ไบเดน ร้องขอประเทศผู้นำเศรษฐกิจโลกเร่งร่วมมือแก้ไขปัญหาโลกร้อน

President Joe Biden speaks during the Major Economies Forum on Energy and Climate in the South Court Auditorium on the White House campus, June 17, 2022.

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เรียกร้องให้ประเทศจีนและประเทศผู้นำด้านเศรษฐกิจอื่น ๆ เร่งยกระดับความพยายามในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาความมั่นคงทางพลังงานโลก พร้อมเตือนว่า การรุกรานยูเครนโดยรัสเซียอาจทำให้ทุกฝ่ายยิ่งต้องเร่งดำเนินการต่าง ๆ เร็วขึ้นกว่าที่ว่านี้ด้วย

ในระหว่างการร่วมประชุมแบบออนไลน์ Major Economies Forum (MEF) ในวันศุกร์ ปธน.ไบเดน ร้องขอให้ประเทศทั้งหลายเร่งมือลดการปล่อยก๊าซมีเทน ประกาศแผนงานเพื่อให้บรรลุเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากยานพาหนะให้เป็นศูนย์ และทำให้ระบบการขนส่งทางเรือทั่วโลกสะอาดปลอดภัยกว่าที่เป็นอยู่

ผู้นำสหรัฐฯ ยังขอให้ทุกประเทศจัดสรรงบประมาณรวมกันออกมาให้ได้ถึง 90,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการทำความสะอาดให้ใช้งานเชิงพาณิชย์ได้อย่างกว้างขวางเสียที และเพื่อพัฒนาปรับปรุงปุ๋ยแบบใหม่ที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตร รวมทั้งเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารด้วย

ปธน.ไบเดน ระบุระหว่างการเข้าร่วมประชุมว่า “การโจมตียูเครนอย่างโหดเหี้ยมโดยปราศจากการยั่วยุของรัสเซียทำให้ภาวะวิกฤตพลังงานโลกย่ำแย่ลง และส่งผลให้ยิ่งต้องมีการเร่งดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายระยะยาวของความมั่นคงและเสถียรภาพด้านพลังงานที่ทุกฝ่ายสามารถไว้วางใจได้

SEE ALSO: ปูติน เรียกมาตรการลงโทษจากชาติตะวันตก “เรื่องโง่เง่า” ขณะยูเครนใกล้ฝั่งฝันเป็นสมาชิกอียู

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้นำสหรัฐฯ ยอมรับว่า สิ่งที่สำคัญในเวลานี้คือการทำงานร่วมกันเพื่อบรรเทาผลกระทบด้านลบจากสงครามในยูเครน ซึ่งดันให้ราคาพลังงานและอาหารทั่วโลกพุ่งสูงไปเรียบร้อยแล้ว

การประชุม MEF ในวันศุกร์นี้ เป็นการรวมตัวขนาดใหญ่ที่สุดของผู้นำโลกเพื่อหารือประเด็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ก่อนจะมีการจัดงานการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก (COP 27) ที่ประเทศอียิปต์ ในเดือนพฤศจิกายนนี้

ทั้งนี้ ประเทศที่เข้าร่วมการประชุม MEF นี้ มีสัดส่วนผลผลิตทางเศรษฐกิจรวมกันถึงราว 80% ของปริมาณผลผลิตโลก แต่ก็เป็นผู้ผลิตก๊าซเรือนกระจกมากถึง 80% ของปริมาณที่มีการผลิตทั่วโลกเช่นกัน

ทำเนียบขาวเปิดเผยว่า ปธน.ไบเดน และประธานาธิบดี อับเดล ฟัตตาห์ เอล-ซิสซี แห่งอียิปต์ จะร่วมกันประกาศแผนความร่วมมือส่งเสริมความสามารถในการปรับสภาพด้านภูมิอากาศในแอฟริกาในระหว่างการประชุม COP 27 ด้วย

FILE - Renewable and fossil-fuel energy is produced when wind generators are seen in front of a coal-fired power plant near Jackerath, Germany, Dec. 7, 2018.

เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวรายหนึ่งซึ่งไม่ขอเปิดเผยตัวบอกกับผู้สื่อข่าวว่า หลายประเทศน่าจะประกาศเข้าร่วมแผนความคิดริเริ่มของปธน.ไบเดน ขณะที่ อีกหลายประเทศจะประกาศเป้าใหม่ในการลดการปล่อยก๊าซให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2030 ด้วย

ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐฯ รายหนึ่งระบุว่า สงครามในยูเครนที่นำมาซึ่งวิกฤตพลังงานดังเช่นในปัจจุบัน ยังชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคการขนส่ง การปรับปรุงพัฒนาปุ๋ยและความมั่นคงทางพลังงานด้วย

รายงานข่าวเปิดเผยว่า ปธน.ไบเดน กล่าวว่า สหรัฐฯ จะร่วมมือกับผู้ผลิตก๊าซชั้นนำและผู้บริโภคในการเปิดตัวและดำเนินแผนงาน Global Methane Energy Pathway ที่จะนำเสนอทรัพยากรด้านเทคนิคและการเงินมาช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ

นอกจากนั้น รัฐบาลกรุงวอชิงตันมีแผนจะลงทุนเป็นเงิน 21,500 ล้านดอลลาร์ในโครงการสาธิตขนาดใหญ่หลายโครงการเพื่อช่วยให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ด้วย

  • ที่มา: รอยเตอร์