ลิ้งค์เชื่อมต่อ

คุยกับผู้ลี้ภัยการเมืองรุ่นใหม่ จำใจสละสิทธิ์เลือกตั้ง หวั่นเผยข้อมูลต่อรัฐขณะลงทะเบียน


Thai young political refugees overseas, from left to right: Supitcha Chailom, Pornpimol and Putthapong Klinyeetho
Thai young political refugees overseas, from left to right: Supitcha Chailom, Pornpimol and Putthapong Klinyeetho

ในจำนวนผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งไทยนอกราชอาณาจักรทั้งหมด 115,139 คนนั้น ไม่มีชื่อของ “เมลิญณ์ – สุพิชฌาย์ ชัยลอม”, “พรพิมล (ขอสงวนนามสกุล)” และ “เรเน่ – พุทธพงศ์ กลิ่นยี่โถ” สามผู้ลี้ภัยการเมืองคนรุ่นใหม่ชาวไทยที่อาศัยในแคนาดา เยอรมนี และฝรั่งเศส ตามลำดับ โดยทั้งสามต่างเผชิญคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

ผู้ลี้ภัยคนรุ่นใหม่ทั้งสามต่างกล่าวกับวีโอเอไทยว่า “จำใจ” ไม่ลงทะเบียนใช้สิทธิ์เลือกตั้ง เนื่องจากกังวลถึงความปลอดภัยต่อการเปิดเผยที่อยู่ต่อสถานทูตไทย โดยเฉพาะหากคำนึงถึงการที่พวกเธอเคยเผชิญการคุกคามจากรัฐเมื่อครั้งยังอยู่ที่ไทย

ขณะเดียวกัน ตัวแทนพรรคพลังประชารัฐกล่าวกับวีโอเอไทยว่า ทางพรรครัฐบาลไม่มีนโยบายรบกวนและสร้างปัญหาต่อผู้ลี้ภัยไทยในต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ลี้ภัยไทยจำนวนหนึ่งที่สูญหายในต่างประเทศโดยยังไม่มีการสืบสวนจนทราบสาเหตุที่แน่ชัด ด้านตัวแทนพรรคก้าวไกล-เพื่อไทย เผยว่า ต้องลดความเป็นการเมืองและปรับกระบวนการทางนโยบายต่อการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะ ม.112 เพื่อให้ผู้ลี้ภัยไทยรู้สึกปลอดภัยต่อการติดต่อกับราชการมากขึ้น

“เมลิญณ์” อายุถึงเลือกตั้งเป็นครั้งแรก แต่ไม่ได้ใช้สิทธิ์

“ที่ผ่านมาแค่ได้เลือกตั้งแบบ อบต. ผู้ใหญ่บ้านที่เชียงใหม่ค่ะ” “เมลิญณ์” สุพิชฌาย์ ชัยลอม วัย 20 ปี กล่าวกับวีโอเอไทยจากนครแวนคูเวอร์ เมืองที่เธอลี้ภัยจากไทยมาแล้วครึ่งปี หลังถูกดำเนินคดีสี่ข้อหา ซึ่งเป็นคดีตามมาตรา 112 สามคดี จากบทบาทการเป็นแกนนำเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ระหว่างการประท้วงครั้งใหญ่ของไทยเมื่อปี 2563

สุพิชฌาย์ตัดสินใจมาอยู่แคนาดาเนื่องจากเธอและครอบครัวเผชิญสิ่งที่เธอเห็นว่าเป็นการคุกคามจากรัฐ เช่น การติดตามครอบครัวที่บ้าน เธอจึงลี้ภัยออกมาเพื่อความปลอดภัยของตนเองและคนรอบข้าง ประสบการณ์ดังกล่าวยังทำให้เธอรู้สึกไม่ปลอดภัยต่อการกรอกข้อมูลส่วนตัว โดยเฉพาะที่อยู่ปัจจุบัน ให้กับสถานทูตไทยเพื่อลงทะเบียนเลือกตั้งในครั้งนี้

ในฐานะอดีตแกนนำเยาวชนกลุ่ม “นักเรียนเลว” และกลุ่ม “ทะลุวัง” สุพิชฌาย์มองว่า การที่ไทยผ่านจุดที่ “เกิดม็อบ แล้วม็อบล่ม ทุกคนกลับไปใช้ชีวิตตามเดิม” นั้น ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงและเพิ่มความตระหนักรู้ถึงสิทธิเสรีภาพในสังคม ในบรรยากาศการเลือกตั้งครั้งนี้มากกว่าเดิม

“มันไม่ได้มีแค่ประเด็นการเมือง การรัฐประหารเหมือนการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว...การเลือกตั้งครั้งนี้จะมีเด็กที่มาประท้วงเมื่อปี 2563 ที่ตอนนั้นเป็นเด็ก ม.ปลาย ตอนนี้เขาโตจนเลือกตั้งได้แล้ว เราคิดว่ามันน่าจับตาดูว่ารอบนี้จะเป็นอย่างไรเมื่อคนเริ่ม ‘ตื่นรู้’ มากให้ความสนใจกับนโยบายต่าง ๆ ของพรรคนอกจากเรื่องปากท้อง เช่น นโยบายคนชายขอบ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ กันมากขึ้น

Supitcha Chailom a Thai political refugee living in Canada, when she was doing political activism in Bangkok, Thailand in 2022
Supitcha Chailom a Thai political refugee living in Canada, when she was doing political activism in Bangkok, Thailand in 2022

“จริง ๆ เราคิดว่ามันไม่ได้เป็นแค่คนรุ่นใหม่ แต่เป็นแรงกระเพื่อมไปทั้งสังคม...เราคิดว่ามันมีการถกเถียงกันในหลาย ๆ รุ่น...เหมือนคำว่าการเมืองเป็นเรื่องไกลตัวมันเริ่มจางหายไปแล้ว แล้วมันก็กลายเป็นสิ่งที่เข้าถึงของทุกคนมากขึ้น กลายเป็นประเด็นสนทนาในชีวิตประจำวันของคนมากขึ้น ก็เลยรู้สึกว่ามันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดี แล้วมันก็ขยับไปทีละนิด ๆ”

แม้จะไม่ได้ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง แต่สุพิชฌาย์ก็เดินหน้าสร้างความตระหนักรู้ต่อการเลือกตั้งให้คนไทยในต่างแดน และได้ร่วมมือกับผู้ลี้ภัยการเมืองและนักกิจกรรม จัดทำผลสำรวจ Exit Poll และสำรวจความเห็นที่บริเวณคูหาเลือกตั้งหน้าสถานกงสุลไทย ณ นครแวนคูเวอร์

ผลการสำรวจ Exit Poll ดังกล่าวจัดทำระหว่างวันที่ 29-30 เมษายน เผยว่า มีผู้ถูกสำรวจ 520 คน คิดเป็นราว 97.5 % ของจำนวนผู้ที่มาใช้สิทธิ์ที่คูหาที่มี 533 คน โดยมีผู้ที่ระบุว่าจะเลือกพรรคก้าวไกล อยู่ที่ 77.12% ตามด้วยพรรคเพื่อไทย อยู่ที่ 10.77% พรรครวมไทยสร้างชาติ อยู่ที่ 7.5% พรรคประชาธิปัตย์ 2.5% และพรรคอื่น ๆ 0.96%

“พรพิมล-เรเน่” เผย เลือกตั้งมาตลอดยกเว้นครั้งนี้เพราะเป็นผู้ลี้ภัย

พรพิมล ผู้ลี้ภัยวัย 23 ปี เคยถูกดำเนินคดีและถูกจำคุกนาน 23 วันจากข้อหาละเมิด ม.112 และข้อหาละเมิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เมื่อปี 2564 ก่อนที่เธอจะตัดสินใจลี้ภัยมายังเยอรมนีในปีเดียวกัน โดยเธอกล่าวว่า รู้สึก “ไม่โอเค” ที่ไม่ได้ลงทะเบียนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร เพราะกังวลถึงความปลอดภัยในฐานะที่เป็นผู้ลี้ภัย

“เราก็ยังอยากเป็นคนไทย และยังอยากใช้สิทธิ์ของเราในการเลือกตั้ง...เราคิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มันสำคัญเพราะอาจได้เปลี่ยนรัฐบาลใหม่บ้าง..อยากให้ครอบครัวและเพื่อนของเราที่ไทยมีชีวิตที่ดีขึ้น” พรพิมลกล่าว

Pornpimol, a Thai political refugee living in Germany
Pornpimol, a Thai political refugee living in Germany

