ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สะท้อนเสียงคนไทยรุ่นใหม่ในสหรัฐฯ ต่อการเลือกตั้ง ’66


Thai young generation's opinions on the Thai general election
Thai young generation's opinions on the Thai general election

วีโอเอไทยพูดคุยกับคนไทยรุ่นใหม่ ช่วงอายุ 19-29 ปี จากทั่วสหรัฐฯ ถึงนโยบายที่สนใจ ความคาดหวังทั้งต่อพรรคการเมืองและนายกฯ คนต่อไป รวมถึงต่อบรรยากาศการเมืองหลังการเลือกตั้ง ก่อนที่คนไทยในสหรัฐฯ ที่ลงทะเบียนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร 15,190 คน กำลังใช้สิทธิ์เลือกตั้งทั่วไปนอกราชอาณาจักรในช่วงปลายเดือนเมษายนนี้

วีโอเอไทยพบว่า คนรุ่นใหม่ที่ให้สัมภาษณ์ในรายงานชิ้นนี้ ที่ได้ลงทะเบียนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรและทั้งจะกลับไปเลือกตั้งที่ไทย ให้ความสำคัญกับนโยบายการกระจายรายได้และลดการผูกขาดทางเศรษฐกิจมากที่สุด ตามมาด้วยประเด็นการเติบโตของเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ระบบสาธารณสุข การศึกษา ไปจนถึงโครงสร้างทางการเมืองอย่างที่มาของวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง นอกจากนี้ กลุ่มผู้ให้สัมภาษณ์ทั้งที่ระบุว่าตนมีจุดยืนแบบเสรีนิยมและอนุรักษนิยม ส่วนใหญ่ยังให้ความสำคัญต่ออุดมการณ์มากกว่านโยบายในการตัดสินใจเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้ด้วย

Mingkwan Chirasavinuprapand
Mingkwan Chirasavinuprapand

มิ่งขวัญ จิรเสวีนุประพันธ์ นักศึกษาปริญญาโทด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยทัฟส์ รัฐแมสซาชูเซตส์และนักศึกษาด้านกฎหมาย มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ รัฐแคลิฟอร์เนีย อายุ 22 ปี

“ผมมาเรียนที่สหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2561 และมีแผนกลับไทยหลังเรียนจบในปี 2569 อยากเห็นบรรยากาศการเมืองหลังผมกลับไทยมีความสม่ำเสมอมากกว่านี้ และก้าวข้ามเรื่องที่ไม่ส่งเสริมต่อการพัฒนาประเทศ เช่น การแบ่งขั้วทางการเมือง

นโยบายที่ให้ความสำคัญที่สุดคือการส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจ เช่น การช่วยแก้ปัญหาหนี้สิน การว่างงานที่เกิดจากช่วงโควิด การปฏิรูปภาษี และการปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้เศรษฐกิจมีความเสรีมากขึ้น ผมเชื่อในกลไกเศรษฐกิจแบบทุนนิยมมากกว่าแบบสังคมนิยมที่ทำให้ประชาชนพึ่งรัฐมากเกินไป…อันดับสองคือนโยบายด้านเกษตรกรรมที่ยังเห็นปัญหาของหนี้เกษตรกรและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อันดับสามคือนโยบายการศึกษา เช่น การเพิ่มคุณภาพการศึกษานอกจากการเรียนฟรี

ผมให้ความสำคัญกับอุดมการณ์ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ผมคิดว่าไทยต้องมีการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์ทรงเป็นประมุข ประวัติศาสตร์โลกแสดงมาแล้วว่าไม่มีระบอบการเมืองที่ดีไปกว่าประชาธิปไตย เราต้องมีสิทธิ์เลือกรัฐบาลของตัวเองได้ และสถาบันกษัตริย์ก็เป็นอัตลักษณ์ของไทย เป็นศูนย์รวมจิตใจ อย่างน้อยที่สุดก็เป็นเสาหลักของชาติในยามวิกฤต ให้ความรู้สึกมั่นคงและต่อเนื่อง ทำให้นักการเมืองเกรงใจและไม่มีอำนาจมากเกินไปที่จะคิดทำอะไรก็ได้

