ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ภาระหนี้สาธารณะสหรัฐฯ จ่อพุ่งเกินมูลค่าเศรษฐกิจประเทศ


US GDP
US GDP
US Debt
please wait

No media source currently available

0:00 0:04:36 0:00


การรับศึกการระบาดของโควิด-19 เท่าที่ผ่านมาทำให้ฐานะการคลังของรัฐบาลสหรัฐฯ ตึงขึ้นอย่างมาก ในระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือเมื่อ 75 ปีที่แล้ว และสำนักงบประมาณของรัฐสภาสหรัฐฯ หรือ CBO ได้ออกมาเตือนรัฐบาลว่า จะเกิดการขาดดุลงบประมาณครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 1975 ด้วยตัวเลขหนี้สาธารณะของประเทศที่คาดว่าจะสูงกว่ามูลค่ารวมของเศรษฐกิจของประเทศ

รายงานของ Associated Press อ้างการวิเคราะห์ของ CBO ที่ระบุว่า การขาดดุลในปีงบประมาณปัจจุบันที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายนนี้น่าจะอยู่ที่ประมาณะ 3.3 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 16 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีของประเทศ

ขณะเดียวกัน CBO ประเมินว่า หนี้สาธารณะของรัฐบาลน่าจะสูงกว่าจีดีพีของประเทศถึง 1 เท่าตัวภายในปีหน้า ก่อนจะเพิ่มสูงขึ้นไปถึงระดับ 24.5 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี ค.ศ. 2023 ซึ่งหากเป็นจริง ก็จะสูงกว่าสัดส่วนการเพิ่มขึ้น 106 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับจีดีพี ที่สหรัฐฯ บันทึกไว้เมื่อปี ค.ศ. 1946 ด้วย

เมื่อหันมาพิจารณาดูว่า เหตุใดตัวเลขหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ถึงสูงขึ้นได้เพียงนั้น จะพบว่า รัฐบาลสหรัฐฯ มีภาระหนี้สูงอยู่มากก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ในเดือนมีนาคม เนื่องจากต้องใช้งบประมาณเพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ ระหว่างปี ค.ศ. 2007 และ 2009 รวมทั้งใช้ในด้านสวัสดิการที่รัฐต้องจ่ายให้กับประชาชนที่เกิดในยุคเบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer) หรือ คนที่เกิดระหว่างปี ค.ศ. 1946 – 1964 ที่อยู่ในวัยเกษียณในเวลานี้ รวมทั้งเพื่อค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากมาตรการปรับลดภาษีของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ประกาศใช้เมื่อ 2 ปีที่แล้วด้วย

แต่วิกฤติการระบาดใหญ่ของโควิด-19 นี้ยิ่งทำให้สภาพเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ร่วงลงหนักในสภาวะทิ้งตัว เพราะภาคธุรกิจต้องพากันปิดตัว และประชาชนต้องใช้ชีวิตอยู่แต่ภายในเคหสถานเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

ข้อมูลจากรัฐบาลระบุว่า เศรษฐกิจของสหรัฐฯ หดตัวไปถึง 31.7 เปอร์เซ็นต์ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ซึ่งเป็นสถิติที่แย่ที่สุดของประเทศนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1947 มา ขณะที่ตัวเลขผู้ว่างงานนับตั้งแต่เดือนมีนาคมจนถึงเดือนมิถุนายนนั้นสูงถึง 22 ล้านราย

และเพื่อช่วยเหลือชาวอเมริกันให้อยู่รอดผ่านพ้นช่วงวิกฤตินี้ สภาคองเกรสได้อนุมัติแผนช่วยเหลือมูลค่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ในเดือนมีนาคม ซึ่งมีรายละเอียดหลากหลาย อาทิ เช็คเงินช่วยเหลือจำนวน 1,200 ดอลลาร์สำหรับผู้ที่มีประวัติชำระภาษีในปีที่ผ่านมา และเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลกลางสัปดาห์ละ 600 ดอลลาร์สำหรับผู้ที่ว่างงาน ซึ่งเพิ่มเติมจากเงินแบบเดียวกันที่รัฐบาลประจำรัฐของตนจ่ายให้

นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า แผนการช่วยเหลือทั้งหลายนี้น่าจะช่วยไม่ให้เศรษฐกิจของประเทศเข้าสู่ภาวะตกต่ำ แต่ประชาชนและภาคธุรกิจยังต้องการความช่วยเหลือมากกว่านี้อยู่ดี

อย่างไรก็ตาม มีคนถามว่า รัฐบาลจะจัดการหนี้สินระดับสูงขนาดนี้ได้หรือไม่ ภาพรวมนั้นดูยากกว่าเมื่อครั้งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากปัจจุบัน เศรษฐกิจของประเทศไม่ได้เจริญเติบโตในอัตราที่สูงมากเป็นเวลาหลายปีแล้ว และมีอัตราเฉลี่ยการเติบโตนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010 มา ที่ 2.3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซี่งหมายความว่า รายได้รัฐเองไม่น่าจะสูงมาก ขณะเดียวกัน รัฐบาลไม่ได้มีการควบคุมกลไกทางเศรษฐกิจเต็มรูปแบบเช่นในสมัยก่อน และทำให้ไม่สามารถใช้อำนาจกดอัตราดอกเบี้ยให้ลดลง เพื่อที่จะให้ต้นทุนการชำระหนี้ของรัฐอยู่ในระดับต่ำตามใจชอบได้

นอกจากนั้น สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์กังวลและออกมาเตือนได้ระยะหนึ่งแล้วคือ การที่รัฐบาลออกพันธบัตรเพื่อกู้เงินมาใช้จ่ายจนหนี้สาธารณะสูงขนาดดังว่า จะส่งความเสี่ยงไปยังสภาพเศรษฐกิจได้ เพราะการที่รัฐออกมากู้แข่งกับภาคธุรกิจจะทำให้อัตราดอกเบี้ยพุ่งสูง จนทำให้อัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจมีปัญหาได้

ด้วยเหตุนี้ นักเศรษฐศาสตร์บางรายรวมทั้งผู้สังเกตการณ์ที่เชี่ยวชาญเรื่องงบประมาณเตือนว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องเริ่มชะลอการใช้จ่าย และปรับเพิ่มอัตราภาษีได้แล้ว

XS
SM
MD
LG