ลิ้งค์เชื่อมต่อ

การเจรจาสุดยอด "สหรัฐฯ - เกาหลีเหนือ" กับปัจจัยเรื่องปฏิทินการเมืองของสหรัฐฯ


FILE - A combination photo shows North Korean leader Kim Jong Un in Pyongyang, North Korea and U.S. President Donald Trump in Palm Beach, Florida.
FILE - A combination photo shows North Korean leader Kim Jong Un in Pyongyang, North Korea and U.S. President Donald Trump in Palm Beach, Florida.

ประธานาธิบดีทรัมป์อาจได้ประโยชน์จากข้อตกลงเพื่อหาเสียงเลือกตั้ง ส่วนเกาหลีเหนือก็ไม่มั่นใจว่าทรัมป์จะได้รับเลือกกลับมาอีกหรือไม่?

ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวว่า มีความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในพฤติกรรมของเกาหลีเหนือสำหรับการเจรจาซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายนนี้

และเป็นที่คาดการณ์ว่า การตัดสินใจหันหน้าเข้าเจรจาของนายคิม จอง อึน มีเหตุผลส่วนใหญ่จากมาตรการกดดันอย่างหนักทั้งทางเศรษฐกิจและจากคำขู่ใช้กำลังทหารของประธานาธิบดีทรัมป์ รวมทั้งจากความพยายามของประธานาธิบดี มูน แจ อิน ของเกาหลีใต้ ที่จะปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างสองเกาหลีด้วย

ส่วนนักวิเคราะห์ของเกาหลีใต้บางคน เช่น นายลี ซัง ฮุน จากสถาบันแซจองของเกาหลีใต้ เชื่อว่า แรงจูงใจของประธานาธิบดีทรัมป์ในการเจรจากับเกาหลีเหนือนั้นมีเหตุผลทางการเมือง จากการคาดการณ์ว่าการบรรลุข้อตกลงเรื่องนิวเคลียร์จะช่วยเพิ่มโอกาสการได้รับเลือกตั้งอีกครั้งในอีกสองปีต่อจากนี้

หรืออย่างน้อยที่สุดถ้ามีความคืบหน้าบางส่วน ประธานาธิบดีทรัมป์ก็จะสามารถนำมาใช้ช่วยหาเสียงเลือกตั้งกลางเทอมปลายปีนี้ได้

ส่วนเกาหลีเหนือเอง รัฐบาลเปียงยางก็ต้องการทำความตกลงเรื่องนิวเคลียร์กับประธานาธิบดีทรัมป์ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปของสหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2563 เพราะไม่แน่ใจว่าประธานาธิบดีทรัมป์จะชนะการเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่? ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นเกาหลีเหนือก็ไม่แน่ใจว่าผู้นำชุดใหม่ของสหรัฐฯ จะมีท่าทีเรื่องข้อตกลงจากการเจรจากับเกาหลีเหนืออย่างไรเช่นกัน

สำหรับท่าทีของรัฐบาลสหรัฐฯ ในขณะนี้ฝ่ายสหรัฐฯ ยืนยันว่าจะต้องมีความคืบหน้าอย่างแท้จริงเรื่องการยกเลิกโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนืออย่างสมบูรณ์และสามารถตรวจพิสูจน์ได้ ก่อนที่จะผ่อนปรนมาตรการลงโทษ

และนายจอห์น โบลตัน ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงชาติของสหรัฐฯ​ ก็กล่าวว่า อยากให้เกาหลีเหนือใช้รูปแบบข้อตกลงที่สหรัฐฯ ทำกับลิเบีย ซึ่งอดีตประธานาธิบดีโมอัมมาร์ กัดดาร์ฟีทำข้อตกลงยกเลิกอาวุธอานุภาพทำลายร้ายแรงทั้งหมดเมื่อปี พ.ศ. 2546 และยอมให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบระหว่างประเทศเข้าไปตรวจพิสูจน์ได้

อย่างไรก็ตาม เกาหลีเหนือเกรงว่ารูปแบบข้อตกลงที่สหรัฐฯ เคยทำกับลิเบียนั้น จะทำให้เกิดปัญหาเหมือนการเกิดสงครามกลางเมืองในลิเบีย ซึ่งตามมาด้วยการส่งกำลังทหารสหรัฐฯ เข้าแทรกแซง จนทำให้พันเอกกัดดาฟีต้องพ้นจากอำนาจไป

ดังนั้นเกาหลีเหนือจึงต้องการข้อตกลงแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยให้มีการผ่อนคลายมาตรการลงโทษหลังการปลดอาวุธในแต่ละขั้นตอน ซึ่งจะใช้เวลานานกว่า และจะช่วยรักษาเสถียรภาพให้กับนายคิม จอง อึน ได้ด้วย

สำหรับเกาหลีใต้นั้น รัฐบาลของประธานาธิบดีมูน แจ อิน คาดหวังว่าจะสามารถทำให้มีข้อตกลงสันติภาพเพื่อใช้แทนข้อตกลงพักรบหรือการหยุดยิงกับเกาหลีเหนือซึ่งใช้มาตั้งแต่หลังสงครามเกาหลีเมื่อ 65 ปีที่แล้ว และจะเป็นผลให้ทั้งสองเกาหลีมีความสัมพันธ์ที่ราบรื่นมากขึ้น แทนภาวะสงครามในปัจจุบัน

XS
SM
MD
LG