ลิ้งค์เชื่อมต่อ

คาดสหรัฐฯ มีวัคซีนโควิด-19 เหลือใช้ราว 300 ล้านโดส นานาชาติวอนแบ่งปัน


asdfghj
asdfghj

ในระหว่างที่ประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก ต้องรอไปอีกหลายปีกว่าจะได้วัคซีนโควิด-19 ให้กับประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ สหรัฐฯ จะมีวัคซีนโควิด-19 เหลือใช้ ราว 300 ล้านโดส ภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ ตามรายงานของ Duke Global Health Innovation Center ท่ามกลางความกังวลเรื่องการกักตุนวัคซีนของประเทศร่ำรวย

ทางหน่วยงาน Duke Global Health Innovation Center ประเมินว่า สหรัฐฯ ภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ สหรัฐฯ จะมีวัคซีนเหลือใช้อย่างน้อย 300 ล้านโดส หรือมากกว่านั้น แม้ว่าสหรัฐฯ จะเดินหน้าแผนแจกวัคซีนให้กับเด็กอเมริกันไปแล้ว ตัวเลขประเมินนี้ ตั้งบนสมมติฐานที่ว่า วัคซีนจากแอสตราเซเนกา และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ได้รับการอนุมัติการใช้ในวงกว้าง แม้จะมีรายงานผลข้างเคียงเรื่องปัญหาลิ่มเลือดออกมาก็ตาม

ณ ตอนนี้สหรัฐฯ ยังไม่อนุมัติการใช้วัคซีนโควิด-19 จากแอสตราเซเนกา แต่สหรัฐฯ สั่งซื้อวัคซีนชนิดนี้มาแล้ว 300 ล้านโดส

อเมริกา จัดการกับ "วัคซีนโควิด-19" ที่เหลือใช้อย่างไร?

ตามรายงานของบลูมเบิร์ก ระบุว่า หลายเมืองใหญ่และหลายรัฐในอเมริกา ประสบปัญหาวัคซีนโควิด-19 เหลือใช้ ในระหว่างที่เป้าหมายแจกวัคซีนให้ถึงประชากรส่วนใหญ่ในอเมริกายังอีกยาวไกล

บลูมเบิร์ก เผยตัวเลขการเข้ารับวัคซีนเมื่อต้นสัปดาห์ พบว่า 37% ของชาวอเมริกัน ได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 โดส และอเมริกายังนำหน้านานาประเทศด้านการแจกจ่ายวัคซีน

แต่พบว่า ราว 1 ใน 3 ของวัคซีนโควิด-19 ที่จัดสรรไปในแต่ละรัฐในอเมริกา ยังไม่ได้เปิดใช้ อีกทั้งการนัดหมายเข้ารับวัคซีนยกเลิกกันเป็นจำนวนมาก และมีผู้คนเพียงหยิบมือที่ลงชื่อเข้ารับวัคซีนโควิด-19

ปริมาณวัคซีนโควิด-19 เริ่มล้น

หลายรัฐในอเมริกาแจกวัคซีนได้ในปริมาณเท่าที่ได้รับแบบตึงมือ ขณะที่อีกหลายรัฐที่วัคซีนเริ่มเหลือล้น จนมีสัญญาณเตือนว่าจะมีวัคซีนที่ไม่ได้เปิดใช้อีกมาก จนบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา ต่างกังวลว่า สหรัฐฯอาจไม่ถึงเป้าหมายให้ประชาชน 75% ได้รับวัคซีน จะไม่ทันก่อนที่จะไวรัสจะถูกควบคุม และมีช่องว่างให้ไวรัสแพร่ระบาดในชุมชนต่อไปได้

อย่างที่รัฐ เวสต์เวอร์จิเนีย ประสบความสำเร็จในการแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 อย่างรวดเร็วในสหรัฐฯ โดยมุ่งเน้นที่คนสูงอายุเป็นหลัก ก่อนจะขยับมาเป็นวัยรุ่นจนถึงอายุ 30 กว่าปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่พบการระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน จากที่เคยใช้วัคซีนจนหมดจากการแจกวัคซีนได้มีประสิทธิภาพ แต่เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ รัฐนี้มีวัคซีนราว 26% ไม่ได้เปิดใช้ และเมื่อสัปดาห์ก่อน มีวัคซีนราว 352,000 โดสที่ไม่ถูกใช้เลย ในขณะที่รัฐแอละแบมา จอร์เจีย และมิสซิสซิปปี ยังไม่ทันเดินเครื่องแจกจ่ายวัคซีนให้ประชาชนได้เพียงพอ จากปัญหาวัคซีนที่ขาดแคลน

