ลิ้งค์เชื่อมต่อ

เผยเส้นทางค้ามนุษย์เวียดนาม-อังกฤษ หลังโศกนาฎกรรมดับ 39 ศพในตู้คอนเทนเนอร์


FILE - Police forensics officers attend the scene after a truck was found to contain the bodies of 39 refugees, in Thurrock, South England, Oct. 23, 2019.
FILE - Police forensics officers attend the scene after a truck was found to contain the bodies of 39 refugees, in Thurrock, South England, Oct. 23, 2019.
please wait

No media source currently available

0:00 0:05:21 0:00

ชายคนหนึ่งในหมู่บ้านในชนบทห่างไกลทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม รู้สึกหวาดหวั่นอยู่ในใจว่า หนึ่งใน 39 ศพที่พบในตู้คอนเทนเนอร์ในประเทศอังกฤษเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา อาจจะเป็นลูกชายของเขา ที่ต้องการไปทำงานหาเงินในประเทศอังกฤษ เช่นเดียวกับคนอีกจำนวนมากในหมู่บ้านที่ไปเป็นแรงงานต่างด้าว

ทางการเชื่อว่า ชาวเวียดนามที่ต้องการอพยพเข้าประเทศอังกฤษอย่างผิดกฎหมาย ต้องเดินทางเป็นระยะทางกว่า 9,000 กิโลเมตร จากเวียดนาม เข้าสู่ประเทศจีน รัสเซีย และทวีปยุโรป ก่อนจะข้ามช่องแคบเข้าสู่ประเทศอังกฤษจากท่าเรือ ซีบรูเกอะ (Zeebrugge) ประเทศเบลเยียม

ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฝ่ายภูมิภาคเอเชียของ ฮิวแมนไรต์ วอตช์ กล่าวว่า ความต้องการเดินทางเข้าประเทศอังกฤษ และประเทศที่มั่งคั่งอื่น ๆ ในยุโรปได้กลายเป็นแหล่งทำเงินชั้นดีของแก๊งค์ลักลอบค้ามนุษย์ กลุ่มคน หรือแก๊งค์ค้ามนุษย์เหล่านี้มีเส้นสายภายในอย่างดีกับเจ้าหน้าที่รัฐ และมีการคอรัปชั่น ทำให้พวกเขาสามารถลักลอบขนแรงงานจากเวียดนามเข้ายุโรปได้

โรเบิร์ตสันบอกว่าหลายครอบครัวยอมจ่ายเงินให้แก๊งค์ค้ามนุษย์ประมาณ 30,000-40,000 ดอลล่าร์ หรือประมาณ 900,000 ถึง 1,200,000 บาท

ส่วน เปาโล คัมพาน่า ผู้เชี่ยวชาญด้านเครือข่ายแก๊งค้ามนุษย์บอกว่า การลักลอบนำคนเข้าเมือง ไม่มีผู้บงการคนใดคนหนึ่งที่ควบคุมทุกอย่าง แต่จะมีกลุ่ม แก๊ง หรือหน่วยงานย่อย ๆ ที่ตั้งกันขึ้นมาเอง คอยควบคุมแต่ละขั้นตอนของการลักลอบนำคนเข้าเมือง ซึ่งบางแก๊งเก็บค่าบริการสูงกว่าที่อื่น และโฆษณาว่าพวกเขาดูแลแรงงานต่างด้าวดีกว่าที่อื่นด้วย

คัมพาน่าบอกว่า แรงงานที่ต้องการอพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ต้องตัดสินใจเองว่าจะเชื่อแก๊งค์ไหน ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ยากและเต็มไปด้วยความเสี่ยง เพราะข้อมูลที่พวกเขาได้รับ มักจะมาจากการบอกเล่าปากต่อปากเท่านั้น

เมื่อมาถึงประเทศอังกฤษแล้ว แรงงานที่เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ก็มักจะลงเอยในธุรกิจสีเทา หรืออุตสาหกรรมที่ผิดกฎหมาย

