ลิ้งค์เชื่อมต่อ

อุปสรรคสำคัญ 3 ประการของ “ผู้สมัครทางเลือกที่สาม” ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ


FILE - Libertarian Party presidential candidate Gary Johnson.
FILE - Libertarian Party presidential candidate Gary Johnson.

มีคนอเมริกันกว่า 1,700 คนที่ยื่นใบสมัครเพื่อลงเลือกตั้งในตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งจะมีขึ้นในเดือน พ.ย. ปีนี้

please wait

No media source currently available

0:00 0:03:57 0:00
Direct link

ในขณะที่บรรดาสมาชิกพรรครีพับลิกัน มีท่าทีว่าจะไม่รวมตัวกันเพื่อสนับสนุน โดนัลด์ ทรัมพ์ ในฐานะตัวแทนของพรรคในการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ประกอบกับผลสำรวจแสดงให้เห็นว่า ประชาชนอเมริกันส่วนใหญ่ไม่ค่อยชื่นชมในตัวอดีต รมต.ต่างประเทศสหรัฐฯ ฮิลลารี คลินตัน

ทำให้เวลานี้มีการพูดถึงผู้สมัครทางเลือกที่ 3 ในการชิงตำแหน่ง ปธน.สหรัฐฯ ปลายปีนี้

นาย แกรี่ จอห์นสัน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรค Libertarian ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ ABC เมื่อวานนี้ว่า ตนไม่คิดว่า ฮิลลารี คลินตัน และ โดนัลด์ ทรัมพ์ คือตัวแทนทางการเมืองที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคนอเมริกัน และว่าในขณะที่ 50% ของชาวอเมริกันยังเป็นผู้ลงคะแนนอิสระ ตนเชื่อว่าลึกๆแล้วคนกลุ่มนี้มีแนวคิดเสรีนิยมเหมือนกับตน เพียงแต่พวกเขายังไม่รู้ตัวเท่านั้น

แกรี่ จอห์นสัน คือหนึ่งในคนอเมริกันกว่า 1,700 คนที่ยื่นใบสมัครเพื่อลงเลือกตั้งในตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งจะมีขึ้นในเดือน พ.ย. ปีนี้ แต่ส่วนใหญ่ของผู้สมัครเหล่านั้นมักจะเป็นการล้อเลียนมากกว่าจะลงแข่งขันอย่างจริงๆ จังๆ สังเกตจากชื่อที่ใช้ในการสมัคร เช่น วลาดิเมียร์ ปูติน, ฟิเดล คาสโตร หรือ ร็อคกี้ บัลเบา

ในความเป็นจริงแล้ว ผู้สมัครจากพรรคการเมืองที่เรียกกันว่า “พรรคทางเลือกที่สาม” ในสหรัฐฯ นั้น มักประสบกับอุปสรรคมากมาย

ประการแรกคือเรื่องของเงินทุนที่ใช้ในการหาเสียง

กฎหมายสหรัฐฯ กำหนดไว้ว่าผู้ที่จะลงสมัครเป็นประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ ต้องสามารถระดมทุนหาเสียงได้อย่างน้อย 5,000 ดอลลาร์ และหากต้องการจะตระเวนหาเสียงตามรัฐต่างๆ ต้องสามารถระดมทุนได้อย่างน้อย 5,000 ในมากกว่า 20 รัฐ

ด้วยเงื่อนไขดังกล่าว ทำให้เวลานี้เหลือผู้สมัครในฐานะตัวแทน “พรรคทางเลือกที่สาม” เพียง 2 คน คือ แกรี่ จอห์นสัน จากพรรค Libertarian และ จิล สไตน์ จากพรรค Green ซึ่งทั้งคู่ระดมทุนได้ราว 200,000 – 300,000 ดอลลาร์ เทียบกับ โดนัลด์ ทรัมพ์ ที่ระดมทุนได้ 48 ล้านดอลล่าร์ และ ฮิลลารี่ คลินตัน 180 ล้านดอลลาร์

กฎหมายเลือกตั้งยังกำหนดด้วยว่า ในการเลือกตั้งทั่วไปหรือ General election พรรคที่จะได้รับเงินสนับสนุนการหาเสียงจากรัฐบาล มูลค่าเกือบ 100 ล้านดอลลาร์ ต้องเคยได้คะแนนเสียงเกิน 5% ของ Popular vote จากการเลือกตั้งครั้งก่อน ซึ่งไม่มีพรรคไหนเลยนอกจากรีพับลิกันและเดโมแครตที่ทำได้

อุปสรรคประการที่สองของพรรคทางเลือกที่สาม คือเรื่องคูหาเลือกตั้ง

เพราะแม้จะหาเงินทุนได้เพียงพอ แต่พรรคทางเลือกที่สามอาจประสบปัญหาเรื่องการนำชื่อของตนไปปรากฏในบัตรเลือกตั้ง เนื่องจากต้องมีผู้ลงนามสนับสนุนอย่างน้อยหลายร้อยคนไปจนถึงหลายแสนคนแล้วแต่รัฐ ทำให้การมีชื่อปรากฏอยู่ในบัตรเลือกตั้งนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายนัก

ประการที่สามคือการโต้อภิปรายหรือดีเบต (Debate) ซึ่งถือเป็นกระบวนการสำคัญของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

การดีเบตทำให้ประชาชนทั่วไปได้เห็นหน้า บุคลิก แนวคิดและนโยบายของผู้สมัครแต่ละคน ซึ่งส่วนใหญ่การที่จะขึ้นเวทีดีเบตได้นั้น ผู้สมัครต้องได้เสียงสนับสนุนเกิน 15% ในผลสำรวจคะแนนนิยมต่างๆ

ที่ผ่านมา ครั้งสุดท้ายที่ผู้สมัครทางเลือกที่สามได้ขึ้นเวทีดีเบต คือเมื่อปี ค.ศ. 1992 ซึ่ง รอส เพอโรต์ ผู้สมัครอิสระ ได้ขึ้นโต้อภิปรายกับ จอร์จ บุช และ บิล คลินตัน โดยในปีนั้น เพอโรต์ ได้คะแนนเสียงไปไม่น้อยคือ 19%

สำหรับผลสำรวจล่าสุดที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัย Monmouth ชี้ว่า เวลานี้นางคลินตันมีคะแนนนิยม 42% ทรัมพ์ 34% และแกรี่ จอห์นสัน จากพรรค Libertarian 11%

(ผู้สื่อข่าว Chris Hannas รายงาน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)

XS
SM
MD
LG