ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิเคราะห์ระบุความท้าทายจากนโยบายมุ่งเน้นเอเชียที่รัฐบาลโอบาม่าต้องเผชิญในปีหน้า


Chinese Navy personnel stand guard as guided missile destroyer USS Stethem arrives at the Shanghai International Passenger Quay for a scheduled port visit in Shanghai, China, Nov. 16, 2015.
Chinese Navy personnel stand guard as guided missile destroyer USS Stethem arrives at the Shanghai International Passenger Quay for a scheduled port visit in Shanghai, China, Nov. 16, 2015.

ข้อตกลงการค้า TPP ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ และความมั่นคงในโลกไซเบอร์ส คือความท้าทายที่รอรัฐบาลสหรัฐฯ อยู่ในปี 2016

ในปีหน้า คาดว่าทำเนียบขาวจะเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำประเทศแถบเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในนโยบายมุ่งเน้นไปทางเอเชียหรือ Asia Pivot ของรัฐบาลสหรัฐฯภายใต้ประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า

ประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า กล่าวไว้หลายครั้งว่าอเมริกาจำเป็นต้องเชื่อมโยงกับเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อเสริมสร้างความมั่นคง ความเจริญรุ่งเรือง และศักดิ์ศรีแห่งมนุษยชนทั่วโลก และนั่นคือเหตุผลที่ที่นโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ทุ่มเทให้กับการสานสัมพันธ์กับทางเอเชีย-แปซิฟิก

และเพื่อแสดงถึงความสำคัญของนโยบายนี้ ปธน.โอบาม่าได้เดินทางเยือนเอเชียหลายครั้งในช่วงการดำรงตำแหน่ง และเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับผู้นำเอเชีย-แปซิฟิกที่ทำเนียบขาว

ข้อตกลงการค้าเสรี Tran-Pacific Partnership หรือ TPP

ดูเหมือนเวลานี้ บทสรุปของความพยายามที่รัฐบาลสหรัฐฯชุดนี้ทำมาตลอดหลายปี กำลังขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐสภาสหรัฐฯ ว่าจะรับรองข้อตกลงการค้าเสรี Tran-Pacific Partnership หรือ TPP ในปีหน้าได้หรือไม่

ข้อตกลงขนาดใหญ่ที่ว่านี้มีประเทศที่เข้าร่วม 12 ประเทศ ซึ่งแต่ละประเทศจำเป็นต้องได้รับการรับรองจากรัฐสภาภายในประเทศตนเอง นักวิเคราะห์ระบุว่าหากข้อตกลงดังกล่าวไม่ผ่านการับรองของรัฐสภาสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้

ข้อพิพาทในทะเลจีนใต้

ประเด็นสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ ซึ่งคุณ Marc Noland แห่งสถาบันเศรษฐกิจระหว่างประเทศ Peterson เชื่อว่าจะยังคงเป็นความท้าทายสำคัญของรัฐบาลอเมริกันในปี ค.ศ 2016 การกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์และการขยายอิทธิพลของจีนในทะเลจีนใต้ ทำให้ประเทศคู่ขัดแย้งที่ขนาดเล็กกว่าต้องการให้สหรัฐฯเข้าไปเพื่อคานอำนาจของจีน ขณะเดียวกันก็ไม่ต้องการมีส่วนร่วมในการเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนเช่นกัน

ด้านคุณ Christopher Johnson แห่ง Center for Strategic & International Studies ระบุว่าสหรัฐฯ ต้องใช้นโยบายที่สมดุลและระมัดระวังในประเด็นที่อ่อนไหวนี้ สหรัฐฯจำเป็นต้องรักษาสมดุลด้วยการแสดงให้ประเทศพันธมิตรในเอเชียเห็นว่า สหรัฐสามารถยื่นมือเข้าช่วยเหลือได้ทันทีในการรับมือกับการขยายอำนาจทางทหารของจีน ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ให้จีนรู้สึกว่าสหรัฐฯ กำลังใช้ยุทธศาสตร์ล้อมจีน หรือกำลังทำลายผลประโยชน์ของจีนในภูมิภาคนี้

ในช่วงปีที่ผ่านมา สหรัฐฯได้ช่วยเหลือประเทศพันธมิตรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พัฒนากำลังทางทะเล และเรียกร้องให้จีนยุติการถมพื้นที่ก่อสร้างเกาะเทียมในบริเวณที่มีความขัดแย้ง

ความมั่นคงปลอดภัยในโลกไซเบอร์ส

ขณะเดียวกัน คุณ Christopher Johnson ระบุว่าความมั่นคงปลอดภัยในโลกไซเบอร์สก็ยังคงเป็นสาเหตุของความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีน หลังจากสหรัฐฯกล่าวหาว่ารัฐบาลกรุงปักกิ่งอยู่เบื้องหลังการโจมตีเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของภาครัฐบาลและธุรกิจต่างๆในสหรัฐฯ ซึ่งจีนได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหานี้

นักวิเคราะห์ผู้นี้ชี้ว่า จะยังคงมีแรงกดดันทางการเมืองให้รัฐบาลสหรัฐฯลงโทษจีนจากกรณีการโจมตีในโลกไซเบอร์สดังกล่าว ซึ่งหากเกิดขึ้นเมื่อไร จีนก็คงไม่รอช้าที่จะตอบโต้แน่นอน

(ผู้สื่อข่าว Mary Alice Salinas รายงาน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียงเสนอ)

XS
SM
MD
LG