ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สำรวจทิศทางนโยบายตุรกี หลัง 'เออร์โดวาน' ชนะเลือกตั้ง


Second round of the presidential election in Ankara
Second round of the presidential election in Ankara

ประธานาธิบดีเรจิบ เทยิบ เออร์โดวาน ของตุรกี ชนะการเลือกตั้งรอบสุดท้ายเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ทำให้เขาดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศต่อได้อีกห้าปี ท่ามกลางสารพัดความท้าทายในประเทศ ตั้งแต่ปัญหาเศรษฐกิจ แรงกดดันต่อการส่งผู้ลี้ภัยชาวซีเรียกลับประเทศ ไปจนถึงการฟื้นฟูประเทศหลังเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่

เอพีรวบรวมความท้าทายด้านนโยบายที่ผู้นำตุรกีจะต้องเผชิญในอีกห้าปีต่อจากนี้

นโยบายเศรษฐกิจแบบสวนกระแสของเออร์โดวานจะใช้ได้จนถึงเมื่อใด?

เมื่อเดือนตุลาคม ภาวะเงินเฟ้อในตุรกีพุ่งไปที่ 85% ก่อนจะลดลงเหลือ 44% เมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งเป็นตัวเลขที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่ายังคงสะท้อนถึงวิกฤตค่าครองชีพในประเทศ ทำให้ประชาชนจ่ายค่าเช่าและซื้อของอุปโภคบริโภคลำบากขึ้น

มีผู้วิจารณ์ว่า วิกฤตครั้งนี้มีสาเหตุส่วนหนึ่งจากนโยบายกดดอกเบี้ยของปธน.เออร์โดวาน เพื่อมุ่งเป้าให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้น ซึ่งโดยปกติแล้ว นักเศรษฐศาสตร์จะแนะนำให้มีการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อรับมือปัญหาเงินเฟ้อมากกว่า

แม้เศรษฐกิจจะประสบปัญหาเงินเฟ้อ แต่ปธน.เออร์โดวานก็ยังคงชนะเลือกตั้งต่อไปสมัยอีกสมัย ส่วนหนึ่งเพราะมีการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อลดผลกระทบจากเงินเฟ้อ เช่น การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ การเพิ่มบำนาญ ซึ่งเป็นวิธีที่ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่าไม่ยั่งยืน

นับจากนี้ไป รัฐบาลของปธน.เออร์โดวานต้องตัดสินใจว่าจะตรึงอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำต่อไป ค่อย ๆ เพิ่มอัตราดอกเบี้ย หรือเพิ่มอัตราดอกเบี้ยแต่น้อยควบคู่กับการใช้มาตรการอื่น ๆ โดยเซลวา เดมิรัลพ์ ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยคอคในนครอิสตันบูล เห็นว่า เศรษฐกิจตุรกีจะชะลอตัวลงอย่างเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะมีการใช้มาตรการใดก็ตาม แต่รัฐบาลมีทางเลือกว่าจะควบคุมการชะลอตัวได้หรือจะทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงักกะทันหัน

FILE PHOTO: Quake-hit Kahramanmaras prepares to vote in May 14 elections
FILE PHOTO: Quake-hit Kahramanmaras prepares to vote in May 14 elections

ค่าใช้จ่ายมหาศาลเพื่อฟื้นฟูประเทศหลังแผ่นดินไหว

ปธน.เออร์โดวานได้รับชัยชนะถล่มทลายในจังหวัดที่เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ที่คร่าชีวิตผู้คนไปราว 50,000 คน แม้จะมีเสียงวิจารณ์ว่า รัฐบาลตุรกีรับมือหลังเกิดเหตุช้าและไม่มีประสิทธิภาพ

ผู้นำตุรกีคว้าชัยไปได้จาก 9 ใน 11 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว โดยเฉพาะในจังหวัดฮาทัยที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยปธน.เออร์โดวานกล่าวแถลงหลังชนะเลือกตั้งว่า การฟื้นฟูประเทศหลังแผ่นดินไหวเป็นวาระสำคัญที่สุดของรัฐบาล

ทั้งนี้ ธนาคารโลกประเมินว่า เหตุแผ่นดินไหวทำให้เกิด “ความเสียหายโดยตรง” มูลค่า 34,200 ล้านดอลลาร์ ซึ่งคิดเป็น 4% ของจีดีพีตุรกีเมื่อปี 2021 และการฟื้นฟูประเทศอาจมีค่าใช้จ่ายมากกว่านั้นถึงสองเท่า

ภาคก่อสร้างในตุรกีเติบโตขึ้นมากในช่วงสองทศวรรษที่ปธน.เออร์โดวานดำรงตำแหน่ง แม้จะมีผู้วิจารณ์ว่า การขาดกฎระเบียบควบคุมการก่อสร้างอาคารเป็นหนึ่งในสาเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวจำนวนมาก แต่ผู้สนับสนุนผู้นำตุรกีจำนวนมากก็เชื่อว่า ปธน.เออร์โดวานจะนำการการฟื้นฟูมาสู่ประเทศได้ ท่ามกลางคำเตือนจากนักภูมิศาสตร์และวิศวกรว่า การเร่งก่อสร้างอย่างรวดเร็วอาจมาพร้อมกับความเสี่ยง

Post-election Turkey infographic
Post-election Turkey infographic

ผู้นำตุรกีถูกกดดัน ส่งตัวผู้ลี้ภัยซีเรียกลับประเทศ

ปธน.เออร์โดวานทราบดีว่า มีกระแสต่อต้านผู้อพยพชาวซีเรีย 3.4 ล้านคนที่หนีความรุนแรงในประเทศมายังตุรกี โดยเฉพาะในช่วงที่ตุรกีเผชิญปัญหาเศรษฐกิจ

ผู้นำตุรกีกล่าวว่า ผู้ลี้ภัยราว 600,000 คนได้เดินทางกลับซีเรียโดยสมัครใจแล้ว โดยรัฐบาลตุรกีได้สร้าง “พื้นที่ปลอดภัย” ทางตอนเหนือของซีเรียที่ตุรกีควบคุมอยู่ และจะมีผู้ลี้ภัยอีก 1 ล้านคนเดินทางกลับซีเรียตามโครงการส่งคืนผู้ลี้ภัยที่ตุรกีร่วมมือกับกาตาร์

อย่างไรก็ตาม เอมมา ซินแคลร์-เว็บบ์ จากองค์กรฮิวแมน ไรท์ วอทช์ กล่าวว่า ซีเรียยังคงเป็นพื้นที่ไม่ปลอดภัยสำหรับผู้ลี้ภัยจำนวนมาก และการแบ่งขั้วทางสังคมในตุรกียิ่งทำให้ผู้ลี้ภัยเผชิญสถานการณ์ที่อันตรายขึ้น

เออร์โดวานส่งสัญญาณเดินหน้าปราบปรามผู้เห็นต่าง

การดำรงตำแหน่งของปธน.เออร์โดวานเต็มไปด้วยการปราบปรามเสรีภาพในการแสดงออกและการใช้ความรุนแรงเพิ่มขึ้นต่อชนกลุ่มน้อยในสังคม สื่อกระแสหลักมีจุดยืนสนับสนุนรัฐบาล มีการคัดกรองอินเตอร์เน็ต มีกฎหมายสื่อสังคมออนไลน์ฉบับใหม่ที่อาจจำกัดการแสดงออกทางออนไลน์ ขณะที่ตัวผู้นำตุรกียังพุ่งเป้าโจมตีชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือกลุ่ม LGBTQ และกลุ่มชาติพันธุ์เคิร์ดบ่อยครั้ง

หลังมีความพยายามก่อรัฐประหารเมื่อปี 2016 ที่รัฐบาลตุรกีกล่าวหาว่าเป็นฝีมือของ เฟทุลลาห์ กูเลน อิหม่ามผู้ทรงอิทธิพลที่ลี้ภัยการเมืองในสหรัฐฯ รัฐบาลตุรกีได้ใช้กฎหมายก่อการร้ายเพื่อจับกุมผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกูเลน นักการเมืองที่สนับสนุนชาวเคิร์ด และสมาชิกของกลุ่มประชาสังคม

ซินแคลร์-เว็บบ์ จากองค์กรฮิวแมน ไรท์ วอทช์ ระบุว่า การแถลงหลังได้รับชัยชนะของปธน.ออร์โดวาน ที่มีทั้งการโจมตีนักการเมืองที่สนับสนุนชาวเคอร์ดิชที่ถูกจำคุกอยู่ และการปลุกกระแสต่อต้านกลุ่ม LGBTQ เป็นการสื่อให้เห็นถึงทิศทางของรัฐบาลตุรกีต่อจากนี้

ทั้งนี้ แม้ผู้นำตุรกีจะเคยเรียกการปฏิบัติโดยมิชอบต่อชาวเกย์ว่าเป็นสิ่งที่ “ไร้มนุษยธรรม” แต่เขาก็กล่าวถึงกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศว่าเป็น “พวกเบี่ยงเบน” รวมทั้งมีการใช้คำพูดต่อต้านชาวเกย์ระหว่างการหาเสียง โดยนับตั้งแต่ปี 2015 รัฐบาลตุรกีได้สั่งห้ามจัดขบวนพาเหรดเพื่อสนับสนุนกลุ่ม LGBTQ ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้คำพูดที่กีดกันทางเพศมากขึ้นเพื่อพยายามสร้างความนิยมในกลุ่มฐานเสียงสายอนุรักษนิยม

เมื่อปี 2021 รัฐบาลของปธน.เออร์โดวานได้นำตุรกีออกจากสนธิสัญญายุโรปเพื่อปกป้องผู้หญิงจากความรุนแรงในครัวเรือน หลังกลุ่มอนุรักษนิยมอ้างว่า สนธิสัญญาดังกล่าวสนับสนุนการรักร่วมเพศ

ขณะเดียวกัน กลุ่ม Kaos GL ซึ่งเป็นสมาคม LGBTQ ที่เก่าแก่ที่สุดในตุรกี กล่าวในแถลงการณ์ว่า ทางกลุ่มจะยังคงเดินหน้าเรียกร้องต่อไปแม้ว่าปธน.เออร์โดวานจะชนะเลือกตั้งอีกสมัยก็ตาม

  • ที่มา: เอพี
XS
SM
MD
LG