ลิ้งค์เชื่อมต่อ

"ทรัมป์" ยืนยันพร้อมเจรจา "ผู้นำอิหร่าน" ทุกเวลาโดยไม่มีเงื่อนไข


A combination of two pictures shows U.S. President Donald Trump (L) on July 22, 2018, and Iranian President Hassan Rouhani on Feb. 6, 2018.
A combination of two pictures shows U.S. President Donald Trump (L) on July 22, 2018, and Iranian President Hassan Rouhani on Feb. 6, 2018.

เจ้าหน้าที่อเมริกันระบุว่า รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ พอมเพโอ จะไม่พบปะกับรัฐมนตรีต่างประเทศของอิหร่าน ที่การประชุมของประเทศสมาชิกสมาคมอาเซียนที่สิงคโปร์ในสุดสัปดาห์นี้ แม้ว่าประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า ตนต้องการจะเจรจากับผู้นำอิหร่านเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของกรุงเตหะราน

รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ พอมเพโอ และรัฐมนตรีต่างประเทศของอิหร่าน จาว๊าด ซารีฟ จะเดินทางไปร่วมในการประชุมของสมาคมอาเซียนที่สิงคโปร์ในสุดสัปดาห์นี้ แต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยืนยันว่า ทั้งคู่ไม่มีแผนจะพบปะเจรจากันแต่อย่างใด

นอกจากนี้ มีรายงานด้วยว่า เกาหลีเหนือก็จะส่งผู้แทนมาที่การประชุมของอาเซียนที่สิงคโปร์ แต่ก็ไม่มีกำหนดการเจรจากับรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ เช่นกัน

ก่อนหน้านี้ ปธน. โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงด้านนิวเคลียร์ที่ทำไว้กับอิหร่านตั้งแต่ปี ค.ศ. 2015 และเมื่อวันจันทร์นี้ ปธน.ทรัมป์ ได้แสดงความจำนงว่าต้องการจะพบเจรจากับ ปธน.อิหร่าน ฮัสซาน รูฮานี

ปธน.ทรัมป์ แถลงข่าวที่ทำเนียบขาวว่า ตนเชื่อในการหารือซึ่งๆ หน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องสงคราม ความตาย ความอดอยาก และเรื่องอื่นๆ

ผู้นำสหรัฐฯ ยังระบุถึงการพบกันระหว่างตนกับผู้นำเกาหลีเหนือ คิม จอง อึน เมื่อเดือนมิถุนายน และกับ ปธน.วลาดิเมียร์ ปูติน เมื่อเดือนที่แล้ว ว่าเป็นตัวอย่างของการเจรจาโดยตรงที่สร้างประโยชน์ให้กับสหรัฐฯ

ปธน.ทรัมป์ กล่าวด้วยว่า ตนพร้อมที่จะพบกับผู้นำอิหร่านตลอดเวลา หากอิหร่านต้องการ โดยที่ไม่มีเงื่อนไขใดๆ

แต่รัฐมนตรีพอมเพโอ ให้สัมภาษณ์กับเครือข่าย CNBC ในเวลาต่อมาว่า ปธน.ทรัมป์ พร้อมจะหารือกับผู้นำอิหร่าน หากอิหร่านปรับแก้วิธีปกครองประชาชน และลดพฤติกรรมอาฆาตมุ่งร้ายลง

ทางอิหร่านตอบโต้โดยบอกว่า การเจรจาโดยตรงกับรัฐบาลวอชิงตันจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อสหรัฐฯ เคารพในสิทธิของอิหร่าน ลดความเป็นศัตรู และยินยอมกลับเข้าสู่ข้อตกลงด้านนิวเคลียร์ที่อิหร่านทำไว้กับ 6 ประเทศ คือ สหรัฐฯ รัสเซีย จีน ฝรั่งเศส อังกฤษ และเยอรมนี ภายใต้ชื่อ Joint Comprehensive Plan of Action (JCPOA) ที่มีเป้าหมายป้องกันไม่ให้อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง

ที่ผ่านมา อิหร่านซึ่งมีโครงสร้างทางการเมืองที่ซับซ้อนกว่าเกาหลีเหนือ ค่อนข้างใจเย็นกับการมีสัมพันธ์ทางการทูตกับกรุงวอชิงตัน และยิ่งเย็นชามากขึ้นเมื่อ ปธน.ทรัมป์ ถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์ดังกล่าว ในขณะที่ประเทศอื่นพยายามที่จะโน้มน้าวให้สหรัฐฯ กลับสู่ข้อตกลงนี้อีกครั้ง และยุติแผนใช้มาตรการลงโทษกับอิหร่านที่จะมีผลในเดือนสิงหาคมนี้

แต่นักวิเคราะห์แห่งสถาบัน Carnegie Endowment for International Peace แจเร็ตต์ บล็องซ์ ให้ความเห็นว่า การประชุมระหว่างผู้นำสหรัฐฯ กับอิหร่าน ไม่น่าจะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ เพราะที่ผ่านมาดูเหมือน ปธน.รูฮานี ยังไม่ต้องการที่จะพบเจรจากับ ปธน.ทรัมป์ แต่อย่างใด

ขณะที่คุณชาราม อัคบาร์เซเดย์ แห่งภาควิชาตะวันออกกลางศึกษา มหาวิทยาลัย Deakin ในออสเตรเลีย ชี้ว่า ผู้นำอิหร่านมอง ปธน.ทรัมป์ เป็นอันธพาล และคิดว่าการที่สหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลงด้านนิวเคลียร์ คือการทำลายความเชื่อใจของอิหร่าน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่ผู้นำอิหร่านจะยินยอมกลับสู่โต๊ะเจรจาอีกครั้ง

(ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียงรายงานจากห้องข่าววีโอเอ)

XS
SM
MD
LG