ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิจัยอังกฤษพัฒนาอุปกรณ์ชิ้นใหม่ตรวจหาเชื้อโรคที่ปนเปื้อนในน้ำได้ใน 30 วินาที!


FILE - A beachgoer walks past a sign posted to warn people of contaminated water at Torrey Pines State Beach in San Diego, California.

อุปกรณ์นี้สามารถระบุได้ภายในสามสิบวินาทีว่า น้ำดังกล่าวสะอาดพอที่จะใช้เป็นน้ำดื่มหรือไม่

please wait

No media source currently available

0:00 0:03:32 0:00
Direct link

สหประชาชาติรายงานว่ามีคน 663 ล้านคนทั่วโลกที่ขาดแคลนน้ำดื่มที่สะอาดเเละปลอดภัย และคนอีก 2,400 ล้านคนยังขาดเเคลนระบบสุขาภิบาลที่ดี ทำให้แหล่งน้ำดื่มที่มีอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนกับของเสียจากมนุษย์

หนึ่งในเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ คือการพัฒนาแหล่งน้ำดื่มที่สะอาดและราคาประหยัดให้เเก่ประชากรทุกคนทั่วโลกภายในปี ค.ศ. 2030

บรรดาผู้เชี่ยวชาญหวังว่าเทคโนโลยีจะเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยให้บรรลุเป้าหมายนี้ และขณะนี้ ทีมนักวิจัยที่มหาวิทยาลัย Birmingham ประเทศอังกฤษ ได้พัฒนาอุปกรณ์ตรวจคุณภาพน้ำชนิดใหม่ขึ้นมา

อุปกรณ์นี้สามารถระบุได้ภายในสามสิบวินาทีว่า น้ำดังกล่าวสะอาดพอที่จะใช้เป็นน้ำดื่มหรือไม่

อุปกรณ์ตัวนี้มีชื่อว่า Duo Fluor สามารถระบุได้ว่า ในน้ำมีสารอินทรีย์จากซากพืชซากสัตว์ปะปนอยู่มากน้อยเเค่ไหน มีแบคทีเรียและเชื้อโรคที่ทำให้เกิดโรคท้องร่วงและอหิวาตกโรค หรือตรวจว่าน้ำสะอาดพอที่จะให้เป็นน้ำบริโภคหรือไม่

คุณ John Bridgeman แห่งภาควิชาวิศวกรรมโยธาประจำมหาวิทยาลัย Birmingham หัวหน้าทีมวิจัยอังกฤษทีมนี้กล่าวว่า อุปกรณ์ตัวนี้นำไปใช้ตรวจคุณภาพน้ำที่ริมแม่น้ำได้ทันทีโดยไม่ต้องใช้ห้องแล็ป

เขากล่าวว่าอุปกรณ์นี้ไม่ต้องใช้สารเคมีใดๆในการตรวจ และให้ผลการตรวจภายในไม่กี่นาที สามารถใช้เป็นเครื่องมือตรวจสอบคุณภาพน้ำที่บอกได้ทันทีว่าน้ำสะอาดพอที่จะใช้ดื่มหรือไม่

อุปกรณ์ Duo Fluor ส่องแสงคลื่นความถี่สูงไปยังตัวอย่างน้ำที่ใช้ในการตรวจ หากมีจุลินทรีย์ในน้ำ จุลินทรีย์จะดูดซับตัวโปรตอนและปล่อยเเสงสลัวๆ กลับออกมา อุปกรณ์ใยเเก้วขนาดบางที่ใช้ระบบเอลอีดี (LED) จะเป็นตัวตรวจจับเเสงฟลูออเรสเซนต์จากตัวเเบคทีเรีย ซึ่งจะนำไปประเมินในคอมพิวเตอร์ต่อไป

คุณ Bridgeman หัวหน้าทีมวิจัยชี้ว่า วิธีการตรวจนี้มีประสิทธิภาพสูงมากในการตรวจหาการปนเปื้อนของเสียจากมนุษย์ในน้ำ และได้ผลการตรวจทันที เมื่อเทียบกับวิธีการตรวจเเบบดั้งเดิมที่ต้องใช้เวลาวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำดื่มนานถึง 12 ชั่วโมง

คุณ John Bridgeman หัวหน้าทีมนักวิจัยกล่าวว่า จนถึงขณะนี้ การวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำส่วนมากจะต้องทำในห้องแล็ป ต้องใช้เครื่องมือวิจัยราคาเเพงที่เสียค่าใช้จ่ายหลายหมื่นดอลล่าร์สหรัฐ แต่อุปกรณ์ตรวจคุณภาพน้ำที่ทีมงานพัฒนาขึ้นมานี้มีขนาดเล็กกว่าแผ่นกระดาษขนาดมาตรฐานเสียอีก

คุณ Bridgeman เชื่อว่าอุปกรณ์ตรวจคุณภาพน้ำ Duo Fluor นี้ จะมีประโยชน์อย่างมากในสถานการณ์น้ำท่วมและในค่ายผู้อพยพ

Oxfam หน่วยงานให้ความช่วยเหลือระดับนานาชาติได้ร่วมมือกับทีมงานของคุณ Bridgeman ในการช่วยส่งเสริมและวางแผนจะช่วยเเจกจ่ายอุปกรณ์ตรวจสอบคุณภาพน้ำตัวใหม่นี้เมื่อพร้อมออกมาให้ใช้

(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)

XS
SM
MD
LG