ลิ้งค์เชื่อมต่อ

งานวิจัยชี้ ผู้ติดเชื้อโควิดอาจมีปัญหาความเสียหายที่สมองหลังหายป่วย


Brain scans of COVID-19 patients and non-COVID individuals. (Image courtesy of NIH)
Brain scans of COVID-19 patients and non-COVID individuals. (Image courtesy of NIH)

การศึกษาชิ้นเล็กๆ จากสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐฯ หรือ NIH ระบุว่า การตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการติดเชื้อโควิด-19 อาจทำให้หลอดเลือดในสมองได้รับความเสียหาย และปฏิกิริยาดังกล่าวอาจนำไปสู่ปัญหาทางระบบประสาทที่เรียกว่าโควิดระยะยาว หรือ Long COVID ได้

ในการศึกษานี้ นักวิจัยได้ตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของสมองในผู้เสียชีวิตอย่างกะทันหันหลังจากติดเชื้อซาร์ส โควี-ทู (SARS-CoV-2) ซึ่งเป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 จำนวน 9 ราย โดยผลลัพธ์ของการศึกษานี้ตีพิมพ์อยู่ในวารสาร Brain ฉบับเมื่อเร็ว ๆ นี้

ความเสียหายต่อหลอดเลือดสมอง

นักวิจัยพบว่า แอนติบอดี้ ซึ่งเป็นโปรตีนที่สร้างขึ้นโดยระบบภูมิคุ้มกันเพื่อต่อสู้กับไวรัสนั้น มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโจมตีเซลล์ที่อยู่ในหลอดเลือดของสมอง จนทำให้เกิดการอักเสบและได้รับความเสียหาย

ทั้งนี้ ผลของการศึกษาครั้งนี้คล้ายกับการศึกษาฉบับก่อนหน้านี้ที่ทำขึ้นในปี 2020 ด้วย โดยการศึกษาทั้งสองฉบับไม่พบไวรัส ซาร์ส โควี-ทู ในสมองของผู้ป่วย ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าไวรัสไม่ได้โจมตีสมองโดยตรง

อาวินดรา แนธ (Avindra Nath) นักวิทยาศาสตร์ที่สถาบัน NIH ซึ่งเป็นนักวิจัยอาวุโสในการศึกษานี้กล่าวว่า "ก่อนหน้านี้เราได้เห็นความเสียหายของหลอดเลือดและการอักเสบในสมองของผู้ป่วยในการระหว่างชันสูตรศพเพื่อหาสาเหตุของการเสียชีวิต แต่เราก็ไม่เข้าใจสาเหตุของความเสียหายที่เกิดขึ้นเลย"

สำหรับการศึกษาในครั้งนี้ นายแพทย์แนธและทีมนักวิจัยได้ตรวจสอบเนื้อเยื่อสมองของผู้ป่วย 9 คนที่มีอายุระหว่าง 24 ถึง 73 ปี ซึ่งผลจากการสแกนสมองแสดงให้เห็นสัญญาณของความเสียหายของหลอดเลือดในสมองของพวกเขา จากนั้น ผลการสแกนนี้ถูกนำไปเปรียบเทียบกับการสแกนจากผู้ป่วยอีก 10 คนในกลุ่มโครงการทดลอง

นักวิจัยพบว่า แอนติบอดี้ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับโควิด-19 อาจกำหนดเป้าหมายเซลล์ที่เรียงตัวอยู่ตามหลอดเลือดในสมองอย่างผิดพลาด โดยเซลล์เหล่านี้ ซึ่งมีชื่อว่า เซลล์เนื้อเยื่อบุโพรง ทำหน้าที่เป็นตัวกีดขวางเพื่อป้องกันไม่ให้สารที่เป็นอันตรายเข้าไปถึงสมองได้ และความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเซลล์นี้ทำให้มีเลือดออกและเกิดภาวะอุดตันในผู้ป่วยโควิด-19 บางราย ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองอีกด้วย

ส่วนในการศึกษาครั้งก่อนหน้านี้ นักวิจัยได้พบสัญญาณการรั่วของหลอดเลือด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างเซลล์เนื้อเยื่อบุโพรงในแนวกั้นเลือดและสมองที่ได้รับความเสียหายด้วย

นายแพทย์แนธกล่าวด้วยว่า เมื่อมีการรั่วเกิดขึ้น เซลล์ภูมิคุ้มกันอาจมาช่วยซ่อมแซมความเสียหาย จนทำให้เกิดการอักเสบในสมองได้

The proposed cascade of events to explain the neuropathological findings in the study. (Courtesy of NIH)
The proposed cascade of events to explain the neuropathological findings in the study. (Courtesy of NIH)

อาการทางสมองในระยะยาว

นอกจากนี้แล้วนักวิจัยยังพบการเปลี่ยนแปลงในการแสดงออกของยีนในบริเวณที่เซลล์เนื้อเยื่อบุโพรงได้รับความเสียหาย โดยที่ยีนมากกว่า 300 ตัวมีการแสดงออกที่ลดลง ในขณะที่ยีนอีก 6 ตัวมีการแสดงออกที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ยีนที่ได้รับผลกระทบมีความเชื่อมโยงกับความสามารถของสมองในการจัดการกับความไม่สมดุลของสารเคมีในร่างกาย

การค้นพบเหล่านี้อาจช่วยให้ข้อมูลเกี่ยวกับสาเหตุของปัญหาทางระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 และยังอาจถูกนำมาใช้เพื่อค้นหาวิธีการรักษาใหม่ ๆ เพื่อจัดการกับการเชื่อมต่อที่ได้รับความเสียหายในกลุ่มเซลล์เนื้อเยื่อบุโพรงในแนวกั้นเลือดและสมองได้

นอกจากนี้ การศึกษานี้ยังอาจช่วยให้มีความเข้าใจและช่วยในการรักษาอาการทางระบบประสาทในระยะยาวหลังการติดเชื้อโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็น อาการปวดศีรษะ เหนื่อยล้า การสูญเสียรสชาติและกลิ่น ปัญหาการนอนหลับ และการหลงลืม ที่รู้จักกันในชื่อ Brain Fog หรือ ภาวะสมองล้า ได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วย 9 รายในการศึกษานี้ยังมีชีวิตอยู่ นักวิจัยเชื่อว่า พวกเขาน่าจะมีอาการของโควิดระยะยาว

นายแพทย์แนธกล่าวส่งท้ายว่า เป็นไปได้ว่าการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันแบบเดียวกันนี้ยังคงเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่มีภาวะโควิดระยะยาว และว่า การค้นพบนี้มีความสำคัญมากสำหรับนักวิจัยที่ต้องการหาวิธีรักษาอาการโควิดระยะยาวนี้ด้วย

  • ที่มา: วีโอเอ, NIH
XS
SM
MD
LG