ลิ้งค์เชื่อมต่อ

วิเคราะห์: เหตุใดจึงเกิดกระแสต้าน ‘ทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงโซล’ !?


please wait

No media source currently available

0:00 0:04:50 0:00

ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและเกาหลีใต้ที่อยู่ในภาวะค่อนข้างตึงเครียดอาจไม่สามารถพึ่งพาหนทางการทูตได้มากนั้น เนื่องจากประชาชนชาวเกาหลีจำนวนหนึ่ง รวมทั้งนักการเมืองบางส่วน แสดงความไม่ค่อยพอใจต่อทูตสหรัฐฯ ประจำเกาหลี ขณะที่เจ้าตัวพยายามแก้ต่างว่า คนเกาหลีไม่ชอบตนเพราะเขามีเชื้อสายญี่ปุ่น รวมทั้งหนวดที่ทำให้นึกถึงอดีตที่ขมขื่นระหว่างเกาหลีและญี่ปุ่น

พลเรือเอกแฮร์รี บี. แฮร์ริส เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำเกาหลีใต้ และอดีตผู้บัญชาการกองกำลังสหรัฐฯ ภาคพื้นแปซิฟิก เข้ารับตำแหน่งทางการทูตที่กรุงโซลตั้งแต่เดือนกรกฎาคมสองปีก่อน และถูกวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายในประเทศเจ้าบ้านมาตลอด

ในรายงานของสำนักข่าวเอพี ทูตแฮร์ริส โทษหนวดที่เขาไว้มาตั้งแต่เตรียมตัวเปลี่ยนภาพลักษณ์นายทหารของเขามาเป็นนักการทูต และพูดติดตลกอยู่เนือง ๆ ว่า หนวดของเขาทำให้หลายคนนึกไปถึงเหล่านายทหารญี่ปุ่นสมัยที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครองคาบสมุทรเกาหลีในช่วงปี ค.ศ. 1910-1945 ขณะที่การเป็นลูกครึ่งญี่ปุ่น-อเมริกันน่าจะยิ่งทำให้คนเกาหลีไม่ค่อยชื่นชอบเขาสักเท่าไหร่

แต่รายงานข่าวระบุว่า คนเกาหลีน่าจะมีปัญหากับบุคลิกเถรตรงและการพูดจาตรงไปตรงมาในแบบที่นักการทูตมักไม่ทำกัน และรุนแรงจนถึงขั้นที่บางคนมองว่า ทูตแฮร์ริสเป็นคนหยาบคายด้วย

อันที่จริง ทูตแฮร์ริสไม่ใช่ทูตอเมริกันคนแรกที่มีปัญหากับคนในเกาหลี เพราะอดีตทูต มาร์ค ลิพเพิร์ท ที่ดำรงตำแหน่งก่อนหน้านี้ เขากลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งเมื่อปี ค.ศ. 2015 หลังถูกทำร้ายในกรุงโซลจากน้ำมือของชายคนหนึ่งที่ใช้ใบมีดโกนเป็นอาวุธ เพื่อต่อต้านสงครามระหว่าง 2 เกาหลี จนตัวอดีตเอกอัครราชทูตได้รับบาดเจ็บบริเวณใบหน้าและมือ และต้องใช้เวลารักษาตัวในโรงพยาบาลถึง 5 วัน

ในช่วงที่มีการเดินประท้วงสหรัฐฯ เมื่อเร็ว ๆ นี้ นักศึกษาชาวเกาหลีใต้ 4 คนลักลอบบุกเข้าไปในบ้านพักของทูตแฮร์ริส ก่อนจะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจำกุมในเวลาต่อมา ขณะที่ผู้ประท้วงอีกกลุ่มหนึ่งก็ขีดฆ่าหนวดของทูตแฮร์ริส ในภาพโปสเตอร์ที่นำมาใช้ประกอบการชุมนุม

ทูตแฮร์ริส ออกมายืนยันว่า หนวดของเขาไม่ได้เกี่ยวข้องกับการที่เขามีเชื้อสายญี่ปุ่นแต่อย่างใด และตอบโต้ว่า กลุ่มคนที่ไม่พอใจนั้นเลือกที่รักมักที่ชังโดยใช้ประเด็นทางประวัติศาสตร์มาเป็นข้ออ้าง เพราะในอดีตนั้นนักต่อสู้เพื่ออิสรภาพของเกาหลีใต้หลายคนก็ไว้หนวด พร้อมยืนยันว่า เขาเป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำเกาหลีใต้ ไม่ใช่เอกอัครราชทูตครึ่งญี่ปุ่น-ครึ่งสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม กรณีของทูตแฮร์ริสนั้นมีปัจจัยซับซ้อนกว่าที่เห็น โดยอดีตประธานคณะกรรมาธิการข่าวกรองของรัฐสภาเกาหลีใต้เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า ทูตแฮร์ริสพูดย้ำกับทางคณะกรรมธิการถึงราว 20 ครั้งระหว่างการพบกันตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่แล้วว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ต้องการให้เกาหลีใต้ปรับเพิ่มค่าใช้จ่ายทางการทหารสำหรับฐานทัพสหรัฐฯ ที่ตั้งอยู่ในเกาหลีใต้

