นักวิเคราะห์กล่าวว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นหลังการลงประชามติเดือนสิงหาคมสำหรับร่างรัฐธรรมนูญ
ผู้สื่อข่าว Ron Corben ของวีโอเอรายงานว่า นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศกำลังรอดูผลการลงประชามติ ก่อนที่จะตัดสินใจด้านธุรกิจและการลงทุนที่สำคัญ ท่ามกลางความกังวลว่าการเมืองไทยอาจวุ่นวายมากขึ้นในช่วงต่อไปจากนี้
อาจารย์ภาวิดา ปานะนนท์ จากภาควิชาบริหารธุรกิจของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จุดหมายที่สำคัญที่สุดของรัฐบาลปัจจุบันคือการสร้างความมั่นคงทางการเมือง แต่การสร้างความมั่นคงทางการเมืองมาพร้อมกับผลพวงต่อนโยบายเศรษฐกิจ
อาจารย์ภาวิดากล่าวว่า ทิศทางของนโยบายเศรษฐกิจในตอนนี้ไม่ใช่ประเด็นสำคัญสูงสุดของรัฐบาล และผลกระทบต่อเศรษฐกิจปัจจุบันคือความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น
นักวิชาการผู้นี้กล่าวว่าหลังจากการลงประชามติบรรยากาศทางการเมืองน่าจะตึงเครียดขึ้น
อีกด้านหนึ่ง นักวิเคราะห์จาก Capital Economics ที่สิงคโปร์ เปิดเผยในรายงานเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคมว่า อุณหภูมิทางการเมืองไทยระอุขึ้นเนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญที่ลดทอนบทบาทนักการเมืองที่ถูกเลือกตั้งเข้ามา
นอกจากนั้น Capital Economics ระบุว่า การลงทุนในไทยเติบโตเพียงร้อยละ 3 ต่อปี ช่วงเกิดความวุ่นวายทางการเมืองระหว่างปี พ.ศ. 2549 - 2558 เทียบกับเกือบร้อยละ 8 สำหรับเวียดนาม
และถ้าเกิดความวุ่นวายในวงกว้างอีกครั้งหลังการลงประชามติ นักวิเคราะห์กล่าวว่าเศรษฐกิจไทยจะเจ็บตัวอย่างหนัก เพราะภาคท่องเที่ยวอาจได้รับผลกระทบ ซึ่งการท่องเที่ยวนำรายได้ร้อยละ 10 มาสู่ประเทศ
อย่างไรก็ตาม ข่าวดีตอนนี้สำหรับไทยคือเศรษฐกิจไตรมาสที่แล้วขยายตัว 3.2% เพราะได้แรงสนับสนุนจากการส่งออก การท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งต้องดูต่อไปว่าการลงประชามติจะช่วยนำความสงบมาสู่การเมืองไทยได้มากน้อยเท่าใด
(รายงานโดย Ron Corben / เรียบเรียงโดย รัตพล อ่อนสนิท)