ลิ้งค์เชื่อมต่อ

การแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ-จีน ยกระดับความตึงเครียดในอาเซียน


FILE - Chinese and U.S. flags are set up for a meeting at China's Ministry of Transport in Beijing, April 27, 2018.
FILE - Chinese and U.S. flags are set up for a meeting at China's Ministry of Transport in Beijing, April 27, 2018.

ภาวะการแข่งขันอันดุเดือดระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยังดำเนินอยู่นี้ กำลังเป็นปัจจัยการยกระดับความตึงเครียดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อสองมหาอำนาจพยายามสร้างอิทธิพลต่อนโยบายด้านเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ รวมทั้งกรณีข้อพิพาททางดินแดนในแถบทะเลจีนใต้ และประเด็นการมีอิสรภาพของไต้หวันด้วย

อิทธิพลของจีนในโลกนั้นมีความชัดเจนขึ้นระดับหนึ่งเมื่อความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership - RCEP) เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคมของปี 2022

ความตกลง RCEP ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีจีนเป็นผู้ผลักดันจนได้สมาชิกเข้าร่วม 14 ประเทศ ที่ประกอบด้วย 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน และออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์

ในการประชุมสุดยอดจีน-อาเซียนครั้งที่ 25 ซึ่งจัดขึ้นที่กัมพูชาเมื่อเดือนที่แล้ว นายกรัฐมนตรีหลี เค่อเฉียง ของจีนระบุในคำปราศรัยว่า ปริมาณการค้าระหว่างจีนและอาเซียนพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดที่ 798,400 ล้านดอลลร์ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ไปแล้ว

นายกรัฐมนตรีหลี กล่าวว่า “เราได้ทำงานร่วมกันเพื่อให้มีการลงนามและบังคับใช้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่นำมาซึ่งการจัดตั้งเขตการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งเป็นการผลักดันการพัฒนาการที่มีการเชื่อมต่อถึงกันและเปิดกว้างให้ก้าวไปอีกระดับหนึ่ง”

อย่างไรก็ตาม ฮันเตอร์ มาร์สตัน ผู้ที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาเอก ที่ Australian National University เกี่ยวกับการแข่งขันของประเทศมหาอำนาจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้ความเห็นว่า ในเวลานี้อาจเร็วเกินไปที่จะตัดสินว่า RCEP นั้นนำมาซึ่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญต่ออาเซียนจริงหรือไม่

มาร์สตัน บอกกับผู้สื่อข่าว วีโอเอ ภาคภาษาจีนกลาง ว่า “การค้าระหว่างอาเซียนและจีนพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ใน (ช่วง 10 เดือนแรกของ) ปี 2022 ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องจับตาดูกัน แต่สิ่งที่ยากก็คือ ไม่มีใครบอกได้ว่า การขยายตัวนี้เป็นเพราะ RCEP เป็นหลักจริงหรือไม่” และว่า “RCEP เพียงแค่ลดการกีดกันทางการค้าและทำให้การค้าขายมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ที่ผ่านมา ยังเป็นเรื่องยากที่จะกล่าวว่า เรื่อง(ความตกลง)นี้นำมาซึ่งผลประโยชน์อันชัดเจนและเห็นผลทันทีแล้ว”

ในฝ่ายของสหรัฐฯ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เปิดตัวกรอบเศรษฐกิจภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework – IPEF) เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อหวังต้านแรงกระเพื่อมของ RCEP

แผนงานดังกล่าวซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 14 ประเทศ ซึ่งรวมถึง ออสเตรเลีย อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้และญี่ปุ่น ตั้งเป้าที่จะยืนยันการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้และเพื่อนำเสนอตัวเองเป็นทางเลือกนอกเหนือจากแผน RCEP ของรัฐบาลกรุงปักกิ่งให้กับประเทศอื่น ๆ ด้วย

ปธน.ไบเดน กล่าวในระหว่างพิธีเปิดตัว IPEF ที่กรุงโตเกียวว่า “อนาคตของเศรษฐกิจศตวรรษที่ 21 นั้นส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ในอินโด-แปซิฟิก – ภูมิภาคของเรา” และว่า “เราจะทำการเขียนกฎใหม่ ๆ ขึ้น”

เอียน เฉิน ศาสตราจารย์จาก Institute of Political Science แห่ง Sun Yat-sen University ในไต้หวัน แสดงความไม่แน่ใจว่า ว่า IPEF จะสามารถสร้างผลกระทบใด ๆ ต่อความเป็นจริงที่ว่าเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พึ่งพาจีนมาตลอดได้ในเร็ว ๆ นี้จริงหรือไม่

ศาสตราจารย์เฉิน บอกกับผู้สื่อข่าว วีโอเอ ภาคภาษาจีนกลาง ว่า ตนไม่คิดว่า แผนงานของสหรัฐฯ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระยะสั้น โดยระบุว่า “IPEF ไม่ได้บังคับให้สมาชิกต้องผูกติดกับพันธกรณีแบบเข้มงวด ดังนั้น ประเทศต่าง ๆ จึงสามารถกำหนดเองว่า จะมีส่วนร่วมอย่างไรบ้าง และด้วยเงื่อนไขแบบหลวม ๆ นี้ จึงเป็นเรื่องยากที่จะไปให้ถึงเป้าหมายที่ต้องการได้”.

