ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิทยาศาสตร์พัฒนาแอพฯ สื่อสารระหว่าง "โดรน" เพื่อหลีกเลี่ยงเหตุบินชนกันกลางอากาศ


please wait

No media source currently available

0:00 0:03:12 0:00

ในช่วงเวลาไม่ถึง 10 ปี โดรนได้กลายเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันของคนสมัยใหม่ และในขณะที่มีโดรนเพิ่มจำนวนขึ้นทุกวัน การหลีกเลี่ยงการชนกันกลางอากาศระหว่างโดรนกับเครื่องบินโดยสารหรือระหว่างโดรนกับโดรนกลายเป็นเรื่องสำคัญ

โดรนสามารถบินอยู่ในระยะที่ใกล้กับโดรนลำอื่นได้ อย่างที่เห็นกันในการเเข่งขันบินโดรน และโดรนเเต่ละลำถูกควบคุมโดยนักบินที่มีประสบการณ์และบินไปในทิศทางเดียวกัน

การบินโดรนหลายๆ ลำ พร้อมๆ กัน ไปในเส้นทางที่กำหนดเอาไว้ล่วงหน้า อย่างที่เรียกว่า "โดรนบัลเล่ท์" เป็นงานที่ไม่ยากเพราะโดรนทั้งหมดถูกควบคุมโดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ แต่คงไม่นานนักที่เราเริ่มเห็นฝูงโดรนหลายๆ ฝูง ที่สามารถทำงานต่างๆ ได้ในสถานการณ์ที่คาดเดาได้ยากขึ้น

Nora Ayanian แห่งมหาวิทยาลัย Southern California กล่าวว่า ต้องการพัฒนาให้โดรนสามารถทำงานที่ยากสำหรับมนุษย์หรืองานที่คนทำไม่ได้ อาทิ การบินเข้าไปในตึกที่ถล่มโดยบินผ่านเข้าไปช่องทางแคบๆ ที่ยวดยานบนบกไม่สามารถวิ่งผ่านเข้าไปได้

โดรน 25 ลำที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ ถูกติดตามและควบคุมโดยกล้องถ่ายภาพหลายตัวที่ระบุจุดที่ตั้งของโดรน ซึ่งถูกส่งไปยังคอมพิวเตอร์ และคอมพิวเตอร์จะออกคำสั่งกลับมายังโดรนให้ปรับจุดที่ตั้งของตนเสียใหม่ให้ถูกต้อง

ทีมนักวิทยาศาสตร์หวังว่า ในอนาคตโดรนจะสามารถสื่อสารต่อกันเเละกันได้เพื่อหลีกเลี่ยงการบินชนกันกลางอากาศ เพราะในปัจจุบัน ผู้ควบคุมโดรนยังต้องเป็นคนรับผิดชอบในการหลีกเลี่ยงไม่ให้โดรนบินชนกันเอง หรือบินชนเครื่องบินโดยสารกลางอากาศ

บริษัทที่ตั้งในสวิตเซอร์เเลนด์สองบริษัท คือ บริษัท SenseFly กับ บริษัท Air Navigation Pro ได้พัฒนาโปรแกรมแอพฯ ราคาถูกขึ้นมาโปรแกรมหนึ่ง เพื่อใช้กับคอมพิวเตอร์แบบ tablet ที่สามารถเเจ้งเตือนคนบังคับโดรนว่ามีเครื่องบินขนาดปกติกำลังบินเข้ามาใกล้ และสามารถเเจ้งเเก่นักบินเครื่องบินโดยสารทั่วไปได้ว่ามีโดรนกำลังบินอยู่ในระยะใกล้

Jean Christophe Zufferey ซีอีโอของบริษัท SenseFly กล่าวว่าในฐานะผู้บังคับควบคุมโดรน คุณจะได้รับข้อมูลเตือนหากมีเครื่องบินโดยสารกำลังบินเข้ามาใกล้ภายในอีกไม่กี่วินาที ข้อมูลนี้จะช่วยให้คนบังคับโดรนลดระดับการบินของโดรนลง หรือควบคุมให้โดรนลงจอด

ทั้งสองบริษัทชี้ว่า ทางออกนี้ใช้กับผู้บังคับโดรนเป็นหลัก เนื่องจากเพียงเเต่ติดตั้งโปรแกรมแอพดังกล่าว เเละเชื่อมโยงเข้ากับอินเตอร์เน็ตเท่านั้น เเต่เขาบอกว่าสำหรับเครื่องบินขนาดปกติ จะต้องติดตั้งฮาร์ดเเวร์เพิ่มเติม

เมื่อผู้ควบคุมโดรนพิมพ์ข้อมูลเกี่ยวกับเที่ยวบินของโดรนลงไปในระบบแล้ว คอมพิวเตอร์ทุกตัวที่ติดตั้งโปรแกรมแอพนี้ จะได้รับข้อมูลดังกล่าวโดยอัตโนมัติ

ผู้คิดค้นระบบนี้บอกว่าในอนาคต โปรแกรมแอพนี้อาจจะถูกอัพเกรดให้สามารถปรับลดระดับการบินของโดรนได้โดยอัตโนมัติ หากมีเครื่องบินโดยสารบินเข้ามาใกล้บริเวณที่โดรนกำลังบินอยู่

(เรียบเรียงโดย ทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทย กรุงวอชิงตัน)


XS
SM
MD
LG