ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ชาว LGBTQ+ ไทย จับตากฎหมาย ‘สมรสเท่าเทียม’ เข้าสภา 


ชาวชุมชน LGBTQ+ เดินขบวนในกรุงเทพฯ เมื่อ 4 มิถุนายน 2023 (ที่มา: AP)
ชาวชุมชน LGBTQ+ เดินขบวนในกรุงเทพฯ เมื่อ 4 มิถุนายน 2023 (ที่มา: AP)

ชาวชุมชนความหลากหลายทางเพศในไทยจับตามองด้วยความหวัง หลังร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะถูกรัฐสภาพิจารณา ลุ้นเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่คู่รักเพศเดียวกันสามารถแต่งงานกันได้ ตามการรายงานของเอพี

รัฐสภาไทย มีกำหนดการที่จะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ในวันพฤหัสบดีนี้ สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เกิดขึ้นก่อนหน้า

หากได้รับการรับรอง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม จะแก้ไขเนื้อความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่เกี่ยวกับการสมรส จากเดิมที่เป็นนิติกรรมระหว่าง “ชายและหญิง” เป็น “บุคคลทั้งสองฝ่าย” โดยไม่ระบุเพศ และสถานภาพ “สามีและภริยา” เปลี่ยนเป็น “คู่สมรส”

หลังประชุม ครม. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีของไทยกล่าวกับสื่อมวลชนในวันอังคาร ระบุว่ากฎหมายดังกล่าวจะทำให้คู่รัก LGBTQ+ มี “สิทธิที่เหมือนกัน” กับคู่รักต่างเพศ

หากกฎหมายผ่าน ไทยจะเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ผ่านกฎหมายในลักษณะนี้ และเป็นประเทศที่สามในเอเชียต่อจากได้หวันและเนปาล

ณภัทร ครุฑไทย ชายข้ามเพศชาวไทย กล่าวกับเอพีว่า เขาและคู่รักเพศหญิงจะจดทะเบียนสมรสกันทันทีหลังกฎหมายผ่าน เพื่อให้เขาทั้งสองได้รับสิทธิ์ที่เดิมทีเป็นของคู่รักต่างเพศเท่านั้น เช่น สิทธิ์ในการรับมรดกหรือเรื่องเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล

วิทยา แสงอรุณ ผู้ก่อตั้งคณะประสานเสียงเกย์แห่งกรุงเทพฯ (BKGMC) กล่าวว่า ทัศนคติของสังคมต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศมีพัฒนาการไปในทางที่ดี แต่ยังมีความเข้าใจผิดและการเลือกปฏิบัติในตัวบทกฎหมายที่ยังต้องทำงานกันต่ออีกมาก เขาหวังว่า พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมจะได้รับการรับรอง เพื่อให้สิทธิของชาว LGBTQ+ เป็นที่ยอมรับ

เมื่อปีที่แล้ว รัฐสภาไทยได้อภิปรายเกี่ยวกับสถานภาพของคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศ ระหว่างการมีสถานภาพเหมือนคู่สมรสต่างเพศ หรือเป็น “คู่ชีวิต” ที่ได้รับสิทธิ์น้อยกว่าคู่สมรสชายหญิง แต่ก็ไม่ได้ผ่านกฎหมายอะไรออกมา

ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมจะต้องผ่านการพิจารณาในรัฐสภา 3 วาระ หลังจากนั้น ต้องได้รับการลงพระปรมาภิไธยโดยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อนที่จะประกาศใช้เป็นกฎหมายผ่านราชกิจจานุเบกษา

  • ที่มา: AP

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG