ลิ้งค์เชื่อมต่อ

เวียดนามเตรียมปฏิรูป 'กระบวนการปลูกข้าวลุ่มแม่น้ำโขง' เพิ่มผลผลิตรับมือภาวะโลกร้อน


A farmer harvests rice on a paddy field in Vinh Ngoc village, outside Hanoi, Vietnam June 2, 2015.
A farmer harvests rice on a paddy field in Vinh Ngoc village, outside Hanoi, Vietnam June 2, 2015.
please wait

No media source currently available

0:00 0:04:07 0:00

รัฐบาลเวียดนามกำลังนำมาตรการปฏิรูปด้านการเกษตรมาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวของเวียดนาม ท่ามกลางความท้าทายเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และภัยคุกคามจากการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง

เป้าหมายของการปฏิรูปที่ว่านี้ คือการพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ตลอดจนสนับสนุนการปลูกพืชทางเลือกชนิดอื่นเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

บริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงในเวียดนามที่เชื่อมต่อกับทะเลจีนใต้ คือแหล่งปลูกข้าวขนาดใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ซึ่งใช้เลี้ยงประชากรเวียดนาม 94 ล้านคน รวมทั้งผู้คนในประเทศอื่นของเอเชียอีกราว 145 ล้านคน ครอบคลุม 13 จังหวัดทางใต้ของประเทศ

แต่เวลานี้กำลังเกิดความกังวลอย่างยิ่งต่ออนาคตของพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำดังกล่าว หลังจากเกิดความแห้งแล้งต่อเนื่องในปีนี้ ส่งผลให้ระดับน้ำเค็มที่รุกล้ำเข้ามาในบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมสูงขึ้นมาก โดยสำนักงานอาหารและการเกษตรขององค์การสหประชาชาติ หรือ FAO ระบุว่าปรากฏการณ์ที่ว่านี้ทำให้ผลผลิตข้าวของเวียดนามลดลงราว 1 ล้านตัน

Workers unload sacks of rice from a Vietnam cargo ship carrying some 12, 700 tonnes of rice, at the port in Manila July 5, 2014.
Workers unload sacks of rice from a Vietnam cargo ship carrying some 12, 700 tonnes of rice, at the port in Manila July 5, 2014.

ศาสตราจารย์ Philip Hirsch แห่งภาควิชาภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัย Sydney ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกคือสาเหตุหลักของปัญหานี้

ศาสตราจารย์ Hirsch กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น การเกิดพายุบ่อยขึ้น และความแห้งแล้ง ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ผลผลิตข้าวของเวียดนามลดลง

ขณะนี้ องค์กรเพื่อการเกษตรระหว่างประเทศ กำลังพยายามช่วยเหลือเวียดนามในการเพิ่มผลผลิตข้าว ตัวอย่างเช่น องค์การรับมือผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือ CLUES กำลังพัฒนาพันธุ์ข้าวที่สามารถทนทานต่อน้ำเค็ม หรือสภาพที่แห้งแล้ง ได้ดีขึ้น

ด้านสถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ หรือ IRRI ได้จับมือกับรัฐบาลเวียดนามเพื่อปรับโครงสร้างการปลูกข้าวในเวียดนามเสียใหม่ โดยลดจากการปลูกปีละ 3 ครั้งเหลือปีละ 2 ครั้ง แล้วใช้เวลาที่เหลืออยู่ในการปลูกพืชการเกษตรประเภทอื่นที่ให้ราคาดีกว่า หรือทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศมากกว่า

คุณ Leocadio Sebastian แห่ง IRRI กล่าวว่า ด้วยวิธีนี้จะทำให้ชาวนาในเวียดนามมีพืชทางเลือกไว้หมุนเวียน ในกรณีที่ระดับน้ำเค็มบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงสูงขึ้น รวมถึงในพื้นที่ที่ดินเค็มเกินไปและไม่สามารถปลูกข้าวได้อีก

นักวิจัยผู้นี้ยังแนะนำให้มีการเพิ่มคุณภาพและเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวของเวียดนาม เพื่อชาวนาเวียดนามจะสามารถหาเลี้ยงชีพได้ในระยะยาว

A sign which reads "Land for sale or for lease" is seen placed on a drought-affected rice field in Bac Lieu province
A sign which reads "Land for sale or for lease" is seen placed on a drought-affected rice field in Bac Lieu province

นอกจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศแล้ว นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าภัยคุกคามอีกอย่างหนึ่งต่อการปลูกข้าวในแถบดินดอนสามเหลี่ยมของเวียดนาม คือโครงการสร้างเขื่อนหลายแห่งตลอดแม่น้ำโขง ทั้งในจีน ลาว และกัมพูชา

รายงานของศูนย์วิจัยด้านการเกษตรระหว่างประเทศของออสเตรเลีย หรือ ACIAR ระบุว่า โครงการเขื่อนดังกล่าวกำลังคุกคามการเกษตร การประมง และความมั่นคงทางอาหารในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า การสร้างเขื่อนเหล่านั้นจะทำให้ตะกอนที่จำเป็นสำหรับการปลูกข้าวไม่สามารถลงมาทับถมที่บริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำได้ และยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับระดับอุณหภูมิของน้ำทั้งในส่วนเหนือเขื่อนและใต้เขื่อน ซึ่งคุกคามสัตว์น้ำ และวิถีชีวิตของผู้คนในบริเวณนี้

นักวิเคราะห์ของ ACIAR แนะนำให้รัฐบาลเวียดนามพยายามกดดันให้ประเทศสมาชิกของคณะกรรมการลุ่มแม่น้ำโขง หรือ MRC ร่วมกันหยุดยั้งการสร้างเขื่อนในประเทศที่อยู่ต้นแม่น้ำ ก่อนที่จะสายเกินไป

(ผู้สื่อข่าว Ron Corben รายงานจากกรุงเทพฯ / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)

XS
SM
MD
LG