ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สหรัฐฯ ระบุ อนาคตของข้อตกลงนิวเคลียร์ขึ้นอยู่กับอิหร่าน


This handout photo released on May 1, 2021 by the EU Delegation in Vienna shows delegation members from the parties to the Iran nuclear deal attending a meeting at the Grand Hotel in Vienna.
This handout photo released on May 1, 2021 by the EU Delegation in Vienna shows delegation members from the parties to the Iran nuclear deal attending a meeting at the Grand Hotel in Vienna.

สำนักข่าว The Associated Press รายงานว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ส่งสัญญาณให้อิหร่านอย่าคาดหวังข้อผ่อนปรนใหม่จากทางฝั่งสหรัฐฯ ขณะที่จะมีการตั้งโต๊ะกลับมาเจรจานิวเคลียร์ทางอ้อมอีกครั้ง

เมื่อวันพฤหัสบดี เจ้าหน้าที่อาวุโสของรัฐบาลสหรัฐฯ ระบุว่า สหรัฐฯ เตรียมข้อผ่อนปรนเพื่อนำประเทศกลับเข้าร่วมข้อตกลงนิวเคลียร์เมื่อปีค.ศ. 2015 ที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถอนสหรัฐฯ ออกมาเมื่อปีค.ศ. 2018 โดยเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวระบุว่า ความสำเร็จหรือความล้มเหลวครั้งนี้ จะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจทางการเมืองของอิหร่าน ที่จะรับข้อผ่อนปรนเหล่านั้นและยินยอมเข้าร่วมข้อตกลงหรือไม่

เจ้าหน้าที่ที่ขอสงวนชื่อคนดังกล่าว กล่าวกับผู้สื่อข่าวระหว่างการประชุมทางโทรศัพท์ที่จัดโดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ หนึ่งวันก่อนที่จะเริ่มการเจรจาในกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย โดยเจ้าหน้าที่ผู้นี้หารือกับผู้สื่อข่าวถึงจุดยืนของสหรัฐฯ ต่อการเข้าสู่การเจรจาลับครั้งที่4 ระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่าน

ท่าทีดังกล่าวจากทางสหรัฐฯ มีขึ้นหลังแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ วิจารณ์ท่าทีอันแข็งกร้าวของอิหร่าน ระหว่างที่เขาเดินทางเยือนยูเครน โดยเขากล่าวว่า สหรัฐฯ ไม่ทราบว่าอิหร่านเตรียมพร้อมตัดสินใจเพื่อยินยอมกับข้อตกลงนิวเคลียร์อย่างเต็มที่หรือไม่ ในขณะที่อิหร่านเดินหน้า “โครงการส่วนที่เป็นอันตราย” อีกครั้ง ซึ่งเป็นส่วนที่ข้อตกลงนิวเคลียร์ดังกล่าวได้ห้ามไว้

U.S. Secretary of State
U.S. Secretary of State

ทางด้านอิหร่านก็ไม่ได้แสดงท่าทียอมรับเงื่อนไขที่ลดลง นอกจากการยกเลิกมาตรการลงโทษทั้งหมดในยุครัฐบาลทรัมป์ และคัดค้านข้อเสนอให้อิหร่านยกเลิกการกระทำที่ละเมิดข้อตกลงดังกล่าว โดยในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ เจ้าหน้าที่อิหร่านระบุว่า สหรัฐฯ เสนอลดมาตรการลงโทษลงเป็นอย่างมาก แต่ก็ยังไม่เพียงพอ โดยไม่ได้ระบุว่าทางอิหร่านจะดำเนินการอย่างไรเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน

เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯยืนยันว่า พร้อมกลับไปปฏิบัติตามเงื่อนไขของข้อตกลงนิวเคลียร์ตามที่เคยเจรจาในยุคของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา แต่ด้วยเงื่อนไขที่ว่า อิหร่านต้องปฏิบัติเช่นเดียวกัน โดยเขาระบุว่า สหรัฐฯ จะไม่ปฏิบัติเกินกว่าที่ข้อตกลงนี้ระบุเพื่อให้อิหร่านกลับมายินยอมเข้าร่วมอีกครั้ง