ทางด้าน เรเน่ – พุทธพงศ์ กลิ่นยี่โถ ผู้ถูกดำเนินคดีจากข้อหาละเมิด ม.112 และข้อหาละเมิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เมื่อปี 2564 เช่นกัน และขณะนี้กำลังอยู่ในกระบวนการลี้ภัยที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส กล่าวว่า เธอไม่รู้สึกถึงผลกระทบส่วนตัวต่อการที่ไม่ได้เลือกตั้งเท่าใดนัก แต่รู้สึกเสียดายเสียงของตน รวมถึงเสียงของผู้ลี้ภัยหลาย ๆ คน ที่ “จำใจ” ไม่ใช้สิทธิ์เลือกตั้งในครั้งนี้มากกว่า

“ที่ผ่านมาเลือกตั้งมาตลอดค่ะ ตั้งแต่มีสิทธิ์เลือกก็ใช้สิทธิ์ของตัวเองมาตลอดค่ะยกเว้นครั้งนี้” พุทธพงศ์ วัย 27 ปี กล่าวกับวีโอเอไทย

ยอมรับ บรรยากาศที่ไทยคงไม่ปลอดภัยสำหรับผู้ลี้ภัยเร็วๆ นี้ แต่ก็ไม่หมดหวัง

สุพิชฌาย์ยอมรับว่า แม้เธอจะจับตามองแนวทางต่อ ม.112 ของพรรคการเมืองต่าง ๆ แต่ก็ไม่ได้ไม่คาดหวังว่ารัฐบาลที่จะมาจากการเลือกตั้งครั้งนี้ จะผลักดันประเด็นดังกล่าวหรือช่วยสร้างบรรยากาศที่ปลอดภัยขึ้นต่อการกลับไปสู้คดีของผู้ลี้ภัยการเมือง เพราะประเด็น ม. 112 มีความซับซ้อนและ “มีปัญหาเชิงโครงสร้าง” แต่อย่างน้อยที่สุด เธอก็คาดหวังว่าบรรยากาศการสู้คดี ม.112 สำหรับผู้ที่อยู่ในประเทศ จะเป็นไปอย่างยุติธรรมขึ้นบ้าง

ทางด้านพรพิมล “หวังอย่างมาก” ว่ารัฐบาลชุดใหม่จะให้ความสำคัญต่อประเด็น ม.112 โดยเธอคาดหวังไปถึงการแก้ที่โครงสร้าง ไปจนถึงการยกเลิกกฎหมายมาตราดังกล่าว

ทั้งนี้ ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเมื่อเดือนพฤษภาคม ระบุว่า นับตั้งแต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเผยแพร่รายชื่อถูกถูกดำเนินคดี ม.112 เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2563 นั้น มีมีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วอย่างน้อย 243 คน ใน 263 คดี โดนมีผู้ถูกดำเนินคดีที่อายุไม่เกิน 18 ปี เป็นจำนวน 18 ราย ในจำนวน 21 คดี

สุพิชฌาย์กล่าวว่า ถึงที่สุดแล้ว แม้กระแสม็อบเมื่อปี 2563 จะซาลง แต่เธอก็มีความหวังถึงการตระหนักรู้ที่เพิ่มขึ้นในสังคม

“มันมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้ว และมันก็กำลังไปทีละนิด มันเป็นอีกสิ่งเหมือนกันที่ทำให้เราไม่รู้สึกหมดหวัง เนื่องจากความเคลื่อนไหว 2-3 ปีก่อนหน้านี้ มีความรุนแรงเกิดขึ้นมากมาย ทั้งจากการที่รัฐใช้กำลังสลายการชุมนุม และการบังคับใช้กฎหมาย

สิ่งหนึ่งที่อยากให้ทุกคนตระหนักไว้คือ อาวุธขั้นพื้นฐานของทุกคน สิ่งที่ทุกคนมี และสามารถใช้มันเพื่อต่อรองกับอำนาจที่ไม่เป็นธรรมได้คือสิทธิและเสรีภาพของตนเอง อยากให้ตระหนักเรื่องนี้ให้มากขึ้นในทุก ๆ วัน”

Putthapong Klinyeetho, a Thai political refugee living in Paris, France
Putthapong Klinyeetho, a Thai political refugee living in Paris, France

เช่นเดียวกับพุทธพงศ์ ที่เชื่อเช่นกันว่า แม้กระแสข้อเรียกร้องของการประท้วงเมื่อสามปีที่แล้วจะเบาบางลง แต่เธอเชื่อว่า “ลึก ๆ แล้วทุกคนไม่ลืมและรอการเปลี่ยนแปลง”

