ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ขยะอวกาศคืออะไร และอันตรายแค่ไหน?


In this file photo, the International Space Station (ISS) is photographed by Expedition 56 crew members from a Soyuz spacecraft after undocking, October 4, 2018. (NASA/Roscosmos/Handout via REUTERS)
In this file photo, the International Space Station (ISS) is photographed by Expedition 56 crew members from a Soyuz spacecraft after undocking, October 4, 2018. (NASA/Roscosmos/Handout via REUTERS)
Space Junks
please wait

No media source currently available

0:00 0:04:11 0:00

หลายฝ่ายเริ่มแสดงความกังวลเกี่ยวกับปัญหาขยะอวกาศที่ส่งสัญญาณทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงระดับที่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า อาจสร้างความเสียหายต่อโครงการสำรวจอวกาศต่างๆ ที่ดำเนินอยู่ ทั้งยังอาจทำให้พื้นที่ในอวกาศบางส่วนใช้ไม่ได้ในอนาคตได้ด้วย

เจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ และยุโรปต่างวิพากษ์วิจารณ์การทดสอบขีปนาวุธของรัสเซียเมื่อเร็วๆ นี้อย่างรุนแรง เนื่องจากการทดสอบดังกล่าวทำให้ดาวเทียมที่โคจรรอบโลกแตกกระจายออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าเศษขยะที่อยู่ในวงโคจรของโลกนี้จะเพิ่มความเสี่ยงต่อมวลมนุษย์และความพยายามต่างๆ ในอวกาศในอีกหลายปีข้างหน้านี้

ขยะอวกาศคือ สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นแล้วทิ้งไว้ในอวกาศเมื่อไม่ได้ใช้งานแล้ว โดยขยะเหล่านั้นลอยล่องอยู่เหนือพื้นโลกเป็นระยะทางหลายร้อยกิโลเมตร และผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดก็คือ การที่ขยะเหล่านั้นอาจจะลอยไปชนกับสถานีอวกาศ ดาวเทียม หรืออุปกรณ์อื่นๆ และสร้างความเสียหายได้

นอกจากนั้น ขยะอวกาศทั้งหลายโคจรรอบโลกด้วยความเร็วสูงประมาณ 25,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในวงโคจรระดับต่ำของโลก ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงได้หากไปชนกับดาวเทียมหรือยานอวกาศเข้า

ศาสตราจารย์ ฮิว ลูอิส (Hugh Lewis) หัวหน้ากลุ่มวิจัยด้านอวกาศแห่งมหาวิทยาลัยเซาแทมป์ตัน (University of Southampton) ที่ประเทศอังกฤษกล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า ดาวเทียมทุกดวงที่เข้าสู่วงโคจรมีโอกาสกลายเป็นขยะอวกาศได้

ทั้งนี้ การปล่อยดาวเทียมกันมากขึ้นในปัจจุบัน อาจทำให้เกิดขยะอวกาศในวงโคจรที่อยู่ใกล้โลกมากขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้

อย่างไรก็ตาม รัสเซียไม่ใช่เพียงประเทศเดียวที่ทำลายดาวเทียม แต่ จีน สหรัฐฯ และอินเดีย ก็ทำการทดสอบขีปนาวุธโดยการยิงดาวเทียมของตนด้วยเช่นเดียวกัน

รัฐบาลสหรัฐฯ ติดตามดูขยะอวกาศราว 23,000 ชิ้นที่มีขนาดใหญ่กว่าลูกซอฟต์บอลที่โคจรอยู่รอบโลก นอกจากนี้ยังมีเศษเล็กเศษน้อยอยู่อีกประมาณ 500,000 ชิ้นที่มีขนาดใหญ่กว่าหนึ่งเซนติเมตรและอีก 100 ล้านชิ้นที่มีขนาดประมาณหนึ่งมิลลิเมตรขึ้นไป

โฮลเกอร์ คราก (Holger Krag) หัวหน้าสำนักงานโครงการความปลอดภัยด้านอวกาศของ European Space Agency บอกกับรอยเตอร์ว่า หากขยะอวกาศเหล่านี้ยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พื้นที่บางส่วนในอวกาศอาจไม่สามารถใช้งานได้อีก

ดาวเทียมรัสเซียที่เพิ่งถูกทำลายไปนี้ถูกนำมาใช้เมื่อปี ค.ศ. 1982 มีน้ำหนักมากกว่า 2,000 กิโลกรัม และเจ้าหน้าที่อเมริกันกล่าวว่า การทดสอบทำให้เกิดขยะอวกาศในวงโคจรที่สามารถติดตามได้มากกว่า 1,500 ชิ้น ขณะที่ กองบัญชาการอวกาศของสหรัฐฯ ระบุว่า การโจมตีด้วยขีปนาวุธนั้นน่าจะสร้างขยะอวกาศที่เป็นชิ้นส่วนเล็กๆ เพิ่มขึ้นอีกนับแสนชิ้น

นักบินอวกาศบนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ได้รับคำสั่งให้หลบภัยอยู่ในแคปซูลอวกาศที่ติดอยู่กับยานอวกาศเป็นเวลาสองชั่วโมงหลังการทดสอบขีปนาวุธของรัสเซีย โดยมาตรการความปลอดภัยดังกล่าวถูกนำมาใช้ในกรณีที่นักบินอวกาศต้องออกจากสถานีอวกาศหากเกิดความเสียหายจากขยะอวกาศเหล่านั้น

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ นาซ่า (NASA) ของสหรัฐฯ กล่าวว่า ขยะอวกาศในวงโคจรที่อยู่เหนือจากโลกเป็นระยะทาง 600 กิโลเมตรหรือน้อยกว่านั้นจะตกลงสู่พื้นโลกภายในเวลาไม่กี่ปี แต่คาดว่าขยะอวกาศที่อยู่สูงเกินกว่าระดับ 1,000 กิโลเมตรจะโคจรต่อไปอีกเป็นเวลาหนึ่งศตวรรษหรือนานกว่านั้น

ศาสตราจารย์ ลูอิส จากมหาวิทยาลัยเซาแทมป์ตัน กล่าวว่า หากต้องการจะแก้ปัญหาเศษขยะในอวกาศ เราจะต้องเริ่มด้วยการกำจัดวัตถุประเภทนั้นก่อน และในเวลานี้ สำนักงานสำรวจอวกาศของญี่ปุ่น (JAXA) และองค์การอวกาศยุโรป (ESA) ได้ร่วมมือกับบริษัทเอกชนเพื่อค้นหาวิธีกำจัดขยะในอวกาศเหล่านี้อยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี นอกจากจะเป็นภัยคุกคามต่อทรัพย์สินในอวกาศและนักบินอวกาศแล้ว ขยะอวกาศยังเพิ่มค่าใช้จ่ายให้กับบรรดาผู้ให้บริการดาวเทียมอีกด้วย

ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมนี้คาดการณ์ว่า ความพยายามในการป้องกันและลดปัญหาขยะอวกาศคิดเป็นค่าใช้จ่ายราว 5-10 เปอร์เซ็นต์ของภารกิจดาวเทียม และการศึกษาฉบับหนึ่งโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) พบว่าค่าใช้จ่ายสำหรับการส่งดาวเทียมสู่วงโคจรระดับต่ำของโลกนั้นจะยิ่งมากขึ้นไปอีก

(ที่มา: Reuters)

XS
SM
MD
LG