ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ผู้เชี่ยวชาญเตือน ปัญหาแล้งจัดในไทยอาจทำศก.ทรุดหนัก-ภาวะยากจนรุนแรงขึ้น


ผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญกำลังทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในภาวะแล้งจัดจนทำให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตรที่ควรจะอยู่ในช่วงเติบโตงอกงามในเวลานี้

ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า ปริมาณน้ำฝนจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคมของปีนี้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยถึง 25% และสภาพการณ์ดังกล่าวก็บีบให้รัฐบาลต้องออกคำแนะนำให้เกษตรกรลองหันไปปลูกพืชประเภทที่ใช้น้ำน้อยกว่าแทน หากยังไม่ได้เริ่มฤดูกาลเพาะปลูกของตน

ขณะที่ องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกประกาศว่า เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาคือเดือนกรกฎาคมที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์โลก เดือนเมษายนยังคงเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดของไทย และนายเชาว์วรรธน์ ศิวะพรชัย นักอุตุนิยมวิทยาจากกรมอุตุฯ ของไทย ระบุว่า เทรนด์ระยะยาวของสภาพภูมิอากาศโลกยังคงเป็นเรื่องของอุณหภูมิที่ปรับเพิ่มขึ้นและรุนแรงกว่าปกติเพราะปรากฎกาณ์เอลนีโญ

ทั้งนี้ ปรากฎการณ์ธรรมชาติเอลนีโญ คือ การที่อุณหภูมิของพื้นผิวน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออกและตอนกลางอุ่นขึ้นทุก ๆ 2-3 ปี ซึ่งส่งผลให้เกิดสภาพอากาศร้อน แห้งแล้งและภาวะขาดฝนในแถบเอเชีย โดยในปีนี้ ประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนแล้วมีอาทิ อินเดีย จีน ลาว ปากีสถานและเวียดนาม

ผู้คนที่ท่องเที่ยวตามท้องถนนในกรุงเทพฯ ต้องอาศัยหมวกและใช้พัดมือคอยโบกไล่ความร้อน เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2023
ผู้คนที่ท่องเที่ยวตามท้องถนนในกรุงเทพฯ ต้องอาศัยหมวกและใช้พัดมือคอยโบกไล่ความร้อน เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2023

รายงานจากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกที่ตีพิมพ์ออกมาเมื่อเดือนที่แล้วชี้ว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญในมหาสมุทรแปซิฟิกในปีนี้นับเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี และมีความน่าจะเป็นถึง 90% ที่จะลากยาวไปจนถึงสิ้นปีนี้

รายงานชิ้นนี้ยังระบุด้วยว่า มีความแน่นอนสูงมากว่า สภาพอากาศโลกในช่วง 5 ปีจากนี้จะอยู่ในระดับร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยจะมี 1 ใน 5 ปีที่อุณหภูมิจะปรับสูงที่สุดอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนด้วย

สำหรับประเทศไทยนั้น สถิติใหม่ของระดับความร้อนได้เกิดขึ้นไปแล้วก่อนหน้านี้ โดยอุณหภูมิสูงที่สุดเท่าที่บันทึกได้นั้นอยู่ที่จังหวัดตาก ด้วยตัวเลข 45.5 องศาเซลเซียสในเดือนเมษายนซึ่งเป็นเดือนเดียวกับที่ดัชนีความร้อนของประเทศที่บ่งชี้ความรู้สึกถึงความร้อนที่นับรวมความชื้นสัมพัทธ์เข้ามาร่วมด้วย พุ่งสูงถึง 53.9 องศาเซลเซียสซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยบันทึกได้ที่จังหวัดชลบุรีและที่จังหวัดภูเก็ต

อุณหภูมิที่พุ่งสูงได้ส่งผลให้ประชาชนต้องพึ่งพาเครื่องปรับอากาศอย่างหนัก จนทำให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าในประเทศพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคม

