กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ รายงานว่าทารกที่เกิดในประเทศยากจนและประเทศที่มีภาวะเสี่ยงอันตราย มีโอกาสเสียชีวิตสูงถึง 50 เท่าตัวเมื่อเทียบกับทารกที่เกิดในประเทศที่ปลอดภัยและมีความมั่งคั่งมากกว่า
รายงานการสำรวจของกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ สะท้อนความเหลื่อมล้ำด้านความอยู่รอดของทารกที่เกิดใหม่ใน 195 ประเทศทั่วโลก พบว่า ทารกที่เกิดในประเทศยากจนทุกๆ 1,000 คน จะเสียชีวิต 27 คน ซึ่งต่างจากทารกที่เกิดในประเทศร่ำรวย ที่พบการเสียชีวิตเพียง 3 คน จาก 1,000 คน
โดยประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตของทารกมากที่สุด ปากีสถาน ที่อัตราการเสียชีวิตเฉลี่ย 1 ใน 22 คน ซึ่งมากกว่ากลุ่มประเทศเขตใต้ทะเลทรายซาฮาราในทวีปแอฟริกา ขณะที่ประเทศญี่ปุ่น มีอัตราการเสียชีวิตของทารกต่ำที่สุดในโลก ที่ 1 ต่อ 1,111 คน
Meg French หัวหน้าโครงการ Every Child Alive ของยูนิเซฟ บอกด้วยว่า ทุกปีจะมีทารกเสียชีวิตราว 2.6 ล้านคนภายในเดือนแรกที่พวกเขาเกิดมา นั่นเท่ากับว่า จะมีทารกเสียชีวิต 7,000 คนทุกวัน
โดยทารกกว่าร้อยละ 80 ในจำนวนนี้เสียชีวิตจากการคลอดก่อนกำหนด ปัญหาแทรกซ้อนระหว่างคลอด และภาวะติดเชื้อต่างๆ เช่น ปอดอักเสบ และภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่น่าเจ็บปวดมากเนื่องจากเป็นปัญหาที่เราสามารถป้องกันและแก้ไขได้
โครงการ Every Child Alive ที่เพิ่งเริ่มต้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์นี้ พุ่งเป้าไปที่ในการหาวิธีที่ง่ายและใช้ต้นทุนต่ำ เพื่อป้องกันและลดการเสียชีวิตของทารกทั่วโลก
Meg เพิ่มเติมว่า ก้าวสำคัญในการลดอัตราการเสียชีวิตของทารกที่ตรงจุดที่สุด ไม่ใช่การทำคลอดในโรงพยาบาลที่มีเครื่องมือครบครัน แต่มาจากการฝึกอบรมพยาบาลพดุงครรภ์ แพทย์และพยาบาลที่ทำคลอดที่ถูกต้องและปลอดภัย
หลักการป้องกันหรือลดอัตราการเสียชีวิตของทารก ยังรวมไปถึงการเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาด ระบบสุขอนามัย การให้นมแม่ทันทีในชั่วโมงแรกที่คลอด การสัมผัสทารก และโภชนาการที่เพียงพอสำหรับทารก
ล่าสุด ยูนิเซฟ เตรียมเสนอให้รัฐบาลทั่วโลกเพิ่มการลงทุนพัฒนาระบบสาธารณสุข ที่เอื้อประโยชน์ต่อแม่และทารก ทั้งระบบน้ำสะอาด สบู่ และระบบไฟฟ้า ที่จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของทารกทั่วโลกในอนาคต