ลิ้งค์เชื่อมต่อ

องค์การอนามัยโลกเปิดฉากรณรงค์ให้ใช้ ‘smart syringe’ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ


องค์การอนามัยโลก (WHO) ตั้งเป้าหมายไว้ว่าต้องการให้ทุกประเทศใช้เข็มใหม่นี้ภายในห้าปีข้างหน้า หรือ ค.ศ. 2020

please wait

No media source currently available

0:00 0:03:58 0:00
Direct link

องค์การอนามัยโลกให้ข้อมูลว่า ในแต่ละปี มีการใช้เข็มฉีดยา 1 หมื่นหกพันล้านครั้ง และ 10% ของจำนวนนี้เป็นการฉีดวัคซีน การถ่ายเลือดและการฉีดยาคุมกำเนิด ซึ่งโดยทั่วไปปลอดภัย แต่อีก 90% เป็นการฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อหรือใต้ผิวหนัง ซึ่งมักมีการใช้เข็มฉีดยาซ้ำ และมีโอกาสแพร่เชื้อโรคได้ง่าย

นอกจากนี้ การฉีดยาส่วนใหญ่เป็นเรื่องไม่จำเป็น เพราะมียาให้รับประทานแทนได้ นายแพทย์ Gundo Aurel Weiler ผู้ประสานงานฝ่ายเชื้อ HIV และโรค AIDS ขององค์การอนามัยโลก บอกว่าที่รู้แน่ๆ ก็คือทุกปีมีผู้ติดเชื้อโรคตับอักเสบ B ประมาณ 1 ล้าน 7 แสนคน และตับอักเสบ C อีกมากกว่าสามแสนคน เป็นเพราะการใช้เข็มฉีดยาที่ไม่ปลอดภัย

เจ้าหน้าที่ของ WHO ผู้นี้กล่าวว่า 10% ของผู้ติดเชื้อ HIV เมื่อ 15 ปีที่แล้ว มาจากการใช้เข็มฉีดยาสกปรก หรือใช้เข็มเดียวฉีดให้กับคนมากกว่าหนึ่งคนขึ้นไป และการรณรงค์ขององค์การอนามัยโลกที่ให้ระมัดระวังการใช้เข็มฉีดยา ช่วยลดการติดเชื้อ HIV ลงได้จนเหลือไม่ถึงหนึ่งเปอร์เซ็นต์ในปี ค.ศ. 2010

ความเสี่ยงเช่นนี้มีทั่วโลก ส่วนใหญ่ในประเทศกำลังพัฒนา และ WHO เชื่อว่า การใช้ ‘smart syringe’ ซึ่งใช้ได้เพียงครั้งเดียว หรือใช้แล้วทิ้ง จะช่วยป้องกันการติดเชื้อได้

‘smart syringe’ มีหลายแบบ แบบหนึ่งนั้น เมื่อฉีดเสร็จ ลูกสูบในหลอดยาจะแตก แบบอื่นๆ อาจมีชิ้นโลหะที่ไม่ปล่อยให้ดึงลูกสูบในหลอดยากลับมาได้อีก หรือมีเข็มที่หดตัวกลับเข้าหลอดยาเมื่อฉีดเสร็จ

Lisa Hedman เจ้าหน้าที่ขององค์การอนามัยโลก ฝาย Essential Medicines and Health Products บอกว่า จะใช้เข็มฉีดยาแบบไหนนั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการ และว่าที่มีเข็มให้หลายแบบ เพราะต้องการเน้นเรื่องความปลอดภัย และทำให้แน่ใจว่า จะใช้เข็มซ้ำอีกไม่ได้

WHO รณรงค์เรื่องการใช้เข็มฉีดยาอย่างปลอดภัยครั้งแรกในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 2000 – 2010 และประสบความสำเร็จมากทีเดียว โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งลดการใช้เข็มซ้ำลงถึง 7 เท่าตัว

สำหรับการรณรงค์เรื่อง ‘smart syringe’ ครั้งนี้ WHO ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ต้องการให้ทุกประเทศใช้เข็มใหม่นี้ภายในห้าปีข้างหน้า หรือ ค.ศ. 2020 ยกเว้นในกรณีพิเศษบางรายเท่านั้น WHO ยังเรียกร้องให้ผู้ผลิตเร่งรัดการผลิตเข็มฉีดยาแบบใหม่เหล่านี้ด้วย

ราคาของเข็มฉีดยาที่กำลังใช้กันทั่วไปในประเทศกำลังพัฒนาเวลานี้ ตกราวๆ 3-4 เซ็นต์หรือ 1 – 1.25 บาทต่อเข็ม ‘smart syringe’ จะมีราคาแพงกว่าสองเท่าตัวเป็นอย่างน้อย แต่องค์การอนามัยโลกเชื่อว่า เมื่อมีอุปสงค์เพิ่มขึ้น ราคาจะลดลง


XS
SM
MD
LG