แทมซิน บาร์เบอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผู้พลัดถิ่นชาวเวียดนามในประเทศอังกฤษ บอกว่า ชาวเวียดนามหลายคนยอมรับความเสี่ยงเพื่อจะมาอังกฤษ พวกเขาเชื่อว่า เมื่อมาถึงแล้ว จะสามารถได้งานในไร่กัญชา ที่ให้ค่าตอบแทนสูงในช่วงเวลาสั้น ๆ

บางคนได้งานในธุรกิจทำเล็บ ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในอังกฤษในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บ้างทำงานในธุรกิจร้านอาหาร เป็นพนักงานทำความสะอาด ในขณะที่บางคนต้องทำงานเป็นโสเภณี และถึงแม้ว่าพวกเขาจะได้งานทำ หลายคนต้องติดอยู่ในกับดัก ถูกใช้แรงงานอย่างหนักและไม่เป็นธรรม ไม่ต่างจากทาส

ฟิล โรเบิร์ตสัน แห่งฮิวแมนไรต์ วอตช์ กล่าวว่าค่าจ้างของพวกเขามักจะต้องถูกหักไปใช้หนี้สิน หรือนำไปชำระเงินกู้ที่พวกเขาหยิบยืมมา เพื่อจ่ายให้แก๊งค์ลักลอบขนแรงงานต่างด้าว ก่อนที่จะส่งเงินที่เหลือกลับไปให้ครอบครัวที่เวียดนาม

หากพวกเขาไม่เชื่อฟัง หรือไม่ทำตามคำสั่งของแก๊งลักลอบขนแรงงานต่างด้าว ครอบครัวที่เวียดนามก็มักจะต้องเป็นผู้ชดใช้ แรงงานต่างด้าวเหล่านี้จะอยู่อย่างหวาดกลัว พวกเขาไม่กล้าไปแจ้งความเพราะกลัวว่าจะถูกจับ หรือถูกส่งกลับประเทศ โดยที่ยังมีหนี้สินกองโตที่ยังชดใช้ไม่หมด

เขามองว่าการหาความยุติธรรมให้กับผู้อพยพเข้าเมืองที่เสียชีวิตในตู้คอนเทนเนอร์ ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของยุโรปแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ควรจะกดดันให้เวียดนามเข้ามาจัดการกับกระบวนการลักลอบขนแรงงานต่างด้าวจากภายในประเทศด้วย

ในขณะเดียวกัน องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ได้ออกมาเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ร่วมมือปรับปรุงและหาช่องทางที่ปลอดภัยสำหรับการเคลื่อนย้ายแรงงาน แทนที่จะมุ่งกดดันหรือโยนความผิดให้ผู้อพยพเข้าเมืองเพียงฝ่ายเดียว

ILO แนะว่าหากประเทศต่าง ๆ ร่วมมือกัน จะทำให้การจับคู่ระหว่างประเทศที่ขาดแคลนแรงงานกับแรงงานต่างด้าวเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ควรจะโยกค่าใช้จ่ายอันเกิดจากการขนย้ายแรงงานให้เป็นภาระของผู้ว่าจ้างมากขึ้น ออกมาตรการที่จะทำให้การอพยพเข้าเมืองอย่างถูกกฎหมายมีราคาถูกลงและสลับซับซ้อนน้อยลง

หากประเทศต่าง ๆ ยังมองว่าการลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย เป็นปัญหาและภาระของผู้อพยพเพียงฝ่ายเดียว ก็ยิ่งจะทำให้แรงงานต่างด้าวถูกบีบให้ต้องหันไปพึ่งแก๊งค้ามนุษย์มากขึ้น และแบกรับความเสี่ยง ที่อาจนำไปสู่จุดจบในชีวิตของใครอีกหลายคน

XS
SM
MD
LG