจากมิติความสัมพันธ์ทางสังคมและการกินเลือดเป็นอาหารเพียงอย่างเดียวแล้ว ค้างคาวแวมไพร์ยังมีความพิเศษคือเป็นสัตว์ที่บินได้เร็วซึ่งหลายคนอาจนึกไม่ถึง และล่าเหยื่อจากพื้นดินด้วยการใช้ฟันอันแหลมคมกัดเหยื่อให้เป็นแผลเปิดและกินเลือดเหยื่อ

นอกจากนี้ พวกมันมีระบบเซนเซอร์ตรวจจับความร้อนที่ช่วยหาพิกัดเพื่อการดูดเลือดเหยื่อ อีกทั้งมีโปรตีนในน้ำลายค้างคาวที่ป้องกันการแข็งตัวของเลือด ซึ่งมนุษย์นำมาใช้ในการแพทย์เพื่อป้องกันภาวะลิ่มเลือดอุดตันสำหรับผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง

อย่างไรก็ตาม ผู้ร่วมเขียนงานวิจัยนี้ เตือนว่า แม้ว่าอสูรแห่งรัตติกาล อย่างค้างคาวแวมไพร์ จะเป็นสัตว์ที่น่าสนใจ แต่ยังมีเหตุผลที่เราต้องหวาดกลัวอยู่บ้าง เพราะพวกมันสามารถแพร่เชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าให้กับสัตว์ต่างๆ รวมทั้งกับมนุษย์ด้วย

แต่โดยรวมแล้วมนุษย์เรายังสามารถชื่นชมความสวยงามและน่าทึ่งของค้างคาวแวมไพร์นี้ได้เหมือนกับสัตว์ป่าอื่นๆ อย่างหมีกริซลี ฉลาม หนู และงูพิษ

พูดง่ายๆ คือชื่นชมความงามแบบอยู่ห่างๆ อย่างปลอดภัยนั่นเอง

(ที่มา: รอยเตอร์)