ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สหรัฐฯ อาจยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรเวเนซูเอล่า


Secretary of State Mike Pompeo
Secretary of State Mike Pompeo

สหรัฐฯ อาจพิจารณาผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรเวเนซูเอล่า เพื่อแลกเปลี่ยนการการตั้งรัฐบาลช่วยเปลี่ยนถ่ายที่มีสมาชิกเป็นพันธมิตรของทั้งประธานาธิบดี นิโคลัส มาดูโร และของผู้นำฝ่ายค้าน ฮวน กวัยโด ขณะที่มีรายงานข่าวจากเยอรมนีว่า อิหร่านเพิ่งได้รับความช่วยเหลือด้านการแพทย์จากต่างประเทศแม้จะถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตรอยู่ก็ตาม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ พอมเพโอ กล่าวในวันอังคารตามเวลาท้องถิ่นว่า สหรัฐฯ เตรียมเสนอให้ ปธน.มาดูโร และ นายกวัยโด ตกลงมอบอำนาจการบริหารประเทศให้กับสภาแห่งใหม่ที่มีสมาชิก 5 คน จนกว่าจะมีการจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีใหม่ในปีหน้า

นายพอมเพโอ ระบุว่า สหรัฐฯ ยินดีที่จะเห็นนายกวัยโดเข้าชิงตำแหน่งผู้นำประเทศในการเลือกตั้งครั้งหน้า พร้อมยืนยันว่าไม่ต้องการเห็นปธน.มาดูโร ในรัฐบาลเวเนซูเอล่าอีกต่อไป

ทั้งนี้ สหรัฐฯ และรัฐบาลของอีกกว่า 50 ประเทศยอมรับนายกวัยโดในฐานะรักษาการผู้นำรัฐบาลเวเนซูเอล่า

ข้อเสนอของสหรัฐฯ นี้ เป็นครั้งแรกที่มีการพูดถึงการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่อภาคธุรกิจน้ำมันของเวเนซูเอล่าและต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่ใกล้ชิดกับปธน.มาดูโร ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชชนและการค้ายาเสพติด

อย่างไรก็ดี เดวิด สไมลด์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเวเนซูเอล่า จาก Washington Office on Latin America ซึ่งเป็นหน่วยงาน NGO แห่งหนึ่งในสหรัฐฯ ให้ความเห็นว่า ข้อเสนอที่สหรัฐฯ ยื่นมานี้ ไม่น่าจะสำเร็จง่ายๆ โดยเฉพาะในด้านการทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องนี้ยอมรับเงื่อนไขทั้งหมด ขณะที่ปธน. มาดูโร และพันธมิตรของเขาเองไม่น่าจะสนับสนุนแผนนี้ เว้นแต่สหรัฐฯ จะให้คำมั่นว่าเขาจะไม่ถูกดำเนินคดีใดๆ ภายใต้ระบบศาลยุติธรรมของสหรัฐฯ

Arak
Arak

ขณะเดียวกัน กระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี เปิดเผยในวันอังคารตามเวลาท้องถิ่นว่า เยอรมนี อังกฤษ และฝรั่งเศส ร่วมกันส่งความช่วยเหลือด้านการแพทย์ให้กับอิหร่าน ซึ่งถูกสหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรไว้

แถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี ไม่ได้ระบุว่า ความช่วยเหลือที่ส่งผ่านกลไกที่ทำให้ทุกอย่างไม่ถือเป็นการละเมิดข้อตกลงคว่ำบาตรนี้ ประกอบด้วยเวชภัณฑ์แบบใด

อิหร่านและประเทศมหาอำนาจ 5 ประเทศลงนามข้อตกลงในปี ค.ศ. 2015 ว่าอิหร่านจะจำกัดการทดลองนิวเคลียร์เพื่อแลกกับการยกเลิกการคว่ำบาตร ต่อมา สหรัฐฯ ประกาศถอนตัวออกจากข้อตกลงนี้ และดำเนินแผนคว่ำบาตรต่ออิหร่าน ส่งผลให้รัฐบาลกรุงเตหะรานกดดันประเทศที่เหลือหาทางช่วยตนมาตลอด

และในวันเดียวกันนี้เอง ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ เรียกร้องให้นานาชาติยกเลิกการคว่ำบาตรประเทศต่างๆ ซึ่งรวมถึง อิหร่าน เวเนซูเอล่า และ เกาหลีเหนือ เพื่อช่วยรับมือกับสถานการณ์การระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่

ฮเลา เอลเวอร์ ผู้เสนอรายงานพิเศษว่าด้วยสิทธิ์เข้าถึงอาหาร กล่าวในแถลงการณ์ล่าสุดว่า การคงไว้ซึ่งมาตรการคว่ำบาตรเศรษฐกิจต่อประเทศเช่น ซีเรีย เวเนซูเอล่า อิหร่าน คิวบา และซิมบับเว ทำให้ประชาชนในประเทศเหล่านั้นไม่อาจใช้สิทธิ์ใดๆ เพื่อเข้าถึงอาหารอย่างเพียงพอได้ ดังนั้น นี่จึงประเด็นมนุษยธรรมและความเร่งด่วนอย่งมากที่จะต้องยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทั้งหมดโดยทันที

XS
SM
MD
LG