ลิ้งค์เชื่อมต่อ

รัฐบาลปธน.ทรัมป์เสนอตัดงบต่างประเทศปีงบประมาณหน้า 21%


President Donald Trump's budget request for fiscal year 2021 arrives at the House Budget Committee on Capitol Hill in Washington, Feb. 10, 2020.
President Donald Trump's budget request for fiscal year 2021 arrives at the House Budget Committee on Capitol Hill in Washington, Feb. 10, 2020.
please wait

No media source currently available

0:00 0:03:36 0:00

รัฐบาลสหรัฐฯ เสนอตัดงบประมาณช่วยเหลือต่างประเทศสำหรับปีงบประมาณ 2021 ลง 1 ใน 5 เมื่อเทียบกับตัวเลขปีงบประมาณปัจจุบัน ขณะที่ผู้สัดทัดกรณีเชื่อว่า รัฐสภาสหรัฐฯ ซึ่งมีพรรคเดโมแครตคุมเสียงข้างมาก จะไม่อนุมัติตัวเลขดังกล่าวและเพิ่มงบกลับขึ้นมาในที่สุด

รัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เสนองบต่างประเทศที่ 4.41 หมื่นล้านดอลลาร์ จากงบรวม 4.8 ล้านล้านดอลลาร์สำหรับงบประมาณปี 2021 ซึ่งจะเริ่มขึ้นในวันที่ 1 ตุลาคมปีนี้

ตัวเลขล่าสุดซึ่งต่ำกว่างบประมาณต่างประเทศปี 2020 ที่ 5.57 หมื่นล้านดอลลาร์ ประมาณ 21% ทำให้ เอเลียต เอนเกล (Eliot Engel) ประธานคณะกรรมาธิการด้านการต่างประเทศของสภาผู้แทนราษฏรสหรัฐฯ ส่งข้อความผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ทวิตเตอร์ที่ระบุว่า “...ทำเนียบขาวควรช่วยอนุรักษ์ต้นไม้มากกว่าจะส่งร่างงบประมาณที่สุดท้ายจะไปอยู่ที่นี่” พร้อมรูปถังขยะของสภาล่าง ประกอบข้อความ

รัส โวท (Russ Vought) รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารและงบประมาณของรัฐบาลสหรัฐฯ กล่าวว่า ปธน.ทรัมป์มองว่าสหรัฐฯ ไม่ควรจะตั้งงบประมาณต่างประเทศในระดับสูงอีกต่อไป และว่าตัวเลขที่เสนอในปีหน้าถือว่าเป็นจำนวนไม่น้อย ขณะที่ความช่วยเหลือด้านมนุษยชนของสหรัฐฯ ยังเป็นระดับที่สูงกว่าที่หลายๆ ประเทศตั้งด้วย

อย่างไรก็ตาม หลายคนมองว่า ร่างงบประมาณล่าสุดนี้ มีโอกาสที่จะถูกสภาล่างที่พรรคเดโมแครตคุมเสียงส่วนใหญ่ลงมติปฏิเสธ ดังเช่นที่เกิดขึ้นในการอภิปรายงบประมาณปีที่แล้ว

จิเซลล์ ดอนเนลลี่ จาก American Enterprise Institute ซึ่งเป็นองค์การด้านวิเคราะห์นโยบายสหรัฐฯ เชื่อว่า สภาคองเกรสน่าจะมีมติให้เพิ่มงบต่างประเทศขึ้น อย่างน้อยให้เกือบเท่ากับระดับที่อนุมัติสำหรับปีงบประมาณปัจจุบัน เพราะไม่ว่าจะอย่างไร งบประมาณส่วนนี้เทียบว่าเล็กน้อยมากกับตัวเลขขาดดุลงบประมาณและภาวะหนี้สิ้นโดยรวมของรัฐบาล

ดอนเนลลี่ ยังกล่าวด้วยว่า การตัดงบประมาณต่างประเทศครั้งนี้ของรัฐบาลปธน.ทรัมป์ยังไม่น่าห่วงเท่ากับการที่รัฐบาลลดบทบาทความสำคัญของงานด้านต่างประเทศ ซึ่งเห็นได้จากการไล่เจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงและเจ้าหน้าที่การทูตชั้นสูงออกไปในช่วงที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน พลเรือเอก ไมค์ มัลเลน (Admiral Mike Mullen) ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งประธานคณะเสนาธิการร่วมระหว่างปี ค.ศ. 2007 และ 2011 ส่งจดหมายถึงสภาคองเกรสเพื่อเตือนว่า ยิ่งรัฐบาลตัดงบประมาณการต่างประเทศมากขึ้นเท่าไหร่ ความเสี่ยงของปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯ ที่จะต้องดำเนินการนานขึ้นภายใต้ภาวะที่เสี่ยงตายมากขึ้น ก็จะยิ่งสูงตามไปด้วย

ส่วน อิโว ดาลเดอร์ (Ivo Daalder) อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำนาโต้ ให้ความเห็นว่า นโยบายลดเงินอุดหนุนกิจการต่างประเทศของรัฐบาลชุดปัจจุบัน เป็นการตอกย้ำจุดยืนของปธน.ทรัปม์ ที่จะเน้นการใช้กำลังมากกว่าวิธีทางการทูตและการทำงานร่วมกันกับนานาประเทศในการรับมือกับปัญหาทั่วโลก

ท้ายสุด เอริค ชวาทซ์ (Eric Schwartz) ประธานองค์กรที่ทำงานด้านผู้ลี้ภัย Refugees International กล่าวว่า สิ่งที่ดูขัดแย้งกันอยู่ คือการที่ประธานาธิบดีทรัมป์ รัฐมนตรีต่างประเทศไมค์ พอมเพโอ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดปัจจุบันมักพูดถึงความใจกว้างของสหรัฐฯ มาตลอด แต่การกระทำกลับไม่ค่อยสอดคล้องกับสิ่งที่พูดนัก

ตามรายละเอียดของร่างงบประมาณล่าสุด ทำเนียบขาวยังเสนอขอเพิ่มงบสนับสนุน U.S. International Development Finance Corporation หรือ DFC ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระแห่งใหม่ที่เพิ่งตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนาต่างๆ ของภาคเอกชน

XS
SM
MD
LG