ยอมรับว่าตกใจนิดนึงกับการประท้วงใหญ่เมื่อปี 2563 กับข้อเรียกร้อง โดยเฉพาะในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์และการยกเลิก ม.112 ที่ผมไม่เห็นด้วย และวิธีประท้วงของเขาที่รบกวนชีวิตพลเรือนมากเกินไป และทำให้ตำรวจดูเหมือนเป็นผู้ร้าย แต่ผมคิดว่าทุกคนมีสิทธิ์เห็นต่าง และคิดว่าคนรุ่นเดียวกับผมมีความตระหนักรู้เกี่ยวกับการเมืองไทยและกล้าแสดงออกมากขึ้น

ผมไม่ได้คาดหวัง 100% กับการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่อยากให้เป็นการปูพื้นฐานกระบวนการทางการเมืองที่โปร่งใส และที่สำคัญคือ อยากให้ทุกฝ่ายยอมรับผลการเลือกตั้ง”

Shane Suksangium
Shane Suksangium

เชน ศุขเสงี่ยม นักวิเคราะห์กองทุนเพื่อการลงทุนด้านภูมิอากาศ (Climate Investment Funds) ของธนาคารโลก กรุงวอชิงตัน อายุ 29 ปี

“ผมมาเรียน ป. ตรีที่สหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2555 และอยู่ที่นี่ยาวมาตั้งแต่ตอนนั้น มีแผนกลับไทยถาวรช่วงปลายปีนี้ ผมลงทะเบียนเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ไม่ทัน เพราะฉะนั้นนี่จะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกของผม ผมจึงต้องศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนไปเลือกตั้งเพราะเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องไปเลือกตั้ง ไม่ว่าผมจะอยู่ที่สหรัฐฯ หรืออยู่ที่ไทยก็ตาม

นโยบายที่ผมสนใจมากที่สุดคือเรื่องสิ่งแวดล้อม อยากเห็นไทยนำความตกลงปารีสที่เคยลงนามไว้มาปฏิบัติใช้เป็นกฎหมาย รวมถึงเรื่องการทำลายป่าไม้และการปกป้องทรัพยากรทางทะเล และที่สำคัญคือเรื่องมลพิษ pm 2.5 ส่วนนโยบายอื่นที่ผมสนใจ คือเรื่องการกระจายความเจริญ อยากเห็นรัฐบาลสนับสนุนการพัฒนาของเมืองเล็ก อย่างเช่นที่ผมเห็นในรัฐเท็กซัสหรือรัฐฟลอริดา ที่เพิ่มความสามารถด้านนวัตกรรมในเมืองรองจนดึงผู้คนและบริษัทจากเมืองอื่น ๆ เข้าไปได้ และเรื่องการแก้ไขระบบสาธารณสุข เพิ่มเครือข่ายบุคลากรแพทย์ให้เพียงพอ ไม่ต้องทำงานหนักเกินไป

ผมให้ความสำคัญกับนโยบายมากกว่าอุดมการณ์ในการเลือกตั้ง และต้องดูว่านักการเมืองหรือพรรคการเมืองเคยมีผลงานให้เห็นหรือไม่ ไม่ว่าคุณจะอยู่ทางฝั่งไหนของการเมืองก็ตาม…ผมก็ต้องมีความหวังกับการเลือกตั้งแหละครับ ถึงแม้อาจจะมีคนหน้าเดิมเข้าสภา แต่ถ้าไม่มีความหวังก็เท่ากับว่าเรายอมแพ้ไปแล้ว”

Suntiparp Somsak
Suntiparp Somsak

สันติภาพ สมศักดิ์ นักศึกษาปริญญาโทด้านนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด รัฐแมสซาชูเซตส์ อายุ 25 ปี

“ผมอยู่ที่สหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2558 และคงกลับไทยยาวในช่วง 1-2 ปีหลังจบปริญญาโท ผมกลับไทยทุกครั้งเพื่อไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง เพราะไม่มั่นใจในการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรและอยากไปมีส่วนร่วมกับการเมืองในท้องถิ่นด้วยตนเอง ครั้งนี้ก็จะกลับไทยเช่นกัน