ทางการหลายรัฐในอเมริกา เริ่มคิดแนวทางใหม่ในการแจกจ่ายวัคซีน จากเดิมที่คำนวณตามสัดส่วนประชากรของแต่ละรัฐ เพื่อให้ถึงมือประชาชนได้มากที่สุด จากที่รัฐในอเมริกา ไม่มีสิทธิ์กำหนดหรือควบคุมการแจกจ่ายวัคซีนได้เอง อย่างกรณีของรัฐมิสซิสซิปปี ในตอนแรกของแผนแจกวัคซีน ทางรัฐใช้วัคซีนโควิดไปราว 77% จากที่ได้เสนอขอไปจากทางรัฐบาลกลาง แต่ทันทีที่รัฐบาลกลางสหรัฐฯ แจกจ่ายวัคซีนผ่านไปยังร้านขายยาและจุดแจกจ่ายวัคซีนในแต่ละรัฐโดยตรง ทำให้ตอนนี้รัฐใช้วัคซีนที่มีไปเพียง 65% เท่านั้น

ตัวเลขวัคซีนเหลือใช้ในอเมริกา มีสัญญาณเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ หรือ CDC เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พบว่า วัคซีนราว 19% ยังไม่ได้เปิดใช้ ในจังหวะที่ความต้องการวัคซีนอยู่ในระดับสูงมาก

ข้อมูลของบลูมเบิร์ก ยังพบว่า รัฐที่มีการแจกจ่ายวัคซีนได้น้อยที่สุด มีวัคซีนราว 14.1 ล้านโดสที่ยังไม่เปิดใช้ คิดเป็นสัดส่วนถึง 31% ของวัคซีนที่ส่งไปในพื้นที่เหล่านั้น ส่วนรัฐที่มีการแจกวัคซีนได้ดีที่สุด มีวัคซีนเหลือใช้ราว 11% เท่านั้น

แล้ววัคซีนที่ไม่ได้ใช้ไปอยู่ที่ไหน?

ในช่วงแรกของการแจกจ่ายวัคซีนในอเมริกา คนอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน อยู่ในกลุ่มที่มีความลังเลที่จะเข้ารับวัคซีนและเป็นกลุ่มที่ยากต่อการเข้าถึงวัคซีน แต่ในการสำรวจล่าสุด กลับพบว่า คนผิวขาวที่นับถือศาสนาคริสต์นิกาย Evangelical กลายเป็นผู้ต่อต้านวัคซีนโควิด-19 มากที่สุดในอเมริกาตอนนี้

อย่างที่รัฐเวอร์จิเนีย กำลังเปิดให้ประชาชนอายุ 16 ปีขึ้นไป มีสิทธิ์เข้ารับวัคซีนโควิด-19 เริ่มต้น 18 เมษายนนี้ รัฐเวอร์จิเนียโดยรวม ใช้วัคซีนที่ได้รับมาจากส่วนกลางถึง 83% แต่ตัวเลขผู้เข้ารับวัคซีนในแต่ละเขตพื้นที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด อย่างเช่น ชาร์ล็อตสวิลล์ 45% ของประชากรราว 47,200 คน ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 โดส และยอดจองคิวฉีดวัคซีนยาวเหยียดเบียดแน่นสำหรับคลินิกแจกวัคซีนขนาดใหญ่ 2 แห่งในเมืองนี้

ขณะที่ลินช์เบิร์ค ในรัฐเดียวกัน เปิดให้คนอายุ 16 ปีขึ้นไปเข้ารับวัคซีนได้ตั้งแต่ 5 เมษายนไปแล้ว แต่กลับมีประชากรเพียง 29% จากประชากร 82,000 คนได้รับวัคซีนเข็มแรกเท่านั้น ทำให้ทางเมืองลินช์เบิร์ค และชาร์ล็อตสวิลล์ ตั้งเป้าแจกจ่ายวัคซีน ด้วยการเปิดศูนย์กระจายวัคซีนขนาดใหญ่ ในห้าง TJ Maxx และในคลินิกขนาดใหญ่ของเมืองเพื่อกระตุ้นการแจกจ่ายวัคซีนให้เพียงพอ

และความไม่ทั่วถึงของวัคซีนโควิด-19 นำไปสู่รูปแบบการท่องเที่ยวเชิงวัคซีนภายในรัฐ พูดง่ายๆ คือ การตามล่าหาวัคซีนในเวอร์จิเนีย

ภาพที่แตกต่างจากนานาประเทศ

ประเด็นวัคซีนเหลือใช้ในสหรัฐฯ แตกต่างจากสถานการณ์ในประเทศยากจนในหลายพื้นที่ของโลก ที่โครงการแจกจ่ายวัคซีนเป็นไปอย่างล่าช้า จากปัญหาขาดแคลนวัคซีน ซึ่งอาจจะย้อนกลับมากระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯได้ในที่สุด

ที่ผ่านมา ปธน.ไบเดน ย้ำว่า สหรัฐฯ พร้อมบริจาควัคซีนให้หากมีวัคซีนเหลือใช้ แต่สหรัฐฯ ต้องแน่ใจว่าชาวอเมริกันทุกคนได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง ก่อนที่จะยื่นมือเข้าช่วยเหลือประเทศอื่นทั่วโลก