FILE -- From left, Japanese Prime Minister Fumio Kishida, U.S. President Joe Biden and Indian Prime Minister Narendra Modi pose for photos as they arrive at the Indo-Pacific Economic Framework for Prosperity launch event at the Izumi Garden Gallery in Tok
FILE -- From left, Japanese Prime Minister Fumio Kishida, U.S. President Joe Biden and Indian Prime Minister Narendra Modi pose for photos as they arrive at the Indo-Pacific Economic Framework for Prosperity launch event at the Izumi Garden Gallery in Tok

จอช เคอร์แลนต์ซิค นักวิจัยอาวุโสด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จาก Council on Foreign Relations ไม่เห็นด้วยกับความคิดที่ว่า แผน IPEF ของปธน.ไบเดนนั้น เกิดขึ้นมาเพียงเพื่อแข่งกับ RCEP ของจีนเท่านั้น

เคอร์แลนต์ซิค บอกกับ วีโอเอ ภาคภาษาจีนกลาง ว่า “กรอบเศรษฐกิจภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก นั้นอาจเป็นคล้าย ๆ การตอบโต้การดำเนินแผนงานทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ของจีนในระดับภูมิภาค แต่โดยทั่วไปแล้ว เป็นการตอบโต้ข้อร้องเรียนที่ว่า สหรัฐฯ ไม่มีนโยบายด้านการค้าในภูมิภาคนี้เลยมากกว่า” พร้อมแสดงความเชื่อมั่นว่า แผนงานนี้ไม่ใช่เป็นเพียงการตอบโต้จีนเพียงอย่างเดียว

นักวิจัยยังกล่าวด้วยว่า “สหรัฐฯ นั้นได้ละทิ้งความเป็นผู้นำด้านการค้าและการมีส่วนร่วมทางการค้ากับเอเชียมาเป็นเวลานานแล้ว ... แต่กรอบเศรษฐกิจภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ซึ่งเป็นเหมือนแผนความร่วมมือทางเศรษฐกิจแบบหลอก ๆ ไม่น่าจะช่วยอะไรได้มาก”

รายงานข่าวระบุว่า ขณะที่ รายละเอียดหลายอย่างของ IPEF ยังไม่ได้การเปิดเผยออกมา ฮันเตอร์ มาร์สตัน จาก Australian National University คาดว่า ปธน.ไบเดน น่าจะออกมาประกาศแนวคิดริเริ่มทางเศรษฐกิจอื่น ๆ เพิ่มเติมในปี 2023 และกล่าวว่าด้วยว่า แม้ IPEF จะดูเป็นการเคลื่อนไหวเรื่องเชิงสัญลักษณ์มากกว่า การที่สมาชิกอาเซียน 7 ประเทศเข้าร่วมด้วยแสดงให้เห็นว่า การมีส่วนร่วมในภูมิภาคนี้ของสหรัฐฯ ยังคงเป็นเรื่องที่ประเทศต่าง ๆ สนใจอยู่มาก

ข้อมูลจากเอกสาร 2022 ASEAN Investment Report ชี้ว่า รัฐบาลกรุงวอชิงตันนั้นเป็นผู้นำด้านการลงทุนในภูมิภาคนี้ ด้วยเม็ดเงินที่เพิ่มขึ้น 41% มาที่ระดับ 40,000 ล้านดอลลาร์ในปี ค.ศ. 2021 ขณะที่ การลงทุนของจีนพุ่งสูงถึง 96% มาที่เกือบ 14,000 ล้านดอลลาร์ในปีเดียวกัน

ในประเด็นนี้ มาร์สตันมองว่า แม้สหรัฐฯ จะยังเป็นผู้นำในด้านการลงทุนในอาเซียน ภูมิภาคนี้กำลังกลายมาเป็นเป้าหมายการแข่งขันจากหลายขั้วเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว

และนอกเหนือจากความพยายามของกรุงวอชิงตันและกรุงปักกิ่งในการแย่งชิงความเป็นผู้มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจแล้ว นักวิเคราะห์กล่าวว่า ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่ต้องจับตามองกันด้วย

อลัน หยาง ศาสตราจารย์จาก National Changchi University ในไต้หวัน บอกกับ วีโอเอ ภาคภาษาจีนกลางว่า ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บางประเทศกังวลว่า การที่ ส.ส.แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เยือนไต้หวันเมื่อไม่กี่เดือนก่อนนั้นอาจเป็นจุดที่ทำให้จีนดำเนินการทางทหารมากขึ้น

ส่วน เคอร์แลนต์ซิค จาก Council on Foreign Relations กล่าวว่า การที่จีนเดินหน้าสั่งสมกำลังทหารในทะเลจีนใต้ พร้อม ๆ กับการที่กรุงวอชิงตันพยายามปิดกั้นจีนไม่ให้เข้าถึงชิปเซมิคอนดักเตอร์ล้ำสมัย ก็เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงการเผชิญหน้าที่หนักหน่วงขึ้นระหว่างสองมหาอำนาจ ขณะที่ ประเด็นไต้หวันน่าจะเป็นเรื่องที่ต้องกังวลกันมากที่สุดในปีหน้าที่จะมาถึง

เคอร์แลนต์ซิค กล่าวทิ้งท้ายว่า “สหรัฐฯ และจีนต่างกำลังเข้ามาร่วมวงกับไต้หวันมากขึ้นเรื่อย ๆ จนอาจมุ่งไปสู่ความน่าจะเป็นที่จะกลายมาเป็นประเด็นขัดแย้งได้แล้ว”

  • ที่มา: วีโอเอ
XS
SM
MD
LG