“คนรุ่นใหม่ในไทย มีความคิดที่อยากผลักดันประเทศและชีวิตของตัวเขาเอง สวัสดิการพื้นฐานที่ควรได้ตั้งแต่เด็กจนเสียชีวิต ความปลอดภัยและความมีอิสระในการใช้ชีวิต เชื่อว่าทุกคนอยากให้ประเทศไทยดีขึ้นมากกว่านี้” ผู้ลี้ภัยในกรุงปารีส กล่าวทิ้งท้าย

ตัวแทนพรรครัฐบาลย้ำ ไทยไม่ขัดขวางผู้ลี้ภัยในต่างแดน พรรคฝ่ายค้านชี้ ควรลดความเป็นการเมืองของ ม.112 ให้ผู้ลี้ภัยในต่างแดนรู้สึกปลอดภัยขึ้น

ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นพรรครัฐบาลในขณะนี้ เผยว่า พรรคพลังประชารัฐเคารพสิทธิเสรีภาพของคนไทยทุกคน และไม่ได้มีนโยบายติดตามหรือสร้างปัญหาให้กับผู้ลี้ภัยทางการเมืองในต่างประเทศ

“เท่าที่ผมติดตามแนวทางของรัฐบาลและพรรคพลังประชารัฐ ไม่ได้มีการพูดถึงการสร้างปัญหาให้ผู้ลี้ภัยทางการเมือง ปล่อยให้เป็นกรณีกระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งทางพรรคก็ไม่ได้ขัดข้อง ก็สนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศอยู่แล้ว” ชัยวุฒิกล่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์พิเศษกับวีโอเอไทย

ทั้งนี้ ข้อมูลจากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน เมื่อปี 2564 ระบุว่า นับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อปี 2557 มีผู้ลี้ภัยการเมืองของไทยสูญหายอย่างน้อย 7 คน และมีผู้ลี้ภัยที่เคยสูญหายและถูกพบว่าเสียชีวิตต่อมาสองคน

ทางด้านพลนชชา จักรเพ็ชร กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ระบุว่า การที่จะทำให้ผู้ลี้ภัยรู้สึกปลอดภัยในการประสานงานกับภาครัฐของไทย เช่น การติดต่อกับสถานทูต ไปจนถึงการกลับเข้าสู่ระบบยุติธรรมของไทย จะต้องมีการลดความเป็นการเมืองในการบังคับใช้กฎหมาย

“กระบวนการยุติธรรมต้องปลอดภัยก่อน ไม่มีการถูกทำให้เป็นการเมือง พรรคที่มาจากฝ่ายประชาธิปไตยจะยืนพื้นว่าสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกเป็นขาของประชาธิปไตย” พลนชชากล่าวในวงเสวนาออนไลน์ “รัฐบาลยุคใหม่กับคนไทยในต่างแดน” ที่จัดโดยองค์กร Association for Thai Democracy USA เมื่อวันที่ 28 เมษายน

ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ฝ่ายนโยบาย กล่าวในวงเสวนาเดียวกันว่า ประเด็นของการบังคับใช้ ม.112 โดยเฉพาะช่วงหลังการรัฐประหารปี 2557 เป็นเรื่องของกระบวนการทางนโยบายมากกว่ากระบวนการทางกฎหมาย และสามารถ “ทำให้เป็นปกติได้”

“เรามีความจำเป็นต้องยุติการดำเนินคดีทางการเมือง คดีต่าง ๆ ที่ได้ถูกฟ้องไปแล้วก็ต้องมีคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อพิจารณาใหม่ทั้งหมดว่าจำเป็นต้องฟ้องอยู่รึเปล่า อันนี้น่าจะทำให้ผู้ลี้ภัยมีสถานะที่ดีขึ้น รวมถึงเมื่อมีการยุติคดีทางการเมือง ก็จะทำให้ผู้ลี้ภัยมีสถานะที่ดีขึ้น ช่วยให้ทางสถานทูตเปิดใจ รู้สึกว่าสามารถให้ความช่วยเหลือ ทำเอกสาร (ให้ผู้ลี้ภัยการเมือง) ง่ายขึ้น ระหว่างที่กระบวนการยังไม่เสร็จสิ้น” ศิริกัญญากล่าว

XS
SM
MD
LG