ปริมาณวัคซีนโควิด-19 ที่หน่วยงาน Duke Global Health Innovation Center นำมาเปิดเผยในช่วงที่คณะทำงานของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เผชิญกับแรงกดดันให้หันมาช่วยเหลือแจกจ่ายวัคซีนให้กับประเทศอื่นๆในโลก แม้ว่าสหรัฐฯ ยืนยันสนับสนุนเงินช่วยเหลือด้านการแจกจ่ายวัคซีนโควิดแล้วก็ตาม แต่ยังมีเสียงเรียกร้องให้สหรัฐฯ “แบ่งปัน” ทั้งเทคโนโลยีด้านวัคซีน หรือ “บริจาค” วัคซีนส่วนเกินที่สหรัฐฯ ไม่ต้องการให้กับประเทศอื่น

เมื่อวันพฤหัสบดี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน กล่าวในงานระดมทุนให้โครงการวัคซีน โคแวกซ์ (Covax) ขององค์การอนามัยโลก ที่สนับสนุนการผลิตและแจกจ่ายวัคซีนให้ประเทศรายได้น้อยและปานกลาง รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เรียกร้องให้นานาประเทศร่วมสนับสนุนโครงการวัคซีนนี้ด้วยเช่นกัน จากที่สหรัฐฯ สนับสนุนเงินช่วยเหลือ 4,000 ล้านดอลลาร์ ให้กับโครงการโคแวกซ์ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายแจกจ่ายวัคซีนให้ถึงมือประชากร 20% จาก 92 ประเทศทั่วโลกที่เข้าร่วมโครงการ ภายในสิ้นปีนี้ และว่าโครงการนี้ยังต้องการเงินช่วยเหลือเพิ่มอีก 2,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อให้ดันเป้าหมายแจกวัคซีนให้ได้ถึง 30% ของประชากรในกลุ่มประเทศที่ร่วมโครงการ

อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีบลิงเคน ไม่ได้กล่าวถึงแผนที่เป็นรูปธรรมเกี่ยวกับวัคซีน และไม่ได้กล่าวถึงประเด็นวัคซีนเหลือใช้ในสหรัฐฯแต่อย่างใด

เมื่อวันพุธ องค์กรอ็อกซ์แฟม (Oxfam) ออกจดหมายที่ลงนามโดยอดีตผู้นำประเทศและผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อรางวัลโนเบลกว่า 100 คน เรียกร้องให้ประธานาธิบดีไบเดน ผ่อนปรนเงื่อนไขด้านทรัพย์สินทางปัญญาเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ขณะที่ทาง Duke Global Health Innovation Center เรียกร้องให้สหรัฐฯ สนับสนุนเงินทุนเพื่อโครงการแบ่งปันวัคซีน บริจาควัคซีนส่วนเกินที่สหรัฐฯ มีให้กับประเทศอื่น และใช้บทบาทของสหรัฐฯ ในการเดินหน้าผลิตวัคซีนอย่างเต็มกำลัง

อีกด้านหนึ่ง ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และนานาชาติ (Center for Strategic and International Studies: CSIS) ยื่นจดหมายเสนอข้อเรียกร้องให้สหรัฐฯ บริจาควัคซีนส่วนเกิน 10% ภายในฤดูร้อนปีนี้ และเพิ่มเป็น 50% ภายในสิ้นปีนี้ และปธน.ไบเดน ต้องชี้แจงแผนการดังกล่าวกับชาวอเมริกันด้วย

ในเรื่องนี้ เกล สมิธ ผู้ประสานงานฝ่ายดูแลการรับมือกับโควิด-19 และความมั่นคงด้านสาธารณสุขโลก แห่งกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เรียกร้องให้ประเทศร่ำรวย บริจาควัคซีนส่วนเกินที่มีราว 5% เมื่อประเทศเหล่านั้นแจกจ่ายวัคซีนให้ประชากรของประเทศได้ถึง 20% ไปแล้ว ซึ่งเป็นข้อเสนอที่เกิดขึ้นหลังจากอเมริกา ถึงหลักชัยในการแจกจ่ายวัคซีนให้ชาวอเมริกันเกินกว่าเป้าหมาย 20% ไปแล้ว และมาในจังหวะที่โคโรนาไวรัสกลายพันธุ์ระบาดหนักในหลายพื้นที่ทั่วโลกจนยากเกินควบคุม

อย่างไรก็ตาม ในการศึกษาของ Duke Global Health Innovation Center มองว่า ถึงแม้จะได้รับเงินสนับสนุนโครงการอย่างเต็มที่ในปีนี้ แต่ 92 ประเทศที่อยู่ในโครงการโคแวกซ์ อาจไม่สามารถบรรลุเป้าหมายแจกวัคซีนให้ประชาชนถึงระดับ 20% ของประชากรภายในสิ้นปีนี้ และไม่ถึง 60% ของประชากรประเทศได้ภายในปี 2023 ที่เป็นหลักชัยสำคัญได้

XS
SM
MD
LG