ลิ้งค์เชื่อมต่อ

อนามัยโลก รับมีหลักฐานบ่งชี้ โควิด-19 แพร่เชื้อผ่านละอองแขวนลอยในอากาศได้


Maria Van Kerkhove, Technical Lead of WHO Health Emergencies Programme attends a news conference
Maria Van Kerkhove, Technical Lead of WHO Health Emergencies Programme attends a news conference

องค์การอนามัยโลก เปิดเผยในวันอังคารว่ามีหลักฐานการศึกษาที่บ่งชี้ว่าโคโรนาไวรัส โควิด-19 สามารถติดต่อผ่านเชื้อที่อยู่บนละอองแขวนลอยในอากาศได้ พร้อมบอกไม่ต้องแปลกใจหากตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 จะพุ่งสูงขึ้นในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ตามรายงานของรอยเตอร์

ดร. มาเรีย แวน เคิร์กโฮฟ หัวหน้าฝ่ายโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และโรคติดต่อขององค์การอนามัยโลก กล่าวต่อผู้สื่อข่าวที่กรุงเจนีวาในวันอังคารว่า อนามัยโลกกำลังเร่งศึกษาความเป็นไปได้ของการแพร่เชื้อโควิด-19 ทางอากาศ ผ่านละอองแขวนลอยขนาดเล็กที่ล่องลอยและแพร่กระจายไปในอากาศ (aerosol transmission) เพิ่มเติม หลังจากที่ก่อนหน้านี้ อนามัยโลกระบุว่า ไวรัสโควิด-19 จะติดต่อผ่านทางละอองฝอย (droplets) จากการไอหรือจามของผู้ติดเชื้อ แต่เชื้อดังกล่าวไม่อาจลอยอยู่ในอากาศได้ไม่นานเพราะเป็นละอองขนาดใหญ่

เมื่อวันจันทร์ นักวิทยาศาสตร์ 239 คนจาก 32 ประเทศทั่วโลก ส่งจดหมายเปิดผนึกและตีพิมพ์ผลการศึกษาในวารสาร Clinical Infectious Diseases ในวันเดียวกัน เรียกร้องให้อนามัยโลกปรับเปลี่ยนข้อมูลคำแนะนำเรื่องการระบาดของโควิด-19 เสียใหม่ หลังจากทีมนักวิทศาสตร์นานาชาติกลุ่มนี้ พบหลักฐานบ่งชี้ว่า โคโรนาไวรัสซึ่งเป็นสาเหตุของโควิด-19 สามารถติดต่อผ่านทางอากาศที่เราหายใจ โดยเชื้อไวรัสสามารถลอยอยู่ในอากาศเป็นระยะเวลาหนึ่ง และใครที่สูดอากาศนั้นเข้าไปก็สามารถติดเชื้อได้

ในประเด็นนี้ เบนเด็ตตา อัลเลกรานซี หัวหน้าฝ่ายป้องกันโรคติดเชื้อของอนามัยโลก ออกมาบอกว่ามีการศึกษาที่ยืนยันในประเด็นนี้อยู่จริง แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนพอ โดยบอกว่า โอกาสที่ไวรัสจะแพร่เชื้อทางอากาศ คือ ตามที่สาธารณะที่เป็นพื้นที่ปิด มีคนอยู่แออัด และมีระบบระบายอากาศที่ไม่ดีพอ

ปัจจุบัน คำแนะนำของอนามัยโลก ในการลดการติดเชื้อโควิด-19 ยังเป็นการรักษาระยะห่างจากบุคคลอื่นในที่สาธารณะในระยะ 1 เมตร (3.3 ฟุต) และเพิ่มการสวมหน้ากากหากไม่สามารถรักษาระยะห่างทางสังคมได้

อีกด้านหนึ่ง ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก เทดรอส อัดนอม เกเบรเยซุส กล่าวว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตที่ลดลงไม่ได้หมายความว่าเราประสบความสำเร็จในการรับมือกับโควิด-19 เสียทีเดียว เพราะยังมีระดับการระบาดหนักในหลายประเทศอยู่

ดร.ไมค์ ไรอัน หัวหน้าโครงการฉุกเฉินของอนามัยโลก บอกด้วยว่า คงไม่เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ หากตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 จะพุ่งสูงขึ้นอีกครั้งในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า จากที่ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยบอกว่า กลุ่มประเทศในลาตินอเมริกา อเมริกาเหนือ ที่ไม่รวมแคนาดายังน่าเป็นห่วงอย่างมาก

สำหรับตัวเลขล่าสุดตอนนี้ ตามข้อมูลของมหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอพกินส์ ระบุว่า ทั่วโลกตอนนี้มีผู้ติดเชื้อเกือบ 12 ล้านคน และเสียชีวิตเกือบ 5.4 แสนคน ขณะที่สหรัฐฯ ยังครองแชมป์โลกในแง่ผู้ติดเชื้อที่เฉียด 3 ล้านคน และเสียชีวิต 1.3 แสนคน

XS
SM
MD
LG