ขณะเดียวกัน ความไม่ลงรอยระหว่างรัฐบาลกรุงวอชิงตันและรัฐบาลกรุงโซลก็มีโอกาสที่จะยกระดับขึ้นไปอีก เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ เกาหลีเหนือยังอยู่ในภาวะไม่แน่นอนและอาจกลายมาเป็นประเด็นให้พันธมิตรคาบสมุทรเกาหลีมีปัญหากันได้

เควิน เกรย์ (Kevin Gray) อาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยซัสเซ็กส์ของอังกฤษ ให้ความเห็นผ่านทวิตเตอร์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า ปฏิกิริยาของชาวเกาหลีต่อหนวดของทูตแฮร์ริสนั้น “เกินจริงไปมาก” และว่า สิ่งที่ชาวเกาหลีไม่พอใจจริง ๆ แล้ว คือ การที่ทูตแฮร์ริสมี “กิริยาท่าทางในเชิงสนับสนุนระบอบจักรวรรดินิยม” และ “พยายามที่จะทำลายความน่าเชื่อถือ” ของประธานาธิบดีมูน แจ-อิน ของเกาหลีใต้ รวมทั้ง “บงการ” การดำเนินนโยบายรัฐบาลเกาหลีใต้ ต่างหากที่เป็นประเด็น

บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ Korea Times ฉบับวันจันทร์ ก็แสดงความคิดเห็นในทิศทางเดียวกันว่า “หนวด(ของทูตแฮร์ริส)ไม่ใช่ประเด็นแต่อย่างใด” และชาวเกาหลีไม่สนใจว่าทูตสหรัฐฯ จะมีหนวดหรือไม่ ถ้าเจ้าตัวนั้นเป็น “ทูตปกติธรรมดา” คนหนึ่ง

อีกกรณีของตัวอย่างของท่าทีของทูตแฮร์ริสที่นำมาซึ่งความไม่พอใจของชาวเกาหลีคือ การที่ผู้สื่อข่าวถามความเห็นของเขาเกี่ยวกับการที่ประธานาธิบดีมูน แจ-อิน กล่าวถึงแผนเปิดการท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มในเกาหลีเหนือ เพื่อไม่ให้เป็นการละเมิดมาตรการลงโทษโดยนานาชาติที่สหรัฐฯ เป็นผู้ผลักดัน และทูตแฮร์ริสกล่าวย้ำว่า เกาหลีใต้ควรจะปรึกษากับสหรัฐฯ ในเรื่องนี้ก่อน

ความเห็นดังกล่าวนำไปสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ตัวทูตอเมริกันคนปัจจุบันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะที่สมาชิกพรรครัฐบาลเกาหลีใต้คนหนึ่งเปรียบเทียบทูตแฮร์ริสว่าทำตัวเหมือนกับผู้สำเร็จราชการญี่ปุ่นสมัยเกาหลีเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิญี่ปุ่น

การปฏิบัติหน้าที่ของทูตแฮร์ริสยิ่งดูไม่ง่าย เพราะความต้องการของสหรัฐฯ ที่จะกดดันและเพิ่มบทลงโทษต่อเกาหลีเหนือขัดแย้งกับทิศทางของประธานาธิบดีมูน ที่เน้นนโยบายที่อลุ่มอล่วยและสันติ แสดงความพร้อมปัดฝุ่นโครงการสร้างสายสัมพันธ์ร่วมกันระหว่างเกาหลีใต้และเกาหลีเหนือ

และแม้ว่าผลสำรวจความคิดเห็นเมื่อไม่นานมานี้จะชี้ว่า คนเกาหลีใต้ส่วนใหญ่ยังต้องการให้สหรัฐฯ คงฐานทัพทหารไว้เพื่อป้องกันการรุกรานของเกาหลีเหนือที่อาจเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ แต่การที่ประธานาธิบดีทรัมป์ต้องการให้เกาหลีใต้ออกค่าใช้จ่ายด้านการทหารมากขึ้น กลับทำให้ชาวเกาหลีใต้ส่วนหนึ่งเริ่มไม่แน่ใจว่า สหรัฐฯยังคงพันธมิตรที่ไว้ใจได้เหมือนเคยหรือไม่

ด้วยเหตุนี้ รองศาสตราจารย์ลีฟ-เอริค อีสลีย์ (Leif-Eric Easley) จากมหาวิทยาลัยสตรีอีฮวา กรุงโซล สรุปว่า แทนที่ชาวเกาหลีใต้จะแสดงความไม่พอใจในประเด็นดังกล่าวตรง ๆ คนกลุ่มหนึ่งเลือกที่จะพุ่งเป้าโจมตีนักการทูตอดีตนายทหารที่มีเชื้อสายญี่ปุ่นแทน พร้อมระบุว่า “เกาหลีใต้กำลังเผชิญประเด็นทางการเมืองและการทูตที่หนักหนากว่าแค่เรื่องหนวดเท่านั้น”

(ที่มา: Associated Press)

XS
SM
MD
LG