ลิ้งค์เชื่อมต่อ

เผยสาเหตุพบเด็กอเมริกันเป็น 'ออทิสซึ่ม' เพิ่มขึ้น


please wait

No media source currently available

0:00 0:03:44 0:00

อัตราการเพิ่มขึ้นอัตราใหม่ของเด็กที่เป็นโรคออทิสซึ่มในสหรัฐฯ นี้ เป็นการสรุปที่ใช้ข้อมูลที่จัดเก็บจากชุมชน 11 แห่ง ในรัฐแอริโซน่า อาร์คันซอ โคโลราโด จอร์เจีย เเมรี่เเลนด์ มินเนสโซต้า มิสซูรี่ นิวเจอร์ซี่ นอร์ทแคโรไลน่า เทนเนสซี่ เเละวิสคอนซิน

รายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ตีพิมพ์ทุกสองปีโดยโครงการเฝ้าติดตามโรคออทิสซึ่มและความบกพร่องทางพัฒนาการ ซึ่งสนับสนุนทางการเงินโดยศูนย์ควบคุมโรคแห่งสหรัฐฯ หรือ CDC ซึ่งทำการทดสอบเด็กอายุ 8 ขวบ มากกว่า 300,000 คน ว่ามีความบกพร่องนี้หรือไม่

ศูนย์ควบคุมโรคแห่งสหรัฐฯ หรือ CDC (Centers for Disease Control) กล่าวในผลการศึกษาที่เปิดเผยเมื่อเร็วๆ นี้ว่า มีเด็กในสหรัฐฯ เป็นโรคนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ระหว่างปี พ.ศ. 2555 ถึง 2557 เป็นการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมานานตลอดยี่สิบปี

ในการศึกษาพบว่า เด็ก 8 ขวบ 1 ใน 59 คน ได้รับการวินิจฉัยว่ามีความบกพร่องแบบออทิสซึ่มในปี พ.ศ. 2557 เพิ่มขึ้นจาก 1 ใน 68 คนในปี พ.ศ. 2553 กับปี พ.ศ. 2555

ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นนี้ ส่วนหนึ่งมาจากจำนวนเด็กอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันเเละเชื้อสายอเมริกาใต้ ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้เพิ่มขึ้น

ในปี พ.ศ 2555 เด็กอเมริกันผิวขาวได้รับการวินิจฉัยโรคนี้บ่อยกว่าเด็กอเมริกันเชื้อสายอเมริกาใต้ ถึงร้อยละ 50 เเละบ่อยกว่าเด็กอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันร้อยละ 20 เ

เละในรายงานชิ้นล่าสุด ช่องว่างของการวินิจฉัยโรคระหว่างเชื้อสายของเด็กอเมริกันนี้ลดลงมาร้อยละ 20 ในกลุ่มเด็กเชื้อสายอเมริกาใต้ เเละร้อยละ 10 ในกลุ่มเด็กเชื้อสายแอฟริกัน

ทีมนักวิจัยของศูนย์ควบคุมโรคแห่งสหรัฐฯ ชี้ว่า การวินิจฉัยโรคเพิ่มขึ้นในกลุ่มเด็กที่เป็นชนกลุ่มน้อยในสหรัฐฯ น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไมจึงมีจำนวนเด็กในสหรัฐฯ เป็นออทิสซึ่มเพิ่มขึ้น

การวินิจฉัยออทิสซึ่ม ไม่ใช้การตรวจเลือดหรือตรวจสารคัดหลั่งในร่างกาย เเต่การวินิจฉัยใช้การพิจารณาด้านพฤติกรรมของเด็ก

ตามวิธีวินิจฉัยดั้งเดิม ออทิสซึ่มมักตัดสินจากความบกพร่องรุนเเรงด้านความสามารถทางภาษาและการเข้าสังคม ตลอดจนการมีพฤติกรรมซ้ำๆ เเต่คำจำกัดความที่เกี่ยวกับอาการของโรคค่อยๆ ขยายกว้างมากขึ้น โดยได้รวมเอากลุ่มของความบกพร่องในระดับอ่อนๆ และกลุ่มอาการที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เข้าไว้ด้วย

เฮ็ทเธอร์ โคดี้ เฮซเเล็ท (Heather Cody Hazlett) นักจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัย นอร์ท แคโรไลน่า (University of North Carolina) เรียกการเพิ่มขึ้นเล็กน้อยนี้จากปี พ.ศ. 2555 ถึงปี พ.ศ. 2559 ว่าไม่น่าแปลกใจ แต่ที่น่าผิดหวังคือข้อเท็จจริงที่ว่ามีเด็กที่เป็นออทิสซึ่มน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งหมด ได้รับการวินิจฉัยว่ามีความบกพร่องนี้เมื่อตอนอายุครบ 4 ขวบเเล้ว ซึ่งเเสดงให้เห็นว่าพ่อเเม่ตัดสินใจช้าที่จะให้ลูกเข้ารับการวินิจฉัยโรคเเม้ว่าอาจจะมีความสงสัย

เฮซเเล็ท กล่าวว่า แพทย์จำนวนมากอาจลังเล ไม่รีบตัดสินใจว่าเด็กควรได้รับการวินิจฉัยความบกพร่องนี้ในกรณีที่เด็กยังอายุน้อย เนื่องจากต้องการใช้ระมัดระวังและไม่อยากถูกมองว่าตื่นตูม เเละนั่นทำให้เกิดความล่าช้าในการบำบัดเเละการบริการอื่นๆ ที่เด็กควรได้รับ

(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทย กรุงวอชิงตัน)

XS
SM
MD
LG