ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ศาลอุทธรณ์สหรัฐฯ ชี้ เวทีนางงามห้ามหญิงข้ามเพศเข้าประกวดได้


This undated photo provided by Michelle Stevens shows Anita Green, a transgender woman who sued the Miss United States of America pageant after she said the organization denied her entry into its Oregon pageant because she is transgender.
This undated photo provided by Michelle Stevens shows Anita Green, a transgender woman who sued the Miss United States of America pageant after she said the organization denied her entry into its Oregon pageant because she is transgender.

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์ของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ตัดสินว่า การประกวดนางงามระดับชาติสามารถใช้สิทธิ์ตามบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ฉบับที่ 1 เพื่อไม่ให้หญิงข้ามเพศเข้าประกวดด้วย เนื่องจากการให้หญิงข้ามเพศเข้าประกวดอาจเป็นการแทรกแซงสารที่เวทีการประกวดต้องการสื่อถึง “ความหมายของการเป็นผู้หญิง” ตามรายงานของเอพี

คำตัดสินดังกล่าวมีขึ้นหลังการยื่นคำร้องของแอนิตา กรีน หญิงข้ามเพศ ต่อศาล 9th U.S. Circuit Court of Appeals โดยระบุว่า เวทีประกวด Miss United States of America ละเมิดกฎหมายต่อต้านการกีดกันของรัฐโอเรกอน หลังเวทีดังกล่าวไม่อนุญาตให้เธอเข้าประกวดเมื่อปี 2019

ก่อนหน้านี้ กรีนได้เข้าประกวดนางงามหลายเวที เช่น Miss Montana USA, Miss Earth และ Ms. World Universal โดยเธออาศัยอยู่ในรัฐโอเรกอน และเตรียมเข้าแข่งขันการประกวด Miss Oregon ซึ่งเป็นเวทีย่อยของการประกวด Miss United States of America ก่อนที่ทางผู้จัดงานจะปฏิเสธใบสมัครของเธอ เนื่องจากทางเวทีเห็นว่าเธอไม่ได้เป็น “ผู้หญิงแต่กำเนิด” ตามการระบุของกรีน

กรีนฟ้องร้องทางองค์กรผู้จัดงาน โดยระบุว่า องค์กรละเมิดกฎหมายของรัฐที่ระบุว่า การปฏิเสธการอำนวยความสะดวกสาธารณะต่อผู้คนด้วยเหตุผลทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศ เป็นสิ่งผิดกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ทนายของผู้จัดประกวด Miss United States of America ระบุว่า การประกวดดังกล่าวถูกออกแบบมาเพื่อส่งเสริม “ผู้ที่เกิดมาเป็นหญิงตามธรรมชาติ” โดยส่งสารถึง “การส่งเสริมพลังของผู้ที่เป็นหญิงมาแต่กำเนิด” โดยการประกวดนี้มีข้อกำหนดต่อผู้เข้าประกวดหลายอย่าง เช่น ข้อกำหนดด้านอายุ สถานะการสมรส และอัตลักษณ์ทางเพศ

ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ลงคะแนนเสียง 2 ต่อ 1 โดยมีความเห็นสนับสนุนองค์กรจัดประกวด โดยระบุว่า การบังคับให้ผู้จัดประกวดอนุญาตให้หญิงข้ามเพศเข้าประกวดด้วย จะเป็นการเปลี่ยนแปลงสารที่ผู้จัดประกวดต้องการจะสื่อ

ผู้พิพากษาลอว์เรนซ์ แวนไดก์ ระบุว่า แม้สารที่นางงามในแต่ละเวทีต้องการนำเสนอนั้นจะแตกต่างกัน แต่เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่า การประกวดนางงามถูกออกแบบมาเพื่อนำเสนอ “วิสัยทัศน์ในอุดมคติของความเป็นหญิงอเมริกัน”

ศาลอุทธรณ์มีคำตัดสินว่า “บทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ฉบับที่ 1 ให้สิทธิ์แก่ผู้จัดการประกวดในการส่งสารนี้ และใช้กฎ ‘หญิงแต่กำเนิด’ ได้” และระบุว่า การบังคับให้เวทีประกวดเปิดให้หญิงข้ามเพศเข้าประกวด จะถือว่าเป็น “การบังคับให้แสดงออก” ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิตามบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ทางด้านผู้พิพากษาซูซาน พี. แกรเบอร์ ซึ่งเป็นเสียงส่วนน้อยที่ไม่เห็นด้วยต่อคำตัดสินดังกล่าว ระบุว่า ศาลควรพิจารณาก่อนว่า กฎหมายรัฐโอเรกอนสามารถนำมาใช้กับคดีนี้ได้หรือไม่ ซึ่งอาจทำให้สามารถตัดสินคดีนี้ได้ ก่อนที่ผู้พิพากษาจะพิจารณาถึงแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ฉบับที่ 1 ซึ่งเป็นกฎหมายรัฐบาลกลางด้วยซ้ำ

จอห์น แคมฟ์ ทนายของผู้จัดการประกวด Miss United States of America ระบุว่า คำตัดสินดังกล่าวเป็นเรื่องของความยุติธรรม เนื่องจากโจทก์ต้องการบังคับให้ผู้จัดประกวดส่งสารที่ขัดกับสิ่งที่ทางผู้จัดต้องการสื่อจริง ๆ ซึ่งขัดต่อสิทธิ์ตามบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ฉบับที่ 1

คำตัดสินครั้งนี้มีขึ้น หลังศาลชั้นต้นมีคำตัดสินเอื้อต่อผู้จัดการประกวดเมื่อปีที่แล้ว โดยในครั้งนี้ กรีน ระบุว่า แม้เธอจะผิดหวัง แต่คดีดังกล่าวก็สร้างความตระหนักรู้ต่อการกีดกันบุคคลข้ามเพศในวงการนางงาม

เธอระบุในขณะนั้นว่า “ฉันเชื่อว่า Miss United States of America อยู่ในฝั่งที่ผิดของประวัติศาสตร์โดยเลือกกีดกันบุคคลข้ามเพศ แต่เส้นทางที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างมีความหมายนั้นยังคงดำเนินไปอีกยาวนานและยังไม่ราบรื่น…หญิงข้ามเพศคือผู้หญิง สารของฉันคงที่เสมอ และสารของฉันก็คือ ทุกทุกคนต่างมีความงาม”

  • ที่มา: เอพี
XS
SM
MD
LG