ในมุมมองของผม การเลือกตั้งครั้งที่แล้วเหมือนเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ถูกรับรองผ่านการทำประชามติที่การรณรงค์เป็นไปอย่างจำกัด ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้แม้จะยังมีโครงสร้างของรัฐธรรมนูญ เช่น ระบบ สว. กำกับอยู่ แต่ก็มีการเปิดกว้างให้แสดงออกและมีพรรคการเมืองที่แตกต่างขึ้น ดูเป็นสิ่งที่คาดหวังกับการเปลี่ยนแปลงได้มากขึ้นระดับหนึ่ง

หนึ่งในวาระที่สนใจมากที่สุด ก็คือเรื่องระบบยุติธรรม การใข้อำนาจรัฐรังแกผู้เห็นต่างทางการเมือง มันไม่ใช่ปัญหาที่แก้ได้ในวาระสั้นๆ มันก็ต้องเป็นส่วนหนึ่งของการชำระกฎหมาย ซึ่งตามมาเป็นประเด็นที่สองที่ผมสนใจคือการรื้อรัฐธรรมนูญใหม่และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่าง คล้ายกับกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ส่วนนโยบายที่สาม ผมสนใจเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคม การมีรัฐสวัสดิการที่เข้าถึงได้ ซึ่งแตกเป็นประเด็นทุนผูกขาด ธุรกิจเอสเอ็มอี และการเพิ่มการเข้าถึงทางการศึกษาได้อีก

ผมให้ความสำคัญกับอุดมการณ์มากที่สุด เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้เราเห็นความเป็นพรรคมากที่สุดไม่ว่านโยบายจะเป็นอย่างไรก็ตาม…ไม่ได้คาดหวังให้การเลือกตั้งครั้งนี้พลิกโฉมทางการเมืองได้ เพราะไทยยังมีกรอบอำนาจหลาย ๆ อย่างครอบคลุมอยู่ แต่ในระยะยาวก็อยากให้เกิดกระบวนการเปลี่ยนผ่านให้อำนาจจากประชาชนมีพื้นที่ในรัฐสภามากขึ้น และเกิดขึ้นต่อเนื่อง ไม่หยุดเดิน”

Thiti Suttiyut
Thiti Suttiyut

ธิติ สุทธิยุทธ์ นักศึกษาปริญญาเอกด้านพืชสวนและภูมิสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเพอร์ดู รัฐอินเดียนา อายุ 27 ปี

“อยู่สหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2018 หลังเรียนจบในปีนี้ก็มีแผนจะลองกลับไปทำงานที่ไทยก่อน แล้วค่อยดูอีกทีว่าชอบไหม จะอยู่ไทยต่อไปหรือจะกลับมาสหรัฐฯ

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ เราให้ความสำคัญกับประเด็น สว. เป็นอย่างแรกเลย อยากให้พรรคการเมืองและประชาชนผลักดันจนปิดสวิตช์ สว. ในการเลือกนายกฯ ครั้งนี้ได้ ผมมองว่าที่มาและอำนาจของ สว. ในปัจจุบันกระทบกับอำนาจของประชาชนในการเมืองรวมถึงความเป็นประชาธิปไตยของไทยในระยะยาว

นโยบายที่สนใจอันดับสองคือเรื่องของเศรษฐกิจ ค่าครองชีพที่สูงขึ้นในไทย เราอยากเห็นคนไทยมีค่าแรงที่เหมาะสม สามารถมีกำลังบริโภคที่จะดูแลตัวเองและครอบครัวได้ ตามมาด้วยประเด็นผู้สูงอายุและการจัดเก็บภาษี ซึ่งภาวะสังคมผู้สูงอายุมักเกิดขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้วและมีโครวสร้างรองรับ ในขณะที่ไทยที่กำลังเข้าสู่ภาวะดังกล่าวยังเป็นประเทศกำลังพัฒนา และผมมองว่าเป็นเรื่องใหญ่สำหรับคนรุ่นผมที่ต้องนำภาษีมาดูแลคนกลุ่มนี้