สถานการณ์ความร้อนและแล้งในไทยรุนแรงขึ้นอีกอย่างเห็นได้ชัดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังระดับน้ำในเขื่อนลำตะคองในจังหวัดนครราชสีมาลดลงแตะระดับต่ำจนถนนมิตรภาพสายประวัติศาสตร์ปรากฏขึ้นมา โดยถนนสายดังกล่าวถูกก่อสร้างขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างไทยและสหรัฐฯ ในช่วงสงครามเวียดนามและกองทัพอากาศสหรัฐฯ ใช้เพื่อเดินทางไปยังฐานที่ตั้งในจังหวัดอุดรธานี และถูกน้ำในเขื่อนจมมิดมานาน โดยระดับน้ำที่หายไปขนาดนั้นแสดงให้เห็นว่า น้ำในเขื่อนแห่งนี้หายไปเกินครึ่ง อ้างอิงรายงานจากหนังสือพิมพ์ข่าวสดภาษาอังกฤษ

อาจารย์เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นในอีเมลที่ส่งให้ วีโอเอ ว่า ภาวะแล้งจากฤทธิ์ของปรากฏการณ์เอลนีโญจะส่งผลร้ายแรงต่อสภาพเศรษฐกิจของประชาชนในไทยไม่น้อย เพราะผลผลิตทางการเกษตรหลัก ๆ ทั้งข้าว ข้าวโพดและอ้อย จะได้รับความเสียหายจากสภาพการณ์นี้ ซึ่งหากผลผลิตออกมาต่ำ รายได้ของผู้ปลูกก็จะหดหาย และนั่นก็อาจหมายถึงภาวะยากจนที่ลากยาวต่อเนื่อง เนื่องจากครัวเรือนที่ประสบภาวะดังกล่าวจะไม่มีทรัพยากรใด ๆ มากพอมาบรรเทาผลกระทบจากภาวะแล้งได้เลย

รายงานข่าวระบุว่า ข้อมูลทางการชี้ว่า ในเวลานี้ เกษตรกรไทยราว 40% ใช้ชีวิตอยู่ใต้เส้นแบ่งความยากจนอยู่แล้ว ขณะที่ ภาคการเกษตรนั้นมีสัดส่วนราว 9% ของจีดีพีของประเทศที่ได้ชื่อว่า เป็นผู้ส่งออกข้าวขนาดใหญ่อันดับที่ 2 ของโลกและเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลดิบที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลกด้วย โดยแรงงานของภาคการเกษตรนั้นยังคิดเป็นสัดส่วนมากถึงประมาณ 1 ใน 3 ของแรงงานทั่วประเทศด้วย

ภาพของคนงานในโรงน้ำแข็งที่ตลาดแห่งหนึ่ง ในช่วงที่เกิดภาวะคลื่นความร้อนในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2023
ภาพของคนงานในโรงน้ำแข็งที่ตลาดแห่งหนึ่ง ในช่วงที่เกิดภาวะคลื่นความร้อนในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2023

ทั้งนี้ หลังภาวะเศรษฐกิจของไทยอ่อนตัวลงอย่างหนักในช่วงที่มีการระบาดรุนแรงของโควิด-19 สถานการณ์ก็เริ่มฟื้นตัวดีขึ้นและมีการประเมินว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจนั้นจะอยู่ที่ 3.5 %

แต่รอยเตอร์รายงานเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เพิ่งออกมาเตือนว่า เศรษฐกิจของประเทศซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจหดตัวเพราะปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศและความไม่แน่นอนทางการเมือง

ในประเด็นนี้ อาจารย์เกียรติอนันต์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ว่า ภาวะแห้งแล้งอาจทำให้ความสามารถในการแข่งขันของภาคการเกษตรของไทยในระยะยาวลดถอยลง เพราะหากครัวเรือนในภาคเกษตรมีปัญหาด้านรายได้ ก็จะกระทบต่อการลงทุนเพื่อพัฒนาผลผลิตทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพนั่นเอง

นอกจากนั้น อาจารย์เกียรติอนันต์ยังเตือนว่า สภาพการณ์ดังกล่าวอาจบีบให้ประชาชนในภาคการเกษตรต้องหันไปทำงานในภาคอุตสาหกรรมอื่น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงขององค์ประกอบของแรงงานของประเทศก็จะยิ่งกดดันภาคเกษตร และยิ่งทำให้ประเด็นความเหลื่อมล้ำรายภาคและระหว่างภูมิภาคยิ่งรุนแรงขึ้นได้

  • ที่มา: วีโอเอ
XS
SM
MD
LG