ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ปุจฉา: เพศหญิงอายุยืนกว่าเพศชายจริงหรือ?


please wait

No media source currently available

0:00 0:04:14 0:00

นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกทำการศึกษาและยืนยันมาเป็นเวลานานแล้วว่า ผู้หญิงมักมีอายุยืนกว่าผู้ชาย เพราะปัจจัยด้านพื้นฐานทางชีวภาพที่แตกต่างกัน และงานค้นคว้าชิ้นล่าสุดที่เน้นการศึกษาสิ่งมีชีวิตที่เลี้ยงลูกด้วยนมหลายสายพันธุ์ พบว่า สิ่งมีชีวิตเพศเมียก็มีอายุที่ยืนกว่าเพศตรงข้ามเช่นกัน แต่ความต่างกันจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่ต่างกันไป

โดยเฉลี่ยแล้วผู้หญิงมักมีอายุยืนกว่าผู้ชายเกือบ 8% ขณะที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเพศเมียที่นักวิจัยทำการศึกษา มีอายุยืนยาวกว่าเพศผู้โดยเฉลี่ยถึง 18.6% เลยทีเดียว

ยกตัวอย่างเช่น สิงโตตัวเมียที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติมีอายุยืนกว่าสิงโตตัวผู้ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมเหมือนกัน อย่างน้อย 50%

ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ประกอบด้วยสมาชิกจากหลายประเทศ ร่วมกันทำการค้นคว้าที่มหาวิทยาลัยลียง ในประเทศฝรั่งเศส ทำการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องกับอายุของประชากรสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 101 สายพันธุ์จำนวน 134 กลุ่ม และพบว่า ผลลัพธ์ที่ได้นั้นน่าประหลาดใจมาก

ฌอง-ฟรองซัวส์ เลอแมทเทรอ หัวหน้าทีมวิจัย กล่าวว่า การที่สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่เป็นเพศเมียอายุยืนยาวกว่ามนุษย์ผู้หญิงมาก อาจเป็นเพราะเรื่องการแย่งชิงคู่ระหว่างสัตว์เพศผู้ แต่ทฤษฎีนี้ยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนแต่อย่างใด

ขณะเดียวกัน แม้ผู้หญิงจะอายุยืนกว่าผู้ชาย ความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของผู้ชายหรือสัตว์เพศผู้ ไม่ได้เพิ่มขึ้นสูงกว่าของผู้หญิงหรือสัตว์เพศเมียมากมาย นักวิทยาศาสตร์ที่ทำการศึกษาเรื่องนี้จึงเชื่อว่า น่าจะมีปัจจัยอื่นๆ ที่มีความซับซ้อนกว่ามากที่มีอิทธิพลต่อความแตกต่างนี้

ทีมวิจัยที่เขียนรายงานนี้ ยกตัวอย่างสัตว์ป่าตัวผู้ที่ใช้ชีวิตแบบท่องป่าไปเรื่อยๆ อาจติดเชื้อต่างๆ จากธรรมขาติได้ ซึ่งเป็นกรณีศึกษาของประชากรแกะเขาใหญ่ 3 กลุ่มที่ทีมงานได้ข้อมูลมา

ช่องว่างระหว่างอายุขัยของเพศหญิงและเพศชายอาจเป็นเรื่องของสภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่หนึ่งๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการดำรงชีวิตให้อยู่ และ การสืบพันธุ์ เช่น สัตว์ตัวผู้อาจต้องลงทุนลงแรงในเรื่องการแย่งชิงตัวเมีย หรือเรื่องการสืบพันธุ์ เหนือสิ่งอื่นใด จนทำให้อายุสั้นกว่าตัวเมียก็เป็นได้

หนึ่งในนักวิจัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ความน่าจะเป็นที่สัตว์เพศเมียอายุยืนว่าสัตว์ตัวผู้ อาจเป็นเพราะตัวผู้มักมีหน้าที่ออกไปหาอาหารและดูแลลูกๆ หลังตัวเมียคลอดลูกและให้นมในช่วงแรกๆ ก่อนจะแบ่งภาระให้ตัวผู้ที่มีหน้าที่อื่นอยู่แล้ว

เพื่อให้เข้าใจถึงปัจจัยที่ส่งผลต่ออายุขัยของสัตว์ทั้งตัวผู้และตัวเมีย ทีมงานวางแผนที่จะเก็บข้อมูลเพิ่มเติมจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในธรรมชาติ เพื่อเปรียบเทียบกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ใช้ชีวิตในสวนสัตว์ ซึ่งไม่ต้องออกล่าอาหารหรือหาคู่แต่อย่างใด

นักวิทยาศาสตร์หวังว่า การศึกษานี้จะช่วยให้เข้าใจมากขึ้นว่า อะไรมีผลต่อช่วงอายุของคนเรา โดยเฉพาะเมื่ออายุขัยของมนุษย์ยาวขึ้นกว่าเมื่อ 200 ปีก่อนมากแต่ผู้หญิงก็ยังอายุยืนกว่าผู้ชายอยู่ดี

ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อสหรัฐฯ หรือ CDC ระบุว่า ชาวอเมริกันเพศชายมีอายุเฉลี่ยที่ 76 ปี ขณะที่ชาวอเมริกันเพศหญิงมีอายุเฉลี่ยสูงถึง 81 ปี ขณะที่ผู้หญิงสูงอายุมักมีสุขภาพดีกว่าผู้ชายในช่วงวัยเดียวกันด้วย

ทั้งนี้ ข้อมูลทางการแพทย์ชี้ให้เห็นว่า ระดับของฮอร์โมนเทสทอสเทอโรนในเพศชายนั้น มีความสัมพันธ์กับการลดลงของระบบภูมิคุ้มกัน และเรื่องของความเสี่ยงของโรคเกี่ยวหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมเสี่ยงบางอย่าง เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา หรือนิสัยการกินที่ไม่ดีต่อสุขภาพ โดยผู้ชายมักไม่ค่อยเชื่อคำแนะนำของแพทย์ในเรื่องดังกล่าวเมื่อเทียบกับผู้หญิง

นอกจากนั้น สถิติยังแสดงให้เห็นด้วยว่าผู้ชายมักเลือกทำสิ่งที่เสี่ยงต่อชีวิต เสียชีวิตในอุบัติเหตุทางรถยนต์ หรือยิงกันจนเสียชีวิตมากกว่าด้วย

XS
SM
MD
LG