ผมจะดูที่จุดยืนทางการเมืองของพรรคก่อน ถ้าพรรคไหนอาศัยอำนาจจากการรัฐประหารเข้าสู่อำนาจ ผมตัดทิ้ง ส่วนในกลุ่มพรรคที่เป็นสายเสรีนิยม ผมก็ต้องดูนโยบายของแต่ละพรรคอีกทีว่าเป็นอย่างไร ชัดเจนแค่ไหน สำหรับนายกฯ ผมอยากได้คนที่ค่อนข้างรุ่นใหม่ มีภาพลักษณ์ที่ดี มีวุฒิภาวะ และสามารถสื่อสารในเวทีโลกได้โดยที่เราไม่ต้องทำหน้าเขินเวลาคุยเรื่องการเมืองกับเพื่อนต่างชาติ

ผมคิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ เพราะถ้าผลการเลือกตั้งไม่สามารถปิดสวิตช์ สว.ในขั้นตอนการเลือกนายกฯ ได้ ผมรู้สึกว่าจะทำให้ประชาชนไม่ได้มีเสียงเต็มที่ในระบอบประชาธิปไตยนานขึ้นไปอีก และเราอยากให้ประชาชนกลับมามีอำนาจเต็มมืออีกครั้ง”

Sirapop Pichitkarn
Sirapop Pichitkarn

สิรภพ พิชิตการณ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน กรุงวอชิงตัน อายุ 21 ปี

“ผมเคยเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่รัฐวิสคอนซินเมื่อตอนเรียนมัธยม ก่อนเป็นนักเรียนทุนกระทรวงการต่างประเทศ จึงได้กลับมาสหรัฐฯ เพื่อเรียนปรับพื้นฐานที่รัฐนิวแฮมพ์เชอร์เมื่อปีที่แล้ว และมาเรียนป.ตรี กรุงวอชิงตัน โดยจะกลับไปใช้ทุนที่ไทยหลังเรียนจบ ป.โท ราวปี 2571

ประเด็นที่สนใจมากที่สุด อันดับแรกคือเศรษฐกิจ เพราะเศรษฐกิจไม่ได้โตอย่างที่ควรจะเป็น ช่วงหลังโควิดประเทศอื่นก็กลับมาในทางที่เร็วขึ้นได้ ขณะที่จีดีพีไทยขึ้นมาน้อยกว่าเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม อินโดนีเซีย อันดับสองคือ รัฐสวัสดิการที่ถาวรและทุกคนสามารถเข้าถึงได้จริง ๆ โดยไม่ขึ้นอยู่กับฐานรายได้ ส่วนอันดับสามคือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งถ้าไม่เริ่มวันนี้ก็อาจช้าไปแล้ว เลยอยากได้รัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์มองไปข้างหน้าหลายสิบปี

ผมให้ความสำคัญกับอุดมการณ์มากกว่า นโยบายเป็นสิ่งสำคัญ แต่ถ้าการเมืองยังไม่เสถียรก็ยากที่จะมีนโยบายออกมาได้เป็นรูปเป็นร่าง อีกเรื่องที่ทำให้ลำบากใจคือการจับมือระหว่างพรรคว่า พรรคที่เราเลือกจะไปจับมือกับพรรคที่เราไม่ถูกใจไหม รวมถึงการเลือกนายกฯ ที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันทำให้นายกฯ ไม่ต้องเป็น ส.ส. หรือหัวหน้าพรรคก็ได้

ผมค่อนข้างมีความหวังมากขึ้นกับการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะเป็นปีแรกที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง และจะมีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรกเพิ่มขึ้น กฎกติกาก็เปลี่ยนไป เช่น มีการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ การเปลี่ยนจากเลือกตั้งบัตรใบเดียวมาเป็นสองใบ แต่ที่ยังน่าเป็นห่วงก็คือ เรายังมี สว. 250 คนที่เลือกนายกฯ ได้อยู่ เราต้องรอดูผลการเลือกตั้ง ว่าจะมี ส.ส. ในสภามากพอที่จะปิดสวิตช์ สว. ได้หรือไม่