ทั้งนี้ ข้อตกลงนิวเคลียร์ดังกล่าวช่วยลดมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่ออิหร่านได้เป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ เพื่อแลกกับการที่อิหร่านจำกัดโครงการนิวเคลียร์ อย่างไรก็ตาม การผ่อนมาตรการลงโทษส่วนใหญ่ถูกยกเลิกไปหลังทรัมป์นำสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงดังกล่าว และกลับมาใช้มาตรการลงโทษต่ออิหร่านอีกครั้ง ซึ่งอิหร่านก็ตอบโต้ด้วยการเสริมสมรรถนะยูเรเนียม ใช้กระบวนการหมุนเหวี่ยงเพื่อแยกแร่ยูเรเนียม และผลิตน้ำมวลหนัก

Iranian President Hassan Rouhani reviews Iran's new nuclear achievements during Iran's National Nuclear Energy Day in Tehran, Iran April 10, 2021.
Iranian President Hassan Rouhani reviews Iran's new nuclear achievements during Iran's National Nuclear Energy Day in Tehran, Iran April 10, 2021.

หลังการเจรจารอบที่แล้วที่กรุงเวียนนา รัฐบาลสหรัฐฯ ระบุว่า ทางสหรัฐฯ ยืดหยุ่นต่อข้อเสนอให้อิหร่าน รวมถึงการปฏิบัติเกินจากข้อตกลงเพื่อผ่อนปรนมาตรการลงโทษที่ไม่เกี่ยวข้องต่อนิวเคลียร์ ที่ส่งผลกระทบต่อชาวอิหร่าน โดยเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ คนดังกล่าวระบุเมื่อวันพฤหัสบดีว่า ความเป็นไปได้นี้ยังคงมีอยู่ แม้ขอบเขตของความยืดหยุ่นนั้นจะถึงขีดจำกัดแล้ว โดยเขาไม่ได้ลงรายละเอียดว่า สหรัฐฯ เตรียมข้อผ่อนปรนอะไรบ้าง แต่จะต้องจำกัดข้อเสนอที่ไม่เป็นไปตามข้อตกลงนิวเคลียร์

เจ้าหน้าที่ผู้นี้ปฏิเสธไม่ขอคาดการณ์ว่า การเจรจารอบที่ 4 นี้จะส่งผลครั้งใหญ่หรือไม่ แต่เขาระบุว่า ยังมีความเป็นไปได้ที่ทั้งสองฝ่ายจะบรรลุข้อตกลงโดยเร็ว ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีอิหร่านในเดือนหน้าที่อาจทำให้การเจรจายากลำบากยิ่งขึ้น

เจ้าหน้าที่ผู้นี้ยังย้ำว่า ความสำเร็จของการเจรจานั้นขึ้นอยู่กับว่า อิหร่านจากเรียกร้องมากกว่าเงื่อนไขในข้อตกลงฉบับเดิมหรือไม่ และจะยอมยกเลิกการกระทำที่ละเมิดข้อตกลงที่ผ่านมาหรือไม่

เขายังระบุด้วยว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ชุดปัจจุบัน ไม่เชื่อว่ารัฐบาลทรัมป์ใช้มาตรการลงโทษที่ไม่เกี่ยวกับนิวเคลียร์เพียงเพื่อขัดขวางไม่ให้มีการกลับเข้าร่วมข้อตกลงในอนาคต โดยเขาระบุว่า สหรัฐฯ จะเฝ้าดูว่ามาตรการลงโทษดังกล่าวจะเป็นไปในแนวทางเดียวกับเงื่อนไขกลับเข้าร่วมข้อตกลงนิวเคลียร์หรือไม่ ซึ่งหากอิหร่านยินยอมกลับเข้าร่วมข้อตกลง จะถือเป็นผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ ด้วย แต่ในทางกลับกัน หากมาตรการนี้ไม่เป็นไปในทางเดียวกับเงื่อนไข สหรัฐฯ ก็พร้อมยกเลิกมาตรการลงโทษดังกล่าวเช่นกัน

XS
SM
MD
LG