ผมยังอยากได้นายกฯ ที่มีความเป็นพลเมืองโลก มีวิสัยทัศน์กว้างไกลแบบมองไปอีก 30-50 ปีข้างหน้า มีความเข้าใจและรับฟังปัญหาของคนในพื้นที่จริง ๆ รับรู้ปัญหาจากภายในประเทศและขณะเดียวกันก็พร้อมเฉิดฉายในเวทีโลกได้ หลังการเลือกตั้งก็อยากเห็นประเทศดีขึ้น อยากให้เป็นจุดเริ่มต้นที่ควรพอได้แล้วกับการรัฐประหาร มันไม่ควรมีอีกแล้ว เราควรได้นายกฯ ที่มาจากเสียงประชาชน อยากให้เกิดเสถียรภาพขึ้นในสังคมไทย”

Rosalyn Bejrsuwana
Rosalyn Bejrsuwana

โรสลิน สิรินดา เพ็ชรสุวรรณ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ด้านรัฐศาสตร์และการปกครอง (ขอสงวนสถานศึกษา) รัฐแคลิฟอร์เนีย และผู้ร่วมก่อตั้งองค์กรสร้างความตระหนักรู้ด้านสังคม Choose Change อายุ 19 ปี

“ย้ายมาเรียน ป.ตรี ที่สหรัฐฯ เมื่อปี 2564 และมีแผนกลับไทยหลังเรียนจบในอีก 2-3 ปีต่อจากนี้ ตอนอยู่ที่ไทยได้ติดตามประเด็นต่าง ๆ ทั้งการยุบพรรคอนาคตใหม่ การที่ทายาทมหาเศรษฐีขับรถชนคนแล้วยังเดินทางออกนอกไทยได้ เรารู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรมและออกไปร่วมประท้วงใหญ่เมื่อปี 2563 เพื่อส่งเสียงของเรา และเป็นจุดเริ่มต้นที่เราร่วมก่อตั้งองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อเป็นพื้นที่และแหล่งทรัพยากรให้ทั้งคนในไทยและจากประเทศต่าง ๆ มาแลกเปลี่ยนกันเรื่องการเมืองและสังคมมากขึ้น

เราให้ความสำคัญกับนโยบายการศึกษาเป็นลำดับแรก เพราะการศึกษาเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตของคนดีขึ้นได้ และมีหลายโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 อันดับต่อมาคือนโยบายสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็ก ลดการผูกขาดทางเศรษฐกิจ ตามด้วยประเด็นสาธารณสุข อยากให้มีการเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่เท่าเทียม เป็นธรรม และมีคุณภาพใกล้เคียงกับบริการสุขภาพของภาคเอกชน ซึ่งเรื่องนี้เราเห็นปัญหามากในช่วงที่โควิดระบาด ทั้งเรื่องการจัดหาวัคซีนของไทย และการเปิดเผยจำนวนผู้ติดเชื้ออย่างโปร่งใส

ในการตัดสินใจเลือกตั้ง เราให้ความสำคัญกับนโยบายมากกว่า ว่ามีนโยบายที่ปฏิบัติได้จริงรึเปล่า เพราะเห็นว่าหลายพรรคก็ไม่ได้ทำตามอุดมการณ์ …สำหรับการเมืองหลังการเลือกตั้ง เราอยากเห็นการปกครองที่ยุติธรรม ให้ความสำคัญกับคุณค่าของประชาธิปไตย ทหารมีส่วนร่วมน้อยลง อยากเห็นนายกฯ และรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับคุณค่าทางการเมือง ไม่ทุจริต มุ่งแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจและการศึกษา และต้องได้รับเลือกจากประชาชนจริง ๆ

มีแต่คนบอกตั้งแต่เราโตมาว่าเราไม่ควรแตะการเมืองไทยเพราะเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้หรอก แต่เราคิดว่าเปลี่ยนได้ถ้าเราร่วมมือกัน และอยากให้คนรุ่นใหม่เชื่อมั่นว่าจะทำได้ ใช้พลังของตัวเองในการเลือกตั้ง สร้างความเปลี่ยนแปลง หรือส่งเสียงออกไปให้มากขึ้น ยอมรับว่าถ้าระบบของไทยเป็นแบบนี้มันก็ยากที่จะเปลี่ยน แต่ก็หวังว่าการเมืองไทยจะดีขึ้นถึงจะต้องใช้เวลาก็ตาม”

XS
SM
MD
LG